แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากโจทก์ได้ลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลย ทำให้พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานนับแต่วันที่ลาออกแล้ว อันเป็นประเด็นแห่งคดีซึ่งศาลแรงงานกลางจะต้องมีคำวินิจฉัย แต่ศาลแรงงานกลางพิพากษาโดยรับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างเมื่ออายุ 50 ปี เพราะเหตุเกษียณอายุโดยมิได้รับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานตามที่คู่ความนำสืบ และยังมิได้วินิจฉัยว่าโจทก์ได้ยื่นใบลาออกจากงานจริงหรือไม่ หากโจทก์ยื่นใบลาออก โจทก์ยื่นเมื่อใด การที่โจทก์ออกจากงานเป็นผลเนื่องจากโจทก์ยื่นใบลาออกหรือจำเลยเลิกจ้างโจทก์ เพราะเหตุโจทก์เกษียณอายุ ถือว่าเป็นคำพิพากษาที่มิได้แสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุแห่งคำวินิจฉัย ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51ศาลฎีกาจึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2510 จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานฝ่ายประกอบตัวรถ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ26,085 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน ตามระเบียบของจำเลยพนักงานชายจะเกษียณอายุ เมื่ออายุ 55 ปี หญิง 50 ปี ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยมาตรา 15 บัญญัติให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยเท่าเทียมกันในการจ้างงาน เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจปฏิบัติเช่นนั้นได้ ดังนั้น ระเบียบดังกล่าวจึงขัดต่อกฎหมายสหภาพแรงงาน บริษัทจำเลยเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามกฎหมาย แต่จำเลยไม่ยอมเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2542 โจทก์ได้เกษียณอายุเมื่ออายุ 50 ปี ต่อมาคณะกรรมการสวัสดิการของจำเลยจึงมีมติให้พนักงานชายและหญิงเกษียณอายุที่ 55 ปี ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2543 เป็นต้นไป การกระทำของจำเลยเลือกปฏิบัติ และไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยให้รับโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยต่อไปจนกว่าจะเกษียณอายุที่ 55 ปี และจ่ายเงินเดือนนับแต่เกษียณอายุตามระเบียบเก่าจนถึงวันฟ้อง 10 เดือน เป็นเงิน 260,850 บาท หากจำเลยไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงาน ขอให้จ่ายค่าเสียหายเท่ากับเงินเดือนจนกว่าจะเกษียณอายุตามมติใหม่ดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปี เป็นเงิน 1,565,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า วันที่ 16 สิงหาคม 2542 โจทก์ได้เขียนใบลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยเนื่องจากเกษียณอายุโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2542ต่อมาจำเลยได้มีการพัฒนาเทคนิคการทำงานในสายการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีทางเครื่องมือให้ผู้สูงอายุสามารถทำงานได้และเพื่อให้ลูกจ้างชายและหญิงมีโอกาสทำงานในอายุงานที่เท่าเทียมกัน จำเลยจึงมติแก้ไขระเบียบในส่วนที่เกี่ยวกับการเกษียณอายุเป็นว่าลูกจ้างชายและหญิงให้เกษียณอายุอายุที่ 55 ปี แต่ระเบียบดังกล่าวประกาศใช้เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2543 หลังจากที่โจทก์ออกจากงานไปแล้ว จำเลยจึงไม่จำต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือจ่ายเงินเดือนหรือค่าเสียหายตามฟ้องให้โจทก์ และเนื่องจากโจทก์ได้ลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยทำให้พ้นสภาพการเป็นพนักงานตั้งแต่วันที่ลาออกแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เคยเป็นลูกจ้างจำเลยต่อมาถูกเลิกจ้างเมื่ออายุครบ 50 ปี เพราะเหตุเกษียณอายุ ซึ่งในขณะเดียวกันลูกจ้างชายของจำเลยจะเกษียณอายุเมื่อครบ 55 ปี และในขณะที่โจทก์ถูกเลิกจ้างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับแล้ว และวินิจฉัยว่า ระเบียบการทำงานของจำเลยที่เกี่ยวกับการเกษียณอายุที่กำหนดว่า สำหรับพนักงานชายให้ถือว่าเกษียณเมื่ออายุครบ55 ปีบริบูรณ์ และพนักงานหญิงเกษียณเมื่ออายุครบ 50 ปีบริบูรณ์ และออกจากงานในวันรุ่งขึ้นที่ตนเกษียณอายุโดยไม่ปรากฏว่าเหตุใดลูกจ้างชายและหญิงจึงเกษียณอายุไม่เท่ากัน จึงขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 15 การที่ลูกจ้างออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างอย่างหนึ่ง ดังนั้น ที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุเกษียณอายุตามฟ้อง จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหาย 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “สำหรับปัญหาซึ่งจะต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2542 โจทก์ได้ยื่นใบลาออกจากงานเพราะเกษียณอายุโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2542 ถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างของโจทก์ด้วยการลาออกจากงาน เมื่อจำเลยอนุมัติหนังสือลาออกของโจทก์การลาออกจึงมีผลตั้งแต่วันที่โจทก์ประสงค์นั้น เห็นว่า สำหรับปัญหาดังกล่าวจำเลยได้ยกเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เนื่องจากโจทก์ได้ลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลย ทำให้โจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยนับแต่วันที่ลาออกแล้ว อันเป็นประเด็นแห่งคดีซึ่งศาลแรงงานกลางจะต้องมีคำวินิจฉัย แต่ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีนี้โดยรับฟังข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่าโจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างเมื่ออายุ 50 ปี เพราะเหตุเกษียณอายุ โดยที่ศาลแรงงานกลางมิได้รับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานตามที่คู่ความนำสืบในคดีนี้ และยังมิได้วินิจฉัยว่าโจทก์ได้ยื่นใบลาออกจากงานจริงหรือไม่ หากโจทก์ยื่นใบลาออก โจทก์ยื่นเมื่อใด การที่โจทก์ออกจากงานเป็นผลเนื่องจากโจทก์ยื่นใบลาออกหรือจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุโจทก์เกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยถือว่าเป็นคำพิพากษาที่มิได้แสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุแห่งคำวินิจฉัย ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51 ชอบที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1)ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยอีกต่อไป”
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง และให้ย้อนสำนวนไปยังศาลแรงงานกลางเพื่อพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป