คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2952/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อความในเอกสารระบุว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเคยเป็นลูกจ้างโจทก์ขอเสนอตัวเองกลับเข้าทำงานกับโจทก์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อผ่อนใช้หนี้โดยขอทำงานแค่เพียง 2 ปีเท่านั้น และขอรับเงินเดือนตามที่เคยได้รับครั้งสุดท้ายกับเสนอเงื่อนไขการผ่อนชำระเงินให้โจทก์ว่าจะผ่อนเท่าใด ข้อความเช่นนี้เป็นเงื่อนไขบังคับก่อนว่าหากโจทก์รับจำเลยที่ 1 กลับเข้าทำงาน จำเลยที่ 1 ก็จะผ่อนชำระเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ยอมรับจำเลยที่ 1 เข้าทำงานเงื่อนไขบังคับก่อนจึงยังไม่สำเร็จ ความยินยอมชำระเงินให้แก่โจทก์ยังไม่เกิดขึ้น จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เคยทำงานตำแหน่งสมุห์บัญชีสาขาโจทก์จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ระหว่างจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งโอนเงินจากธนาคารโจทก์ สาขาหินกอง เพื่อจ่ายเงินให้แก่นายสุขุม จำนวนเงิน61,508 บาท แต่ด้วยความประมาทเลินเล่อต่อหน้าที่ จำเลยที่ 1ได้จ่ายเงินให้แก่นายสุขุมเป็นจำนวนเงินถึง 100,000 บาท โจทก์หักเงินฝากจากบัญชีออมทรัพย์ของนายสุขุมได้ 10,500 บาท ยังขาดอยู่เป็นจำนวนเงิน 27,992 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน37,539.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 27,992 บาทนับถัดจากวันฟ้อง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การทำนองเดียวกันว่า การจ่ายเงินของจำเลยที่ 1 ให้แก่นายสุขุม ถูกต้องตามระเบียบและวิธีการของธนาคารโดยสุจริต และปราศจากความประมาทเลินเล่อ โจทก์ฟ้องคดีมูลละเมิดเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทราบการกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้ว คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน37,539.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน27,992 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์อ้างว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความเพราะจำเลยที่ 1 ได้แสดงเจตนาขอชำระหนี้ให้โจทก์ตามเอกสารหมาย ป.จ.ช.16(ศาลจังหวัดเชียงใหม่) เป็นการละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192 เดิม (มาตรา 193/24 ใหม่)แล้ว ได้พิจารณาข้อความในเอกสารหมาย ป.จ.ช.16 (ศาลจังหวัดเชียงใหม่)แล้ว เห็นว่า ข้อความในเอกสารดังกล่าว จำเลยที่ 1 แจ้งโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ทำการค้าอะไร ขอเสนอตัวเองกลับเข้าทำงานกับโจทก์อีกครั้งเพื่อผ่อนใช้หนี้โดยขอทำงานแค่เพียง 2 ปีเท่านั้นและขอรับเงินเดือนตามที่เคยได้รับครั้งสุดท้ายที่สาขาเชียงรายกับเสนอเงื่อนไขการผ่อนชำระเงินให้โจทก์ว่าจะผ่อนเท่าใด ข้อความเช่นนี้เป็นเงื่อนไขบังคับก่อนว่า หากโจทก์รับจำเลยที่ 1 กลับเข้าทำงาน จำเลยที่ 1 ก็จะผ่อนชำระเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์ ดังนี้เมื่อโจทก์ไม่ยอมรับจำเลยที่ 1 เข้าทำงานตามหนังสือเอกสารหมาย ล.1เงื่อนไขบังคับก่อนจึงยังไม่สำเร็จความยินยอมชำระเงินให้แก่โจทก์ยังไม่เกิดขึ้น จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192 เดิม(มาตรา 193/24 ใหม่) ตามนัยแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 925/2530ระหว่างกรมศุลกากร กับพวก โจทก์ บริษัทไทยบุรินทร์ จำกัด จำเลยคดีนี้เกิดเหตุเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2526 โจทก์ได้ฟ้องนายสุขุมทองคำ เพื่อเรียกเงินของโจทก์คืน ศาลพิพากษาให้นายสุขุมชำระเงินส่วนที่ได้รับเกินไปนั้นคืนแก่โจทก์ แต่บังคับคดีแก่นายสุขุมไม่ได้ โจทก์จึงทวงถามให้จำเลยที่ 1 รับผิด ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าโจทก์ทราบตั้งแต่เมื่อใดว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้เงินตามฟ้อง แต่ข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่าอย่างช้าก็ต้องทราบก่อนที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือไปถึงโจทก์ตามเอกสารหมาย ป.จ.ช.16 (ศาลจังหวัดเชียงใหม่) ซึ่งลงวันที่ 2 มีนาคม 2528 ดังนั้นเมื่อโจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2530 จึงเกินกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1ด้วยนั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share