คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1552/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แผ่นซีดีรอมเป็นวัตถุที่สามารถนำมาใช้ทำเป็นวัสดุโทรทัศน์ได้ตามความหมายใน(2) ของคำว่า เทปหรือวัสดุโทรทัศน์ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 แต่ซีดีรอมแผ่นใดจะมีลักษณะครบถ้วนที่จะถือว่าเป็นวัสดุโทรทัศน์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับสิ่งที่บันทึกหรืออัดลงในวัสดุดังกล่าวว่าจะมีผลทำให้แผ่นซีดีรอมนั้นสามารถจัดถ่ายทอดออกเป็นภาพหรือเสียง หรือทั้งภาพและเสียงได้ในลักษณะต่อเนื่องกันไปโดยอุปกรณ์อื่นซึ่งเป็นลักษณะของวัสดุโทรทัศน์ตามความหมายในวรรคสองของคำว่าเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณาจากสิ่งที่บันทึกหรืออัดลงไปในแผ่นซีดีรอมแต่ละแผ่นดังนั้นเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าแผ่นซีดีรอมที่บันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เป็นวัสดุโทรทัศน์จำเลยให้การรับสารภาพจึงฟังได้ว่าแผ่นซีดีรอมดังกล่าวเป็นวัสดุโทรทัศน์
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาเกี่ยวกับของกลางว่าของกลางให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนสิ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดให้ริบ ไม่ชัดเจนว่าของกลางใดที่ให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนแผ่นซีดีรอมภาพยนตร์ลามกเป็นทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดอันควรริบ ไม่ใช่สิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิด ศาลฎีกาจึงแก้ไขให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2543 เวลากลางวัน จำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไมโครซอฟต์เอ็นคาร์ทาเอ็นไซคโลปีเดียเดอลุกซ์ 2000 ไมโครซอฟต์อินเตอร์แอ็กทีฟเวิร์ลแอ็ตลาส 2000 ไมโครซอฟต์ 98 เซคคั่นเอ็ดดิชั่น ไมโครซอฟต์ออฟฟิศ 2000 โปรเฟสชันนอลไทย ไมโครซอฟต์วินโดส์ 2000 ไมโครซอฟต์วินโดส์เอ็นทีเซิร์ฟเวอร์ 4.0ไมโครซอฟต์วินโดส์ 2000 โปรเฟสชันนอล ไมโครซอฟต์วิชวลเบสิก 6 อันเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของบริษัทไมโครซอฟต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้เสียหายที่ 1 โปรแกรมคอมพิวเตอร์อะโดบี้อโครแบต 4.0 อะโดบี้โฟโต้ช็อบ 5.0 อะโดบี้อินดีไซน์ 1.0 อะโดบี้อิลลัสสเตอร์ 8.0 อะโดบี้โกไลฟ์ 4.0 อะโดบี้เพจเมกเกอร์ 6.5 อะโดบี้พรีเมียร์ 5.0 อะโดบี้อาฟเตอร์เอ็ฟเฟ็กท์ส 4.0 อันเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของบริษัทอะโดบี้อินคอร์ปอเรตเต็ด จำกัด ผู้เสียหายที่ 2 โปรแกรมคอมพิวเตอร์สามดีสตูติโอแม็กซ์ อันเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของบริษัทออโต้เดสด์อิงค์ จำกัด ผู้เสียหายที่ 3 และโปรแกรมคอมพิวเตอร์นอร์ตันแอนตี้ไวรัส 5 อันเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของบริษัทไซแมนเทคคอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้เสียหายที่ 4 ซึ่งผู้เสียหายทั้งสี่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกาและมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้เสียหายทั้งสี่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในฐานะเป็นผู้สร้างสรรค์งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวและได้โฆษณางานครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นภาคีแห่งอนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรมอันเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย รายละเอียดปรากฏตามบัญชีรายชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ชื่อโปรแกรมที่ได้สร้างสรรค์ และวันเดือนปีที่โฆษณาครั้งแรกเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2 โดยจำเลยนำเอาแผ่นซีดีรอมที่บันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2 ซึ่งมีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสี่รวมจำนวน 133 แผ่น ออกขายเสนอขายแก่บุคคลทั่วไป อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสี่ และโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายทั้งสี่ และจำเลยได้ประกอบกิจการให้เช่าแลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายแผ่นซีดีรอมซึ่งบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ อันเป็นเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจอยู่ที่แผงลอยไม่มีเลขที่ ชั้น 2 ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า แขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวีกรุงเทพมหานคร และได้ประโยชน์ตอบแทนจากราคาจำหน่ายโดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน และไม่ใช่กรณีที่ได้รับยกเว้นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 ทั้งจำเลยทำให้เผยแพร่โดยการมีไว้เพื่อจำหน่าย เสนอจำหน่ายแผ่นวิดีโอซีดี ซึ่งบันทึกภาพและเสียงอันลามกโดยปรากฏภาพการร่วมเพศระหว่างชายหญิงจำนวน 56 แผ่น โดยจำเลยกระทำเพื่อความประสงค์แห่งการค้า ตามวันเวลาดังกล่าวเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมแผ่นซีดีรอมที่บันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งมีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสี่จำนวน 133 แผ่น และแผ่นซีดีบันทึกภาพยนตร์ลามกจำนวน 56 แผ่นรวมจำนวน 189 แผ่นดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 30, 31, 61, 70, 75 และ 76 พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 มาตรา 4, 6 และ 34 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 33, 91 และ 287 ริบของกลางทั้งหมดโดยให้แผ่นซีดีรอมของกลางที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 133 แผ่น ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 และ 70 วรรคสองพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 มาตรา 6 วรรคหนึ่งและ 34 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า จำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 350,000 บาท ความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่าหรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 15,000 บาทและความผิดฐานจำหน่าย เสนอจำหน่ายภาพยนต์วิดีโอซีดีลามก จำคุก 6 เดือน และปรับ 6,000 บาท รวมจำคุก 2 ปี และปรับ 371,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี และปรับ 185,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ของกลางให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนสิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดให้ริบ และให้จ่ายค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาสำหรับความผิดฐานขายเสนอขายงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้าจำนวนกึ่งหนึ่งของค่าปรับ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 มาตรา 76 แก่ผู้เสียหายทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”สำหรับปัญหาเบื้องต้นว่า ซีดีรอมบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ที่จำเลยนำมาเป็นวัตถุในการประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่าย เป็นวัสดุโทรทัศน์อันมีผลให้การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 ตามคำฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ โดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า แผ่นซีดีรอมซึ่งเป็นแผ่นซีดีประเภทหนึ่งเป็นวัตถุที่สามารถนำมาใช้ทำเป็นวัสดุโทรทัศน์ได้ตามความหมายใน (2)ของคำว่า เทปหรือวัสดุโทรทัศน์ ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่ซีดีรอมแผ่นใดจะมีลักษณะครบถ้วนที่จะถือว่าเป็นวัสดุโทรทัศน์ตามกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งที่บันทึกหรืออัดลงในวัสดุดังกล่าวว่าจะมีผลทำให้แผ่นซีดีรอมนั้นสามารถจัดถ่ายทอดออกเป็นภาพหรือเสียง หรือทั้งภาพและเสียงได้ในลักษณะต่อเนื่องกันไปโดยอุปกรณ์อื่นซึ่งเป็นลักษณะของวัสดุโทรทัศน์ตามความหมายในวรรคสองของคำว่าเทปหรือวัสดุโทรทัศน์แห่งบทกฎหมายดังกล่าวได้หรือไม่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณาจากสิ่งที่บันทึกหรืออัดลงไปในแผ่นซีดีรอมแต่ละแผ่น เมื่อคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องยืนยันข้อเท็จจริงว่า แผ่นซีดีรอมที่บันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เป็นวัสดุโทรทัศน์ และปรากฏว่าจำเลยให้การรับสารภาพ จึงย่อมฟังข้อเท็จจริงได้ว่า แผ่นซีดีรอมที่บันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามคำฟ้องนี้มีสภาพเป็นวัสดุโทรทัศน์ การกระทำของจำเลยดังกล่าวมาข้างต้นจึงเป็นความผิดตามคำฟ้อง ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลดโทษปรับลงนั้น เห็นว่า แผ่นซีดีรอมที่บันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของกลางซึ่งมีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสี่ที่จำเลยมีไว้เพื่อขาย เสนอขายมีจำนวนเพียง 133 แผ่นไม่ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่าของกลางดังกล่าวมีมูลค่าสูงหรือก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมากแก่ผู้เสียหายทั้งสี่หรือเป็นการกระทำที่มีการวางแผนการอย่างดีเป็นพิเศษอันเป็นพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดที่ร้ายแรงแต่อย่างใด จำเลยเป็นหญิงมีบุตร 3 คน กระทำความผิดเพื่อหาเงินมาช่วยอุปการะเลี้ยงดูและค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตร พฤติการณ์แห่งคดีจึงมีเหตุอันควรลดหย่อนผ่อนโทษ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวางโทษปรับจำเลยสูงถึง 350,000 บาทในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า และ 15,000 บาท ในความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่าหรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาตจึงสูงเกินไป สมควรกำหนดโทษให้น้อยลงเพื่อให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี แต่ในความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่าย เสนอจำหน่ายวิดีโอซีดีภาพยนตร์อันลามกนั้น เป็นความผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดโทษมาเหมาะสมแก่รูปคดีแล้วไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน

อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาเกี่ยวกับของกลางว่า ของกลางให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนสิ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดให้ริบนั้น ไม่ชัดเจนว่าของกลางใดที่ให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนแผ่นซีดีภาพยนตร์ลามกเป็นทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดอันควรริบ ไม่ใช่สิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิดแต่อย่างใด จึงสมควรแก้ไขให้ถูกต้องด้วย”

พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะโทษปรับในความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 31(1) ปรับ 150,000 บาทความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 มาตรา 34ประกอบมาตรา 6 วรรคหนึ่ง ปรับ 10,000 บาท รวมปรับ 160,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 80,000 บาท รวมโทษทุกกรรมแล้วจำคุก 1 ปี และปรับ 83,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ของกลางแผ่นซีดีรอมที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ 133 แผ่น ให้ตกเป็นของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 75 ส่วนซีดีภาพยนตร์ลามก 56 แผ่น อันเป็นทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) นั้น ให้ริบ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share