คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 347/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อบังคับจำกัดอำนาจกรรมการที่จะผูกพันบริษัทจำกัดนั้นเมื่อได้จดทะเบียนและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วย่อมเป็นอันรู้แก่บุคคลทั่วไปฉะนั้น การที่กรรมการผู้จัดการได้ลงนามในนามบริษัทจำเลยทำสัญญากับโจทก์โดยไม่ประทับตราบริษัทอันเป็นการขัดกับข้อบังคับดังกล่าวแล้ว การนั้นย่อมไม่ผูกพันบริษัทจำเลยอย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการและในฐานะส่วนตัว ได้เช่าโรงน้ำแข็งของโจทก์ ค่าเช่าเดือนละ 2,300 บาท จำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าเช่าเลย ขอให้บังคับ

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์สละข้อหาในส่วนตัวจำเลยที่ 2 แล้ว พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะถือว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การโจทก์จะชนะคดีได้ก็ต่อเมื่อคดีได้ความว่า โจทก์มีสิทธิตามที่โจทก์อ้างมาในฟ้อง คดีนี้โจทก์อ้างสิทธิตามหนังสือสัญญาเช่าซึ่งมีข้อความในตอนต้นว่า บริษัทจำเลยที่ 1 โดยนายแสง กรรมการผู้จัดการผู้เช่า และมีลายมือชื่อจำเลยที่ 2 ในช่องผู้เช่า จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 1 ข้อที่จำเลยที่ 2 แถลงว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ลงลายมือชื่อในนามของจำเลยที่ 1 เพราะไม่มีตราของบริษัทประทับด้วยนั้น ก็ปรากฏว่าข้อจำกัดอำนาจกรรมการในอันจะผูกพันบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งจะต้องมีตราของบริษัทประทับ ด้วยนั้นได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 72 ตอน 24 วันที่ 30 มีนาคม 2498 ฉบับพิเศษ หน้า 8 ตรงตามที่จำเลยที่ 1 แถลงนั้นแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1021, 1022, 1111 ต้องถือว่าข้อจำกัดอำนาจกรรมการที่ได้จดทะเบียนไว้ และได้พิมพ์โฆษณาแล้วเป็นอันรู้แก่บุคคลทั่วไป รวมทั้งโจทก์ด้วย เอกสารดังกล่าวจึงไม่ผูกพันบริษัทจำเลยที่ 1 ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์

Share