คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1385/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เช็คเป็นตราสารเปลี่ยนมือได้ ย่อมโอนเปลี่ยนมือกันได้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบเช็คในกรณีเช็คระบุชื่อ หรือด้วยการส่งมอบเช็คในกรณีเช็คผู้ถือ เช็คพิพาททั้ง 5 ฉบับ เป็นเช็คสั่งจ่ายเงินสดโดยมิได้ระบุชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงินและมิได้ขีดฆ่าคำว่า หรือผู้ถือออก จึงเป็นเช็คผู้ถือ โจทก์เป็นผู้มีเช็คพิพาทไว้ในครอบครองโจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 เมื่อการแก้ไขวันเดือนปีในเช็คพิพาทเป็นการแก้ไขโดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วยโดยโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงยินยอม เช็คพิพาทจึงไม่เสียไปและใช้ได้ต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้แก้ไขตาม ป.พ.พ. มาตรา 1007 วรรคแรก โดยถือว่าเช็คพิพาทมีกำหนดเวลาใช้เงินตามที่แก้ไขนั้น หาใช่เป็นเรื่องขยายอายุความฟ้องร้องไม่
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่าคดีขาดอายุความ จำเลยต้องให้การโดยชัดแจ้งถึงเหตุแห่งการขาดอายุความนั้นด้วยว่า คดีโจทก์เริ่มนับอายุความตั้งแต่เมื่อใดและขาดอายุความเมื่อใด การที่จำเลยที่ 1 ให้การแต่เพียงว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว กล่าวคือ เช็คแต่ละฉบับลงวันที่เท่าใด โจทก์ใช้อุบายหลอกลวงให้จำเลยที่ 1 แก้ไขวันเดือนปีในเช็คเป็นวันที่เท่าใด โดยมิได้ให้การว่าอายุความนับตั้งแต่วันที่เท่าใด เช็คขาดอายุความแล้วตั้งแต่เมื่อใดและจะครบกำหนด 1 ปี วันใด จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง
การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า เช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นการอ้างข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อน ๆ ต้องห้ามมิให้ยกขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 916 แต่จำเลยที่ 1 มิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่า โจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยคบคิดกันฉ้อฉล และคบคิดกันฉ้อฉลอย่างไร เพียงแต่ให้การว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 โดยทุจริตร่วมกันได้นำเช็คมาฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งไม่ชัดแจ้งว่าคบคิดกันฉ้อฉลอย่างไร รวมทั้งไม่สุจริตหรือทุจริตร่วมกันนำเช็คมาฟ้องอย่างไร จึงไม่มีประเด็นว่าคบคิดกันฉ้อฉล รวมทั้งใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้จึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ในประเด็นข้อนี้ให้จำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารนครธน จำกัด (มหาชน) สาขาบางรัก จำนวน 5 ฉบับ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่าย และจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลังให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ เมื่อถึงกำหนดโจทก์นำไปเรียกเก็บเงินปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,616,543 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,509,900 บาท (ที่ถูกต้อง 1,509,700 บาท) นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่ได้เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ โดยจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบให้จำเลยที่ 2 เป็นหลักประกันในการร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 2 แต่โจทก์กับจำเลยที่ 2 ร่วมกันทุจริตนำเช็คพิพาทมาฟ้องจำเลยที่ 1 โจทก์ใช้อุบายหลอกลวงให้จำเลยที่ 1 แก้ไขวันเดือนปีในเช็คพิพาทจากปี 2539 เป็นปี 2540 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากมีการแก้ไขวันเดือนปีในเช็คพิพาทจากปี 2539 เป็นปี 2540 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,616,543 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,509,700 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,509,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 628,200 บาท นับแต่วันที่ 16 เมษายน 2540 และของต้นเงินจำนวน 881,500 บาท นับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 106,843.63 บาท ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คธนาคารนครธน จำกัด (มหาชน) สาขาบางรัก จำนวน 5 ฉบับ ฉบับที่หนึ่งลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2539 จำนวนเงิน 294,300 บาท ฉบับที่สองลงวันที่ 5 มีนาคม 2539 จำนวนเงิน 330,000 บาท ฉบับที่สามลงวันที่ 14 มีนาคม 2539 จำนวนเงิน 298,200 บาท ฉบับที่สี่ลงวันที่ 21 มีนาคม 2539 จำนวนเงิน 298,200 บาท และฉบับที่ห้าลงวันที่ 25 มีนาคม 2539 จำนวนเงิน 289,000 บาท จำเลยที่ 2 สลักหลังและนำเช็คไปขายลดให้แก่โจทก์ ตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ. 1 ถึง จ. 5 ต่อมาเมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดแล้ว จำเลยที่ 1 ได้แก้ไขวันเดือนปีในเช็คพิพาททั้ง 5 ฉบับ และลงลายมือชื่อกำกับการแก้ไขไว้ด้วย โดยเช็คฉบับที่หนึ่งและฉบับที่สอง แก้ไข พ.ศ.2539 เป็น พ.ศ.2540 ฉบับที่สาม แก้ไขวันที่ 13 เป็นวันที่ 14 และแก้ไข พ.ศ.2539 เป็น พ.ศ.2540 ฉบับที่สี่ แก้ไขวันที่ 20 เป็นวันที่ 21 และแก้ไข พ.ศ.2539 เป็น พ.ศ.2540 และฉบับที่ห้า แก้ไข พ.ศ.2539 เป็น พ.ศ.2540 ต่อมาเมื่อเช็คทั้ง 5 ฉบับ ถึงกำหนดตามที่แก้ไขและโจทก์นำไปเรียกเก็บเงินแล้วธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้ง 5 ฉบับ เพราะเหตุจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินไว้ ตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ. 10 ถึง จ. 14 คดีสำหรับจำเลยที่ 2 เป็นอันยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เช็คเป็นตราสารเปลี่ยนมือได้ ย่อมโอนเปลี่ยนมือกันได้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบเช็คในกรณีเช็คระบุชื่อ หรือส่งมอบเช็คในกรณีเช็คผู้ถือ เช็คพิพาททั้ง 5 ฉบับ เป็นเช็คสั่งจ่ายเงินสดโดยมิได้ระบุชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงินและมิได้ขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือออก จึงเป็นเช็คผู้ถือ เมื่อโจทก์เป็นผู้มีเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คผู้ถือไว้ในครอบครองโจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 904 ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การแก้ไขวันเดือนปีในเช็คพิพาทไม่มีผลตามกฎหมายเพราะโจทก์หลอกลวงให้จำเลยที่ 1 แก้ไขโดยบอกว่าจะไม่นำมาฟ้องร้องโจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวไม่สมเหตุสมผลไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 จะยินยอมแก้ไขวันเดือนปีและลงลายมือชื่อกำกับการแก้ไขในเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ ทั้งที่จำเลยที่ 1 มีอาชีพเป็นพ่อค้า ใช้เช็คเป็นปกติทางการค้าย่อมจะทราบดีว่าการแก้ไขวันเดือนปีในเช็คโดยลงลายมือชื่อกำกับการแก้ไขไว้มีผลผูกพันบังคับกันได้ตามกฎหมาย ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 แก้ไขวันเดือนปีในเช็คเพื่อผัดผ่อนการชำระหนี้ตามเช็ค ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การแก้ไขเช็คพิพาทเป็นการแก้ไขภายหลังเช็คพิพาทขาดอายุความแล้ว เป็นการขยายอายุความขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/11 ทำนองว่าเช็คเสียไปและโจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า การแก้ไขวันเดือนปีในเช็คพิพาทเป็นการแก้ไขโดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วยโดยโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงยินยอม เช็คพิพาทจึงไม่เสียไปและใช้ได้ต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้แก้ไขตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1007 วรรคแรก โดยถือว่าเช็คพิพาทมีกำหนดเวลาใช้เงินตามที่แก้ไขนั้น กรณีหาใช่เป็นเรื่องขยายอายุความฟ้องร้องดังที่จำเลยฎีกาไม่ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เช็คพิพาททั้ง 5 ฉบับ จะขาดอายุความฟ้องร้องในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2540 เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องภายใน 1 ปี จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่าคดีขาดอายุความ จำเลยต้องให้การโดยชัดแจ้งถึงเหตุแห่งการขาดอายุความนั้นด้วยว่าคดีโจทก์เริ่มนับอายุความตั้งแต่เมื่อใดและขาดอายุความเมื่อใด จำเลยที่ 1 ให้การแต่เพียงว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว กล่าวคือ เช็คแต่ละฉบับลงวันที่เท่าใดโจทก์ใช้อุบายหลอกลวงให้จำเลยที่ 1 แก้ไขวันเดือนปีในเช็คเป็นวันที่เท่าใด จำเลยที่ 1 มิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่าอายุความนับตั้งแต่วันที่เท่าใด เช็คขาดอายุความแล้วต้องแต่เมื่อใด และจะครบกำหนด 1 ปีวันใดเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ ที่ศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้จึงชอบแล้วที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ เพราะว่าจำเลยที่ 1 ออกเช็คให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ออกเช็คมีจำนวนเงินเท่ากันให้แก่กันโดยไม่มีมูลหนี้ต่อกัน โดยจำเลยที่ 2 จะนำไปไปอ้างกับหุ้นส่วนของจำเลยที่ 2 และห้ามมิให้จำเลยที่ 2 นำไปขาย พฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 2 แสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 2 คบคิดกันฉ้อฉล จึงไม่ใช้ผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นการอ้างข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อน ๆ ต้องห้ามมิให้ยกขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 จำเลยที่ 1 มิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่า โจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยคบคิดกันฉ้อฉล และคบคิดกันฉ้อฉลอย่างไร จำเลยที่ 1 เพียงแต่ให้การว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 โดยทุจริตร่วมกันได้นำเช็คมาฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งไม่ชัดแจ้งว่าคบคิดกันฉ้อฉลอย่างไร รวมทั้งไม่สุจริตหรือทุจริตร่วมกันนำเช็คมาฟ้องอย่างไรจึงไม่มีประเด็นว่าคบคิดกันฉ้อฉลรวมทั้งใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ในประเด็นข้อนี้ให้จำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้จึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้ออื่น ๆ ไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท

Share