คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1551/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้เสียภาษีอากรสำหรับสินค้าปลากระป๋องเที่ยวที่ 8 ตามใบขนสินค้าขาเข้า คืออากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล รวม 227,046.41 บาท ให้กรมศุลกากรจำเลยไว้แล้ว สินค้าปลากระป๋องเที่ยวนี้โจทก์ได้ส่งกลับออกไปจำหน่ายยังประเทศสิงคโปร์ทั้งหมดและได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรดังกล่าวจากจำเลยแล้วซึ่งในกรณีเช่นนี้จำเลยจะต้องคืนเงินอากรขาเข้าให้แก่โจทก์เก้าในสิบส่วน หรือส่วนที่เกินหนึ่งพันบาทของจำนวนที่ได้เรียกเก็บไว้แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่าตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พุทธศักราช 2482 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 329 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 18 และคืนภาษีการค้าภาษีบำรุงเทศบาล ตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์วิธีการและอัตราส่วนเช่นเดียวกับการคืนอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรดังที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา 78 น.ว. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 20) พ.ศ.2513 มาตรา 11 ฉะนั้น จำเลยจึงต้องคืนเงินภาษีการให้โจทก์ 224,670.94 บาท จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ต้องชำระภาษีการที่จำเลยเรียกเก็บเพิ่มจากโจทก์สำหรับสินค้าปลากระป๋องทั้ง 8 เที่ยวให้จำเลยเสียก่อนจึงจะคืนเงินภาษีอากรให้โจทก์ตามมาตรา 112 เบญจ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 329 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 15 หาได้ไม่ เพราะมาตราดังกล่าวเป็นเรื่องให้อำนาจอธิบดีกักของไว้จนกว่าจะได้รับชำระเงินอากรที่ค้างครบถ้วนและเป็นคนละเรื่องกัน และจำเลยต้องเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อไปนับแต่วันที่โจทก์ขอคืนและจำเลยไม่คืนให้ซึ่งถือว่าเป็นวันที่โจทก์ผิดนัด
โจทก์วางเงินประกันค่าอากรเพิ่มสำหรับสินค้าเที่ยวที่ 8 ไว้คุ้มค่าอากรที่จำเลยประเมินเพิ่ม จำเลยจึงเรียกเก็บเงินประกันค่าอากรเพิ่มเป็นค่าอากรตามที่ประเมินไว้ได้ทันทีตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 112 ทวิ ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 329 แต่เมื่อเงินประกันค่าอากรเพิ่มที่จำเลยเรียกไว้เกินจำนวนที่โจทก์ต้องเสียเพิ่ม จำเลยก็ต้องคืนเงินส่วนที่เกินดังกล่าวให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 0.625 บาทต่อเดือน ตามมาตรา 112 จัตวา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้นำสินค้าปลากระป๋องจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยโดยเรือเดินทะเล ๘ เที่ยว และได้เสียภาษีอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลครบถ้วนแล้ว เฉพาะสินค้าเที่ยวที่ ๑ และ ๘ โจทก์ส่งไปขายต่อยังต่างประเทศ โดยโจทก์ได้รับคืนค่าภาษีอากรสำหรับเที่ยวที่ ๑ แล้ว ส่วนสินค้าเที่ยวที่ ๘ จำเลยสั่งให้โจทก์วางเงินประกัน ๙๕,๐๐๐ บาทอีกต่างหาก โจทก์มีสิทธิเรียกเงินภาษีอากรและเงินค่าประกันคืนจากจำเลยเป็นเงิน ๓๑๙,๙๔๖.๔๑ บาท แต่จำเลยไม่ยอมคืนให้ ต่อมาจำเลยได้เรียกเก็บเงินเพิ่มค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าเที่ยวที่ ๘ อีก เป็นเงิน ๒๙๔,๐๖๘.๖๒ บาท โดยไม่ชอบ จึงขอให้เพิกถอนคำสั่งที่เรียกเก็บเงินเพิ่มภาษีอากรดังกล่าวและคืนเงินภาษีอากรกับเงินประกันให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยเรียกเก็บภาษีอากรเพิ่มเพราะโจทก์สำแดงราคาปลากระป๋องทั้ง ๘ เที่ยวต่ำไป และโจทก์จะต้องเสียภาษีอากรเพิ่มเสียก่อนจึงจะขอคืนเงินภาษีที่ชำระไว้แล้วได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า คำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มตามฟ้องเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ให้จำเลยคืนเงินภาษีอากรและเงินวางประกันรวม ๓๑๙,๖๗๐.๙๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๑๗ ถึง ๑ มิถุนายน ๒๕๑๘ และนับแต่วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๑๘ ซึ่งเป็นวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ราคาสินค้าปลากระป๋อง ที่โจทก์สำแดงไว้ต่อจำเลยนั้นต่ำกว่าราคาอันแท้จริง จำเลยชอบที่จะกำหนดราคาอันแท้จริงในท้องตลาดได้ โจทก์จึงต้องเสียภาษีอากรเพิ่มสำหรับสินค้าปลากระป๋องที่โจทก์นำเข้ามาตามฟ้องรวม ๘ เที่ยว เป็นจำนวนเงิน ๒๙๔,๐๖๘.๖๒ บาท และวินิจฉัยต่อไปว่า
