แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 กำหนดไว้ว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดหรือเดือนหนึ่งเดือนใด ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับได้ทันที เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมกับค่าทนายความแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ภายในกำหนดวันที่ 15 มิถุนายน 2538 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมนั้นแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ได้ทันทีตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 ดังนั้น สิทธิเรียกร้องในการบังคับชำระหนี้ของโจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวซึ่งมีกำหนดอายุความ 10 ปี จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2538 มิใช่เริ่มนับในวันที่ 16 กรกฎาคม 2538 อันเป็นวันถัดจากวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์งวดแรกตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวมาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 พ้นกำหนด 10 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลจังหวัดมีนบุรี คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 582/2538 ซึ่งพิพากษาเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2538 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 793,973.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 629,124.89 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 2,413 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยผ่อนชำระเดือนละไม่น้อยกว่า 15,000 บาท ทุกวันที่ 15 ของเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 15 กรกฎาคม 2538 และจะชำระเสร็จสิ้นภายใน 1 ปี กับให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่ศาลไม่สั่งคืนและค่าทนายความอีก 10,000 บาท หากจำเลยทั้งสองนัดงวดหนึ่งงวดใดให้โจทก์บังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนครบ ภายหลังมีคำพิพากษาดังกล่าวจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ โจทก์ขอศาลออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองเพื่อจะดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาด แต่ถูกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์จำนองดังกล่าวไว้ก่อนแล้ว โจทก์จึงยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนอง ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองได้เงินสุทธิจ่ายให้โจทก์ 559,157 บาท ยอดหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวภายหลังจากหักเงินได้สุทธิจากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแล้วคำนวณถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2548 จำเลยทั้งสองยังคงค้างชำระหนี้โจทก์เป็นเงิน 1,367,783.10 บาท จำเลยทั้งสองไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้อีก จำเลยทั้งสองเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นต้ว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ไม่ถึง 1,000,000 บาท โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 10 ปี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยทั้งสองไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 และให้จำเลยทั้งสองใช้ฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยทั้งสอง เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นควร
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ในส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 นั้น ปรากกฎว่าศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการล้มละลายของจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 135 (2) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ตามหนังสือของสำนักอำนวยการประจำศาลล้มละลายกลาง ที่ ศย 300.011/อธ 427 ลงวันที่ 20 กันยายน 2550 เอกสารในสำนวนอันดับที่ 37 จึงมีผลให้จำเลยที่ 2 พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายและเท่ากับศาลได้มีคำสั่งยกเลิกการพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของจำเลยที่ 2 ไปด้วยในตัว กรณีจึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 อีกต่อไป สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 นั้น ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลางโดยจำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์โต้แย้งฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลจังหวัดมีนบุรี คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 582/2538 แล้วไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์เลย คิดถึงวันฟ้องคดีนี้เป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท และจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว จำเลยที่ 1 อุทธรณ์เพียงข้อเดียวทำนองว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 582/2538 ของศาลจังหวัดมีนบุรี เอกสารหมาย จ.3 มีข้อความว่า “…ข้อ 1 จำเลยทั้งสองยอมร่วมกันรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์… โดยจำเลยทั้งสองจะร่วมกันผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์เป็นรายเดือนทุกๆ เดือนติดต่อกันเดือนละไม่น้อยกว่า 15,000 บาท ชำระภายในทุกวันที่ 15 ของเดือน เริ่มชำระเดือนแรกภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2538 ทั้งนี้จะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความนี้เป็นต้นไป ข้อ 2 จำเลยทั้งสองยอมร่วมกันรับผิดชำระค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่ศาลไม่สั่งคืนแก่โจทก์ และค่าทนายความอีกเป็นเงิน 10,000 บาท โดยจะชำระภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2538 … ข้อ 4 หากจำเลย (ทั้งสอง)ผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดหรือเดือนหนึ่งเดือนใด ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที โดยยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน…” ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2538 โจทก์ชอบที่จะบังคับคดีกับจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาตามยอมได้ทันทีตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไปภายใน 10 ปี แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 14 กรกฎาคม 2548 เกินกำหนด 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 4 กำหนดไว้แล้วว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดหรือเดือนหนึ่งเดือนใด ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับได้ทันที โดยยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมกับค่าทนายความแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 ภายในกำหนดวันที่ 15 มิถุนายน 2538 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมนั้นแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ได้ทันทีตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 ดังนั้น สิทธิเรียกร้องในการบังคับชำระหนี้ของโจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวซึ่งมีกำหนดอายุความ 10 ปี จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2538 มิใช่เริ่มนับในวันที่ 16 กรกฎาคม 2538 อันเป็นวันถัดจากวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์งวดแรกตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ดังที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัย โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวมาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 พ้น กำหนด 10 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ และให้จำหน่ายคดีในส่วนจำเลยที่ 2 เสียจากสารบบความของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 เสียค่าขึ้นศาลรวมมากับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 500 บาท จึงไม่คืนให้.