แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลย3ปี4เดือนจำเลยฎีกาขอให้ลดโทษหรือลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำเลยเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจของศาลว่าสมควรลงโทษจำเลยเพียงใดเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา218วรรคแรก บทบัญญัติในมาตรา13และ89แห่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ.2518ยังมิได้ถูกยกเลิกเด็ดขาดไปเสียทีเดียวเพราะความที่บัญญัติไว้ในมาตรา9และมาตรา13แห่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท(ฉบับที่3)พ.ศ.2535ให้ยกเลิกไปใช้บังคับเพิ่มเติมและบังคับแทนบทบัญญัติในมาตรา13และ89แห่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ.2518ทั้งตามกฎหมายฉบับหลังที่แก้ไขเพิ่มเติมนี้ก็เป็นการแก้ไขโทษปรับขั้นสูงตามมาตรา89ให้ต่ำลงมาจาก500,000บาทเหลือ400,000บาทอันเป็นคุณแก่จำเลยซึ่งจะต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมนี้มาปรับแก่คดีตามนัยประมวลกฎหมายอาญามาตรา3อยู่แล้วดังนั้นแม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวอ้างกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมนี้ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายที่ถูกต้องได้ไม่เป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 13, 62, 89, 106, 116ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ริบของกลาง เว้นแต่ธนบัตรที่ล่อซื้อคืนเจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่ามีแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเพียง 4 เม็ด
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 13 ทวิวรรคหนึ่ง, 89 ลงโทษจำคุก 5 ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุสมควรบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ริบของกลาง เว้นแต่ธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อให้คืนแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 3 ปี 4 เดือน ที่จำเลยฎีกาขอให้ลดโทษหรือลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำเลยนั้น เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจของศาลว่าสมควรลงโทษจำเลยเพียงใด อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยฎีกาข้อกฎหมายเพียงข้อเดียวว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 มาตรา 4, 13, 62, 89, 106, 116 ภายหลังที่พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2535 ใช้บังคับ และยกเลิกฉบับ พ.ศ. 2518 ไปแล้วโดยโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างฉบับ พ.ศ. 2535ถือได้ว่าโจทก์อ้างกฎหมายที่ยกเลิกไปแล้ว ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายฉบับหลัง ศาลจะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องหาได้ไม่ เพราะขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 นั้น เห็นว่า บทบัญญัติในมาตรา 13 และ 89แห่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518ยังมิได้ถูกยกเลิกเด็ดขาดไปเสียทีเดียว เพราะพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 มาตรา 9บัญญัติว่า “ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 13 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ฯลฯ”อันเป็นบทบัญญัติเพิ่มเติมแยกจากเดิมที่บัญญัติรวมไว้ในมาตรา13 เดิม ส่วนมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 ก็บัญญัติว่า ให้ยกเลิกความในมาตรา 89 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน ฯลฯ” ซึ่งเห็นได้ว่าความที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 และ 13 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 ให้ยกไปใช้บังคับเพิ่มเติมและบังคับแทนบทบัญญัติในมาตรา 13 และ 89 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518ทั้งตามกฎหมายฉบับหลังที่แก้ไขเพิ่มเติมนี้ก็เป็นการแก้ไขโทษปรับขั้นสูงตามมาตรา 89 ให้ต่ำลงมาจาก 500,000 บาท เหลือ400,000 บาท อันเป็นคุณแก่จำเลย ซึ่งจะต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมนี้มาปรับแก่คดีตามนัยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 อยู่แล้วดังนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวอ้างกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมนี้ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายที่ถูกต้องได้ ไม่เป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องดังจำเลยฎีกาแต่อย่างใด
พิพากษายืน