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยจะไม่คืนเงินภาษีอากรขาเข้าและเงินวางประกันค่าอากรสำหรับสินค้าปลากระป๋องเที่ยวที่ ๘ ให้โจทก์ได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้เสียภาษีอากรสำหรับสินค้าปลากระป๋องเที่ยวที่ ๘ ตามใบขนสินค้าขาเข้า (เอกสารหมาย ล.๘) คืออากรขาเข้า ๑๘๕,๗๔๕ บาท ภาษีการค้า ๓๗,๕๔๖.๗๔ บาท ภาษีบำรุงเทศบาล ๓,๗๕๔.๖๗ บาท รวม ๒๒๗,๐๔๖.๔๑ ให้จำเลยไว้แล้ว สินค้าปลากระป๋องเที่ยวนี้โจทก์ได้ส่งกลับออกไปจำหน่ายยังประเทศสิงคโปร์ทั้งหมดและได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรดังกล่าวจากจำเลยแล้วเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๑๗ ในกรณีเช่นนี้จำเลยจะต้องคืนเงินอากรขาเข้าให้แก่โจทก์เก้าในสิบส่วน หรือส่วนที่เกินหนึ่งพันบาทของจำนวนที่ได้เรียกเก็บไว้ แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่าตามมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พุทธศักราช ๒๔๘๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๒๙ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๔ ข้อ ๑๘ คืนภาษีการค้าตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์ วิธีการและอัตราส่วนเช่นเดียวกับการคืนอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๘ นว. แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๒๐) พ.ศ.๒๕๑๓ มาตรา ๑๑ และภาษีบำรุงเทศบาลซึ่งต้องคืนตามวิธีการเช่นเดียวกัน ฉะนั้น จำเลยจึงมีสิทธิหักอากรขาเข้า ๑,๐๐๐ บาท ภาษีการค้า ๑,๐๐๐ บาท ภาษีเทศบาล ๓๗๕.๔๗ บาท รวม ๒,๓๗๕.๔๗ บาทไว้ คงต้องคืนเงินภาษีอากรให้โจทก์ ๒๒๔,๖๗๐.๙๔ บาท +จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ต้องชำระภาษีอากรที่จำเลยเรียกเก็บเพิ่มจากโจทก์สำหรับสินค้าปลากระป๋องทั้ง ๘ เที่ยวให้จำเลยเสียก่อน จึงจะคืนเงินภาษีอากรให้โจทก์ตามมาตรา ๑๑๒ เบญจ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ แก้ไขเพิ่มเติมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๒๙ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ ข้อ ๑๕ หาได้ไม่ เพราะมาตราดังกล่าวเป็นเรื่องให้อำนาจอธิบดีกักของไว้จนกว่าจะได้รับชำระเงินอากรที่ค้างครบถ้วนเป็นคนละเรื่องกันเงินจำนวนที่จำเลยจะต้องคืนแก่โจทก์นี้ จำเลยรับว่าโจทก์ขอรับคืนตั้งแต่วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๑๗ การที่จำเลยไม่คืนให้โจทก์จึงผิดนัดแล้ว ต้องเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๑๗ ถึงวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๑๘ และตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จตามที่โจทก์ขอ ส่วนเงินวางประกันค่าอากรเพิ่ม ๙๕,๐๐๐ บาท สำหรับสินค้าปลากระป๋องเที่ยวที่ ๘ นั้น ปรากฏว่าจำเลยได้ประเมินราคาสินค้าปลากระป๋องเที่ยวที่ ๘ เพิ่มอีก ๕๗,๓๔๗.๕๐ บาท ซึ่งโจทก์จะต้องเสียอากรขาเข้าเพิ่ม ๓๔,๔๐๘.๕๐ บาท ภาษีการค้า ๖,๙๕๕.๓๙ บาท ภาษีบำรุงเทศบาล ๖๙๕.๕๔ บาท รวมภาษีอากรที่โจทก์ต้องเสียเพิ่ม ๔๒,๐๕๙.๔๓ บาท และได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้วเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๑๘ (เอกสารหมาย จ.๑๐) แต่เงินวางประกันค่าอากรเพิ่มที่โจทก์วางไว้นี้คุ้มค่าอากรที่จำเลยประเมินเพิ่ม จำเลยเรียกเก็บเงินประกันค่าอากรเพิ่มเป็นค่าอากรรวม ๔๒,๐๕๙.๔๓ บาท ที่ประเมินไว้ได้ทันทีตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ มาตรา ๑๑๒ ทวิ ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๒๙ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ ข้อ ๑๕ เงินประกันค่าอากรเพิ่มที่จำเลยเรียกไว้จึงเกินจำนวนอันพึงต้องเสียเพิ่มเป็นเงิน ๕๒,๙๔๐.๕๗ บาท จำเลยต้องคืนเงินจำนวนนี้ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอีกร้อยละ ๐.๖๒๕ ต่อเดือน (ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี) ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ มาตรา ๑๑๒ จัตวา ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๒๙ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ ข้อ ๑๕ นับแต่วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๑๖ ซึ่งเป็นวันวางเงินประกันค่าอากร (เอกสารหมาย ล.๘) จนกว่าจำเลยจะคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ แต่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๑๗ ถึงวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๑๘ และนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จจึงคิดให้ตามที่โจทก์ขอ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยตามหนังสือที่ กค.๐๖๐๘/๕๗๓ ลงวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๑๘ เรื่องเรียกเก็บเงินเพิ่มภาษีนั้นเสีย ให้จำเลยคืนเงินภาษีอากรจำนวน ๒๒๔,๖๗๐.๙๔ บาท และเงินวางประกันค่าอากรเพิ่มจำนวน ๕๒,๙๔๐.๕๗ บาท รวม ๒๗๗,๖๑๑.๕๑ บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๑๗ ถึงวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๑๘ และนับแต่วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๑๗ ซึ่งเป็นวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ

Share