แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์ ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ดูแลนักเรียนไทยประจำสถานฑูตในต่างประเทศ มีหน้าที่ควบคุมฝ่ายการเงินและการบัญชีเสมือนเป็นหัวหน้ากองคลังเมื่อทางราชการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ให้ตรวจสอบเงิน แล้วแจ้งให้จำเลยทราบว่าจำเลยเบิกจ่ายใช้เงินไม่ชอบด้วยระเบียบของทางราชการ จำเลยได้แสดงหลักฐานการเบิกจ่ายใช้เงินดังกล่าวให้ทางราชการตรวจสอบ โดยอ้างว่าได้เบิกจ่ายใช้ไปโดยสุจริตและชอบด้วยระเบียบแล้ว แม้เงินนั้นจำเลยจะได้ถอนจากธนาคารไปในระหว่าง พ.ศ.2501 ถึง 2505 แต่ใน พ.ศ.2506 จำเลยก็ได้นำเงินเข้าฝากธนาคารบางส่วนจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้เอาเงินของทางราชการไปเป็นส่วนตัวตั้งแต่วันที่ถอนเงิน เพราะจำเลยมีหน้าที่ดูแลรักษาเงินดังกล่าวแทนทางราชการอยู่ จะถือว่าจำเลยได้กระทำละเมิดนับแต่วันที่จำเลยได้ถอนเงินจากธนาคารหาได้ไม่ และเมื่อทางราชการได้ตรวจสอบใบสำคัญในการใช้จ่ายเงินที่จำเลยเบิกมาจากธนาคารแล้วเห็นว่ามีบางรายการจำเลยใช้จ่ายไปโดยไม่ชอบได้สั่งให้จำเลยใช้เงินคืน จึงต้องถือว่าเงินที่สั่งให้ใช้คืนนั้นเป็นเงินของทางราชการที่ยังอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยตามหน้าที่ จำเลยจะต้องคืนตามที่ทางราชการกำหนดให้ เมื่อนับแต่นั้นถึงวันฟ้องยังไม่พ้น 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ กรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนเช่นนี้ไม่ใช่การเรียกร้องค่าเสียหาย จะนำอายุความเรียกร้องค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 มาใช้บังคับไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับราชการสังกัดสำนักงานโจทก์ ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ดูแลนักเรียนไทยประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตันสหรัฐอเมริกา และให้ทำหน้าที่ควบคุมฝ่ายการเงินและการบัญชีของสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกาด้วยเมื่อระหว่างเดือนพฤษภาคม 2501 ถึงกรกฎาคม 2505 จำเลยได้ถอนเงินของโจทก์ออกจากธนาคารโดยไม่มีความจำเป็นและไม่ลงบัญชีรวม 56,330.64 ดอลล่าร์สหรัฐเบียดบังเอาไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัว เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ต่อมา พ.ศ. 2506 จำเลยทราบว่าโจทก์จะไปตรวจราชการเกี่ยวแก่การเงินจำเลยจึงได้นำเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร 2 คราว จำนวน 12,942.64ดอลล่าร์สหรัฐ และ 8,857.59 ดอลล่าร์สหรัฐ ซื้อดร๊าฟท์ส่งมายังโจทก์ 8,768.07 ดอลล่าร์สหรัฐ และส่งใช้เป็นใบสำคัญ 13,441.83 ดอลล่าร์สหรัฐ เมื่อโจทก์ตัดยอดตรวจสอบบัญชีเพียงวันที่ 30 กันยายน 2506 แล้ว จำเลยได้นำเงิน 11,872 ดอลล่าร์สหรัฐเข้าบัญชีเงินฝากอีก สำหรับใบสำคัญที่จำเลยส่งใช้นั้นปรากฏว่าใช้ไม่ได้ 12,427.65 ดอลล่าร์สหรัฐ จำเลยต้องคืนให้โจทก์ นายกรัฐมนตรีได้ทราบผลการสอบสวนให้จำเลยรับผิดในทางแพ่งเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2511 ขอให้พิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 12,427.65 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือเท่ากับเงิน 260,980.65 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยต่อสู้ปฏิเสธความรับผิด และว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 260,980.65 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์เพียงข้อเดียวว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ห้ามมิให้ฟ้องเรียกค่าเสียหายเมื่อพ้น 10 ปีนับแต่วันทำละเมิดจำเลยถอนเงินจากธนาคารเมื่อใด ต้องถือว่าทำละเมิดในวันนั้น ปรากฏว่าจำเลยถอนเงิน 1,564.64 ดอลล่าร์สหรัฐจากธนาคารถึงวันฟ้องเกิน 10 ปี เงินจำนวนนี้ขาดอายุความ ส่วนนอกนั้นไม่ขาดอายุความพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงิน 228,123.21 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า เดิมจำเลยเป็นข้าราชการชั้นเอก สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2499 จำเลยได้รับแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ดูแลนักเรียนไทยและทำหน้าที่ควบคุมฝ่ายการเงินและการบัญชีประจำสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา ณ กรุงวอชิงตัน โดยจำเลยมีหน้าที่ควบคุมฝ่ายการเงินและการบัญชีเสมือนเป็นหัวหน้ากองคลัง แต่จำเลยไม่มีหน้าที่เบิกเงินจ่ายเงินเอง จำเลยเบิกเงิน จ่ายเงิน จะต้องได้รับอนุญาตจากที่ปรึกษาการศึกษาประจำสถานเอกอัครราชทูตเสียก่อนเมื่อปี พ.ศ.2505 ได้มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับบัญชีของสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทยในต่างประเทศ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ขอให้พันเอกจินดา ณ สงขลา รองเลขาธิการ ก.พ. นายทวีเกียรติ กฤษณามระ นักบัญชีเอก กรมบัญชีกลาง นายวิโรจน์ ดุจจานุทัศน์ ผู้ช่วยกรรมการตรวจเงินสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน นายเธียร ธรรมาธิปติ์ วิทยากรสำนักงาน ก.พ. ไปแนะนำการทำบัญชีตรวจตัดยอดเพื่อตั้งบัญชีระบบใหม่ในสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทยในต่างประเทศทุกแห่ง สำหรับในสหรัฐอเมริกา คณะข้าราชการดังกล่าวได้เดินทางไปถึงเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2506 ได้ทำการตรวจบัญชีตัดยอดตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2506 ย้อนหลัง 10 ปี ปรากฏว่าระหว่างปี พ.ศ. 2501 ถึง พ.ศ. 2505 จำเลยได้ถอนเงินของสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทยซึ่งเป็นเงินของรัฐบาลออกมาจากธนาคารต่าง ๆ โดยไม่ลงบัญชีเป็นเงิน 56,330.64 ดอลล่าร์ แล้วจำเลยได้นำเงินฝากคืนเข้าธนาคารเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2506 วันที่ 23 มกราคม 2506 และวันที่ 21 พฤศจิกายน 2506 รวมเป็นเงิน 42,441.30 ดอลล่าร์ กับได้ส่งใบสำคัญในการเบิกจ่ายใช้เงินไปเป็นเงิน 13,441.83 ดอลล่าร์รวมเป็นเงิน 55,883.13 ดอลล่าร์ เงินคงขาดบัญชีไปอีก 447.51 ดอลล่าร์ สำหรับเงินที่ขาดบัญชี 447.51 ดอลล่าร์ จำเลยได้ถูกฟ้องเรียกเงินคืนเป็นอีกคดีหนึ่ง แต่สำหรับใบสำคัญที่จำเลยจ่ายเงิน 13,441.83 ดอลล่าร์นั้น ต่อมาประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือลงวันที่ 18 ธันวาคม 2507 ถึงเลขาธิการ ก.พ.ว่า ใบสำคัญหมาย จ.1 ถึง จ.19 เป็นการใช้จ่ายเงินที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบราชการ เห็นควรสั่งให้จำเลยนำเงินส่งคืนทางราชการ ส่วนใบสำคัญเอกสารหมาย จ.20 และ จ.21 ถ้าไม่ได้ข้อเท็จจริงว่าเกี่ยวแก่ทางราชการ ก็ให้จำเลยนำเงินส่งคืนทางราชการ หากได้ผลประการใดขอให้แจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทราบ เงินตามใบสำคัญตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.21 เป็นเงินทั้งสิ้น 12,427.65 ดอลล่าร์ วันที่ 16 มิถุนายน 2508 นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อให้ทราบตัวผู้ต้องรับผิดชอบใช้เงินที่จำเลยได้ปฏิบัติเกี่ยวกับการเงินในทางแพ่ง วันที่ 28กันยายน 2510 คณะกรรมการสอบสวนได้เสนอผลการสอบสวนต่อปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีว่าสมควรเรียกร้องให้จำเลยใช้เงิน 12,427.65 ดอลล่าร์ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2511 ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้เสนอความเห็นควรลงโทษปลดจำเลยออกจากราชการ และให้จำเลยชดใช้เงิน 12,427.65 ดอลล่าร์คืนแก่ทางราชการ นายกรัฐมนตรีได้ทราบเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2511 ได้สั่งให้สำนักงาน ก.พ. ดำเนินการตามที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอแล้วนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งลงวันที่ 5 มิถุนายน 2511 ปลดจำเลยออกจากราชการ โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2512
ปัญหามีว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องแล้วหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โดยหน้าที่ราชการของจำเลยนั้น จำเลยมีหน้าที่ควบคุมฝ่ายการเงินและการบัญชีเงินดังกล่าวเสมือนเป็นหัวหน้ากองคลัง แต่การที่จำเลยถอนเงินดังกล่าวที่ฝากธนาคารไว้มานั้น มีข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ปฏิบัติไม่ชอบด้วยระเบียบของทางราชการโดยไม่ได้รับอนุมัติจากที่ปรึกษาการศึกษาประจำสถานเอกอัครราชทูตตามระเบียบแบบแผนของทางราชการที่วางไว้ แม้จำเลยปฏิบัติงานไม่ชอบด้วยระเบียบแบบแผนของทางราชการในการเบิกเงินมาใช้จ่าย แต่เงินดังกล่าวนั้นโดยหน้าที่ราชการของจำเลย จำเลยมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาไว้แทนราชการ และทางราชการจะให้จำเลยเบิกจ่ายใช้เงินนี้ได้ก็ต้องใช้จ่ายให้ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการที่วางไว้เมื่อทางราชการได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ให้ตรวจสอบเงินจำนวนนั้นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วได้แจ้งผลการตรวจสอบให้ทางราชการทราบทางราชการได้แจ้งผลที่ได้จากการตรวจสอบให้จำเลยทราบว่าจำเลยปฏิบัติในการเบิกจ่ายใช้เงินนั้นไม่ชอบด้วยระเบียบของทางราชการ จำเลยได้แสดงหลักฐานการเบิกจ่ายใช้เงินดังกล่าวให้ทางราชการตรวจสอบ โดยจำเลยอ้างว่าจำเลยได้เบิกจ่ายใช้เงินดังกล่าวไปโดยสุจริตและชอบด้วยระเบียบราชการในหน้าที่ของจำเลยจำเลยไม่ต้องรับผิดที่จะต้องชดใช้เงินนั้นแก่ทางราชการ จำเลยอ้างเหตุในการปฏิบัติเกี่ยวแก่การเงินเช่นนี้ ทั้งเงินดังกล่าวนั้นอยู่ในหน้าที่ของจำเลยต้องดูแลรักษาไว้แทนทางราชการ แม้ในระหว่าง พ.ศ. 2501 ถึง พ.ศ. 2505 จำเลยจะถอนเงินดังกล่าวออกจากธนาคาร แต่ในปี พ.ศ. 2506 จำเลยก็นำเงินเข้าฝากกับธนาคารบางส่วนการปฏิบัติของจำเลยเช่นนี้แม้จะไม่ชอบด้วยระเบียบราชการ ก็ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้เอาเงินของทางการนั้นมาเป็นส่วนตัวของจำเลยนับแต่วันที่จำเลยถอนเงินนั้นมาจากธนาคาร เพราะจำเลยมีหน้าที่ดูแลรักษา เงินดังกล่าวแทนทางราชการอยู่ เมื่อทางราชการได้ตรวจสอบหลักฐานที่จำเลยอ้างเพื่อหาข้อเท็จจริง ปรากฏว่าจำเลยเบิกจ่ายใช้เงินของราชการไม่ชอบด้วยระเบียบของทางราชการที่วางไว้ เหตุนี้จะถือเอาข้อเท็จจริงดังกล่าวเกี่ยวแก่จำนวนเงินที่จำเลยดูแลรักษาแทนทางราชการไว้นั้นว่าจำเลยเบิกเงินออกจากธนาคารเมื่อวันใดต้องถือว่าจำเลยได้กระทำละเมิดเกี่ยวแก่เงินของทางราชการดังกล่าวนั้นนับแต่วันที่จำเลยได้ถอนเงินนั้นมาจากธนาคาร จึงไม่เป็นเหตุอันจะรับฟังได้ และเมื่อทางราชการได้ตรวจสอบใบสำคัญในการใช้จ่ายเงินที่จำเลยเบิกมาจากธนาคารมาใช้จ่าย เห็นว่ามีบางรายการจำเลยใช้จ่ายไปโดยไม่ชอบด้วยระเบียบราชการที่วางไว้ ซึ่งทางราชการถือว่าเป็นการใช้เงินไปที่ไม่ชอบ สั่งให้จำเลยใช้เงินคืนแก่ทางราชการ ในรายเกี่ยวแก่กรณีที่จำเลยใช้เงินโดยไม่ชอบ จึงต้องถือว่าเงินที่ทางราชการให้จำเลยใช้คืนแก่ทางราชการนั้นเป็นเงินของทางราชการที่ยังอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยตามหน้าที่ราชการของจำเลย จำเลยจะต้องคืนแก่ทางราชการตามสั่งนับแต่วันที่ทางราชการกำหนดให้จำเลยคืนเงินมาถึงวันฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้น 10 ปี คดีจึงไม่ขาดอายุความ กรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนเช่นนี้ไม่ใช่การเรียกร้องค่าเสียหาย จะนำอายุความเรียกร้องค่าเสียหายในกำหนด1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ดังข้อฎีกาของจำเลยมาใช้บังคับไม่ได้
พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น