คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1586/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การใช้สิทธิอุทธรณ์เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย เนื้อหาในฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ทนายความผู้เรียงอุทธรณ์ เป็นการดำเนินการเพื่อต่อสู้คดีของจำเลยที่ 2 เพื่อให้พ้นความผิดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น การยื่นอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการที่คู่ความหรือทนายความของคู่ความแสดงความคิดเห็นหรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 331

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 83, 90, 137, 326 และนำโทษของจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีทั้งสองดังกล่าวบวกเข้ากับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ด้วย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีทั้งสองที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ระหว่างพิจารณานายประทีป ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้รับโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้โอกาสได้กลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 กรณีจึงมิอาจนำโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้มาบวกเข้ากับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ได้ ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และมาตรา 30 คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วม เพียงว่า การยื่นอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นการร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าถ้อยคำในอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองมีข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม คือ ข้อความที่อ้างว่าโจทก์ร่วมใช้อิทธิพลดำเนินคดีแก่นางบุญพิน ในข้อหาหมิ่นประมาทจนนางบุญพินถูกลงโทษตามคำพิพากษา และเกิดความเกรงกลัวจนต้องย้ายภูมิลำเนาไปอยู่จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้โจทก์ร่วมกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลโดยการขีดฆ่าข้อความในคำเบิกความของพยานโดยไม่ได้รับอนุญาต และยังลักเอกสารไปจากสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4009/2541 ของศาลอาญาธนบุรีด้วย โดยเมื่อพิจารณาจากสำเนาคำฟ้องแล้ว จะเห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว การที่จำเลยที่ 2 จะต่อสู้คดีอย่างไรก็เป็นสิทธิของจำเลยที่ 2 ที่จะกระทำได้ในฐานะเป็นจำเลยเพื่อให้ตนเองพ้นผิดจากข้อกล่าวหา แม้ว่าจะกล่าวอ้างข้อความอันเป็นเท็จก็ตาม และข้อเท็จจริงปรากฏว่า คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ตามสำเนาคำพิพากษา จำเลยที่ 2 ย่อมใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ อันเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย โดยข้อความในอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เฉพาะประเด็นแรก ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องการที่จำเลยที่ 2 กล่าวหาว่าโจทก์ร่วมใช้อิทธิพลในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงนนทบุรีดำเนินคดีแก่นางบุญพินนั้น ศาลชั้นต้นได้หยิบยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นโดยตรงในคำพิพากษาเพื่อวินิจฉัยสนับสนุนให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ในคดีก่อนดังกล่าวเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมด้วย ซึ่งเมื่อจำเลยที่ 2 ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 จึงยื่นอุทธรณ์ โดยในคำอุทธรณ์ก็ย่อมต้องอ้างถึงข้อเท็จจริงอันเดียวกันนั้นด้วย คือเรื่องที่อ้างว่า โจทก์ร่วมใช้อิทธิพลดำเนินคดีแก่นางบุญพิน ไม่เช่นนั้นจำเลยที่ 2 จะอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้อย่างไร การกล่าวอ้างเรื่องดังกล่าวในอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 สามารถทำได้โดยชอบ สำหรับเรื่องที่อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 กล่าวอ้างว่าโจทก์ร่วมกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลและลักเอกสารไปจากสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4009/2541 ของศาลอาญาธนบุรีนั้น แม้จะไม่ปรากฏในคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ก็ปรากฏว่าในชั้นพิจารณาคดีก่อนจำเลยที่ 2 ได้นำสืบต่อสู้ให้ปรากฏไว้แล้วว่ามีเอกสารหายไปจากสำนวนของศาลจริง ซึ่งโจทก์ร่วมก็ยอมรับว่ามีเอกสารสูญหายจริง เพียงแต่ยืนยันว่าโจทก์ร่วมไม่ได้เป็นผู้เอาไป แต่จำเลยที่ 2 ก็ได้ตรวจพบในภายหลังว่าเอกสารที่สูญหายไปก่อนหน้านั้นต่อมาโจทก์ร่วมได้นำมาอ้างส่งต่อศาลอีก ส่วนการขีดฆ่าข้อความในคำเบิกความของพยานประเด็นปากนายแพทย์รุ่งโรจน์ ก็ปรากฏตามสำเนาคำให้การพยานว่ามีการขีดฆ่าจริง แม้จะไม่มีข้อความหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ขีดฆ่า แต่ตามเอกสารโจทก์ร่วมก็ระบุว่าศาลจังหวัดหนองคายบันทึกคำพยานผิดพลาดเห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 อ้างเหตุที่โจทก์ร่วมเป็นผู้ขีดฆ่าคำเบิกความของพยานหรือลักเอกสารไปจากสำนวนความของศาล ในอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวนั้น ไม่ใช่เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ในเรื่องที่ไม่เคยว่ากล่าวกันมาก่อน แต่เป็นการกล่าวอ้างอย่างมีพยานหลักฐานยืนยันว่ามีข้อเท็จจริงเช่นนั้นเกิดขึ้นจริง และมีเหตุอันสมควรที่ทำให้จำเลยที่ 2 ควรเชื่อว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้กระทำการดังกล่าวจริง ทั้งยังเป็นเรื่องที่เคยยกขึ้นว่ากันมาก่อนหน้านั้นแล้ว แม้ข้อเท็จจริงดังกล่าวจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญโดยตรงในคดี แต่ก็เป็นข้อที่จำเลยที่ 2 ต้องนำสืบและกล่าวอ้างเพื่อหักล้างทำลายน้ำหนักคำพยานของโจทก์ร่วมให้เห็นว่าโจทก์ร่วมไม่น่าเชื่อถือเป็นคนไม่ดี ชอบใช้อำนาจข่มเหงรังแกผู้อื่น เช่นเดียวกับที่ทำกับจำเลยที่ 2 เป็นการดำเนินการเพื่อต่อสู้คดีของตนเอง เพื่อให้ตนเองพ้นความผิดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น การยื่นอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นการที่คู่ความหรือทนายความของคู่ความแสดงความคิดเห็นหรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาล เพื่อประโยชน์แก่คดีของตน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 331 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share