แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งมีข้อตกลงว่าจำเลยตกลงให้คงสภาพการจ้างเดิม ไว้ทั้งหมด ซึ่งสภาพการจ้างเดิมจำเลยมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 5 บาทการที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 5 บาทเป็นการกล่าวอ้างสิทธิตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิม ที่ศาลแรงงานกลางหยิบยกเอาข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิม ขึ้นวินิจฉัยจึงตรงประเด็นข้อพิพาท มิใช่นอกประเด็น โจทก์และจำเลยได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง กำหนดให้นำค่าครองชีพที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างมารวมเป็นค่าจ้างปกติด้วยค่าครองชีพจึงไม่ได้แยกต่างหากจากค่าจ้าง เมื่อนำค่าครองชีพมารวมกับค่าจ้างปกติที่จำเลยจ่ายให้โจทก์แล้ว มีจำนวนสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด จำเลยจึงไม่ได้จ่ายค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรือต่ำกว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง.
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสิบสามสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสิบสามเป็นลูกจ้างของจำเลย เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2533 ลูกจ้างของจำเลยและโจทก์ทั้งสิบสามได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลยจนได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ลงวันที่ 3 เมษายน 2533 ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าว ข้อ 1 กำหนดว่าจำเลยตกลงจ่ายค่าครองชีพให้แก่โจทก์ทั้งสิบสามเดือนละ 330 บาท หรือวันละ 13.75 บาท ข้อ 5กำหนดว่าจำเลยตกลงให้คงสภาพการจ้างเดิมไว้ ซึ่งสภาพการจ้างเดิมนั้นจำเลยมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 5บาท และปรับค่าจ้างขึ้นตามผลงานทุกวันที่ 1 เมษายนของทุกปี ลูกจ้างที่มีผลงานเกรด เอ ปรับขึ้นวันละ 7 บาท ลูกจ้างที่มีผลงานเกรด บีปรับขึ้นวันละ 5 บาท ลูกจ้างที่มีผลงานเกรด ซี ปรับขึ้นวันละ 3 บาทจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าว เป็นเหตุให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสิบสามขาดไปคนละ 994 บาท (น่าจะเป็น927 บาท) ขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสิบสามคนละ 994 บาท(น่าจะเป็น 927 บาท) พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์ทั้งสิบสามเสร็จ กับให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้ถูกต้องตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะสิ้นสุดสัญญา
จำเลยทั้งสิบสามสำนวนให้การด้วยวาจาว่า จำเลยได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2533 ไว้จริง โดยตกลงในข้อที่ 1 ว่า จะจ่ายค่าครองชีพให้แก่โจทก์เดือนละ 330 บาท และให้ถือว่าค่าครองชีพนี้เป็นค่าจ้างด้วย กับในข้อที่ 5 ตกลงว่าให้คงสภาพการจ้างเดิมเอาไว้ทั้งหมด ยกเว้นเรื่องค่าจ้าง จำเลยได้ปรับค่าจ้างให้โจทก์ทุกคนตามข้อตกลงแล้ว จำเลยไม่เคยค้างค่าจ้างโจทก์ทั้งสิบสามขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 1 จำเลยตกลงจ่ายค่าครองชีพให้แก่โจทก์คนละ330 บาทต่อเดือน หรือวันละ 13.75 บาท และยังมีข้อตกลงว่า เงินค่าครองชีพนี้เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างและให้รวมกับค่าจ้างที่จะได้รับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2533 เป็นต้นไปด้วย จำเลยไม่เคยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมว่า จะจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์และลูกจ้างอื่นสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 5 บาท จำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์แต่ละคนตามฟ้องถูกต้องตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้ว จำเลยไม่ได้ค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งสิบสามพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสิบสามสำนวน
โจทก์ทั้งสิบสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “…การที่ศาลแรงงานกลางยกเอาข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมขึ้นวินิจฉัยเป็นการวินิจฉัยคดีนอกประเด็นข้อพิพาทหรือไม่นั้น ตามฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสามได้กล่าวอ้างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 3เมษายน 2533 เอกสารหมาย จ.2 ข้อ 1 ว่าจำเลยได้ตกลงจะจ่ายค่าครองชีพให้ลูกจ้างคนละ 330 บาทต่อเดือน และตกลงในข้อ 5ว่าจำเลยตกลงให้คงสภาพการจ้างเดิมไว้ทั้งหมด ซึ่งสภาพการจ้างเดิมนั้น จำเลยมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 5บาท เห็นว่าการที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 5 บาท เป็นการกล่าวอ้างสิทธิตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมที่ศาลแรงงานกลางหยิบยกเอาข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมขึ้นวินิจฉัยจึงตรงกับประเด็นข้อพิพาทแล้ว หาใช่วินิจฉัยคดีนอกประเด็นข้อพิพาทไม่…และคดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า จำเลยไม่เคยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมว่าจะจ่ายค่าจ้างให้สูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอีกวันละ 5 บาทโจทก์ทั้งสิบสามจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินส่วนนี้ คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2533 จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์วันละ 70 บาท ในขณะที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ได้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 74 บาทจำเลยได้จ่ายค่าจ้างขาดไปวันละ 4 บาทหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ต่อไปตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2533โจทก์ทั้งสิบสามและลูกจ้างได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 ได้มีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกันขึ้นตามเอกสารหมาย จ.2 ตามข้อตกลงดังกล่าวมีข้อตกลงเกี่ยวกับการจ่ายค่าครองชีพในข้อ 1 ว่า “บริษัทฯ ตกลงจ่ายเงินช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่พนักงานทุกคน ๆ ละ 330 บาท/เดือน โดยให้ถือว่าเงินจำนวนนี้เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง/เงินเดือนปกติ และให้รวมเข้ากับค่าจ้าง/เงินเดือนที่จะได้รับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2533 เป็นต้นไป” ศาลฎีกาเห็นว่าตามข้อตกลงนี้ได้ตกลงกันโดยชัดแจ้งว่า ให้นำเอาค่าครองชีพที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างคนละ 330 บาทต่อเดือน มารวมเป็นค่าจ้างปกติด้วยนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2533 เป็นต้นไป ค่าครองชีพจึงไม่ได้แยกต่างหากจากค่าจ้าง ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จะต้องนำเอาค่าครองชีพมารวมกับค่าจ้างจึงชอบแล้ว เมื่อค่าครองชีพที่จำเลยจ่ายเดือนละ 330 บาท เท่ากับวันละ 13.75 บาท นำมารวมกับค่าจ้างปกติที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ทั้งสิบสามวันละ 70 บาทแล้วเป็นค่าจ้างวันละ83.75 บาท ในขณะที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายวันละ 74 บาทจำเลยจึงไม่ได้จ่ายค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรือต่ำกว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่ได้ค้างจ่ายค่าจ้างส่วนนี้แก่โจทก์ด้วย…”
พิพากษายืน.