คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2551/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์และ ต. มีกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยในที่ดิน 4 แปลง โดยมีกรรมสิทธิ์รวมอยู่กึ่งหนึ่งในที่ดินทั้ง 4 แปลง จึงขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมจากจำเลยกึ่งหนึ่ง เป็นฟ้องที่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาชัดเจนพอที่จะให้จำเลยเข้าใจและสามารถให้การต่อสู้คดีได้ ไม่จำต้องบรรยายว่าในระหว่างโจทก์ด้วยกันแต่ละคนมีส่วนเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาทคนละเท่าใด ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
พ. เป็นเจ้าของรวมในโฉนดที่ดินพิพาทโดยชอบและจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าที่ดินในส่วนที่เป็นของ พ. การครอบครองที่ดินของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการครอบครองแทน พ. หรือทายาท เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองตามมาตรา 1382
จำเลยที่ 5 เข้าครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 3374 โดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 ถือว่าเป็นการครอบครองแทนจำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พ. เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาททั้ง 5 แปลง และที่ดินส่วนของ พ. ตกเป็นมรดกตกทอดได้แก่บุตร คือโจทก์ที่ 1 และ ต. โจทก์ที่ 1 และ ต. จึงเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทด้วย โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ พ. ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 แบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวได้

ย่อยาว

คดีนี้เดิมโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ ๑ เป็นจำเลย หลังจากจำเลยยื่นคำให้การแล้วศาลชั้นต้นเรียกจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ซึ่งเป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเข้าเป็นจำเลยด้วย
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ แบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินทั้ง ๕ แปลง ให้โจทก์ทั้งสองกึ่งหนึ่ง โดยให้โจทก์ทั้งสองได้ส่วนแบ่งที่ดินตามตำแหน่งที่ระบุไว้ในแผนที่ท้ายคำฟ้อง ให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินการร่วมกับโจทก์ทั้งสองในการรังวัดที่ดิน บรรยายส่วนที่ดินและแบ่งแยกโฉนดที่ดิน หากจำเลยที่ ๑ ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ ให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาให้จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์ที่ดิน โฉนดเลขที่ ๓๔๐๒ เนื้อที่กึ่งหนึ่งทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินตามแผนที่ท้ายคำฟ้อง ให้จำเลยที่ ๔ ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๓๕๕ เนื้อที่กึ่งหนึ่งในส่วนที่มีชื่อของพระยาพิสูตรจีนชาติให้จำเลยที่ ๕ ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๓๗๔ เนื้อที่กึ่งหนึ่งในส่วนที่มีชื่อโจทก์ที่ ๑ และนางตระกูล ให้จำเลยที่ ๖ ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๓๗๘ เนื้อที่กึ่งหนึ่ง ทางด้านทิศใต้ของที่ดินตามแผนที่ท้ายคำฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองไปดำเนินการถอนชื่อโจทก์ทั้งสองและพระยาพิสูตรจีนชาติ ออกจากโฉนดที่ดินและให้ใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินแทน มิฉะนั้น ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของ โจทก์ทั้งสอง ห้ามโจทก์ทั้งสองเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกคำฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๓๗๓, ๓๓๗๔, ๓๓๗๘, ๓๔๐๒ และ ๓๓๕๕ แปลงละครึ่งหนึ่งของเนื้อที่ดินแต่ละแปลงให้แก่โจทก์ทั้งสอง โดยให้แบ่งระหว่างกันเองก่อน ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ให้ประมูลระหว่างกันเอง ถ้าไม่ตกลงกันอีกให้ขายทอดตลาดก่อนจะดำเนินการดังกล่าวให้ตีราคาบ้านที่ฝ่ายจำเลยปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทเสียก่อนแล้วจึงนำราคาบ้านมาหักออกราคาที่ดิน เหลือเงินสุทธิเท่าใดจึงทำการแบ่งฝ่ายละครึ่ง ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน
จำเลยทั้งหกฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะฎีกาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๕ จำเลยอื่นมีทุนทรัพย์ที่ต้องห้าม
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคำฟ้องจะต้องบรรยายว่า โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ (หรือนางตระกูล) มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแต่ละแปลงคนละเท่าใด หรือไม่ ในข้อนี้โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ และนางตระกูลมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยในที่ดิน ๔ แปลง โดยมีกรรมสิทธิ์รวมอยู่กึ่งหนึ่งในที่ดินทั้ง ๔ แปลง จึงขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมจากจำเลยกึ่งหนึ่ง ดังนี้ เห็นว่าฟ้องได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาชัดเจนพอที่จะให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๕ เข้าใจและสามารถให้การต่อสู้คดีได้ ไม่จำต้องบรรยายว่าในระหว่างโจทก์ด้วยกันแต่ละคนมีส่วนเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาทคนละเท่าใด ฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๕ ไม่เคลือบคลุม
มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๕ ว่า โจทก์ที่ ๑ และนางตระกูลมีส่วนเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าพระยาพิสูตรจีนชาติเป็นเจ้าของรวมในโฉนดที่ดินพิพาทโดยชอบและจำเลยที่ ๑ เป็นผู้เช่าที่ดินในส่วนที่เป็นของพระยาพิสูตรจีนชาติ การครอบครองที่ดินส่วนที่เป็นของพระยาพิสูตรจีนชาติของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการครอบครองแทนพระยาพิสูตรจีนชาติหรือทายาท และเมื่อจำเลยที่ ๑ มิได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๑ จำเลยที่ ๑ จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๓๗๔ ซึ่งจำเลยที่ ๕ ฎีกาว่า ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๕ ทั้งแปลง เพราะจำเลยที่ ๑ ยกให้และจำเลยที่ ๕ ได้ครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า ๑๐ ปีแล้วนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๕ เข้าครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๓๗๔ โดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ ๑ ถือว่าเป็นการครอบครองแทนจำเลยที่ ๑ ไม่ได้เข้าครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ และเมื่อ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าพระยาพิสูตรจีนชาติเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาททั้ง ๕ แปลง และที่ดินส่วนของพระยาพิสูตรจีนชาติตกเป็นมรดกตกทอดได้แก่บุตร คือโจทก์ที่ ๑ และนางตระกูล โจทก์ที่ ๑ และนางตระกูลจึงเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทด้วย โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของพระยาพิสูตรจีนชาติย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ ๑ แบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมอยู่ในที่ดินดังกล่าวได้
พิพากษายืน .

Share