แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยตั้งโจทก์เป็นตัวแทนประสานงานเพื่อผลประโยชน์ของจำเลยในการได้รับจ้างงานในโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ต่อมาจำเลยได้เข้าเป็นคู่สัญญากับกิจการร่วมค้าไอทีโอโดยเป็นผลจากการดำเนินการของโจทก์ตามสัญญาตั้งตัวแทน โจทก์มีสิทธิเรียกร้องอันเป็นมูลหนี้ตามสัญญาดังกล่าวที่จะฟ้องร้องจำเลยได้ คดีของโจทก์จึงมีมูลที่จะฟ้องร้อง ส่วนปัญหาว่า โจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาตั้งตัวแทน หรือจำเลยได้รับการจ้างเหมาช่วงงานดังกล่าวโดยไม่ได้เป็นผลจากการปฏิบัติตามสัญญาของโจทก์หรือไม่ ยังเป็นที่โต้เถียงกันซึ่งต้องนำสืบพยานหลักฐานกันในชั้นพิจารณาต่อไป แม้จำเลยไม่ตั้งใจยักย้ายทรัพย์สินของตนไปให้พ้นจากอำนาจศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 255 (1) (ก) แต่การที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ไม่มีสำนักงานสาขาในประเทศไทยแม้เคยมีก็ปิดสำนักงานสาขาไปแล้วเพราะใบอนุญาตประกอบกิจการของคนต่างด้าวไม่ถูกต้อง และการที่จำเลยไม่มีทรัพย์สินใดในประเทศไทย ทั้งจำเลยไม่มีทรัพย์สินอยู่ในประเทศไทยพอที่โจทก์จะบังคับคดีได้ ย่อมเป็นเหตุจำเป็นอื่นที่เป็นการยุติธรรมและสมควรที่จะคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 255 (1) (ข) จึงนำวิธีคุ้มครองชั่วคราวตามที่โจทก์ขอมาใช้ในการสั่งให้อายัดเงินค่าจ้างที่กิจการร่วมค้าไอทีโอบุคคลภายนอกจะชำระให้แก่จำเลยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 254 (1)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นบริษัทจำกัด จดทะเบียนและมีภูมิลำเนาในประเทศสาธารณรัฐอิตาลี ทำสัญญาให้โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดตามกฎหมายไทย เป็นตัวแทนประสานงานเพื่อผลประโยชน์ของจำเลยในงานก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยจำเลยจะจ่ายค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 13 ของมูลค่างานที่จำเลยเข้าเป็นคู่สัญญาจากการประสานงานของโจทก์ จากนั้นโจทก์ติดต่อประสานงานจนกลุ่มบริษัทกิจการร่วมค้าไอทีโอว่าจ้างจำเลยทำงาน 3 กลุ่มงาน คือ งานอุปกรณ์ตกแต่งอาคารและเครื่องหมายสัญลักษณ์ งานท่าเทียบเครื่องบินแอร์บัส และงานก่อสร้างสถานีรถไฟเชื่อมระหว่างสนามบินกับมักกะสันและพญาไทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 735,000,000 บาท ซึ่งจำเลยต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่โจทก์รวม 95,550,000 บาท แต่จำเลยไม่ชำระและบอกเลิกสัญญากับโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าบริการและค่าตอบแทนจำนวนดังกล่าวพร้อมค่าเสียหายและดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นตัวแทนประสานงานจริง แต่โจทก์จะมีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนต่อเมื่อจำเลยได้รับค่าจ้างตามงวดงานที่จำเลยทำเสร็จและส่งมอบงานให้กิจการร่วมค้าไอทีโอ แต่จำเลยยังไม่ได้รับชำระค่างวดค่าจ้าง และโจทก์ไม่ได้ติดต่อประมานงานให้จำเลยได้งานรับจ้างดังกล่าวทั้งยังทำงานบกพร่อง ไม่รับผิดชอบ ขาดความรู้ จนทำให้จำเลยเสียหาย จำเลยจึงบอกเลิกสัญญาจ้างโจทก์ ขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการที่โจทก์ทำงานบกพร่องผิดพลาดรวมเป็นเงิน 321,311,566 บาท แก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณา (1) หลังจากยื่นฟ้อง โจทก์ยื่นคำร้องขอต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ขอให้ศาลมีคำสั่งอายัดเงินประกันสัญญาและเงินค่าจ้างตามสัญญาที่จำเลยจะได้รับจากกิจการร่วมค้าไอทีโอ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (1) จำเลยยื่นคำคัดค้าน
(2) หลังจากจำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้ง จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้เพื่อการชำระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 253 โจทก์ยื่นคำคัดค้าน
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้อายัดเงินที่จำเลยมีสิทธิเรียกร้องต่อกิจการร่วมค้าไอทีโอไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยห้ามมิให้กิจการร่วมค้าไอทีโอชำระเงินจำนวน 24,852,602.43 บาท แก่จำเลยและเงินในอัตราร้อยละ 13 ของเงินซึ่งกิจการร่วมค้าไอทีโอจะต้องชำระแก่จำเลยในงวดที่จะถึงกำหนดชำระต่อไปตามสัญญาซื้อขายอุปกรณ์ตกแต่งภายในสนามบิน (เอกสารหมาย ล.14 และ ล.15) กับตามสัญญาให้บริการติดตั้งทดสอบและส่งมอบอุปกรณ์ตกแต่งภายในสนามบิน (เอกหมาย ล.16 และ ล.17) (ฉบับลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2547) แต่ให้กิจการร่วมค้าไอทีโอนำเงินดังกล่าวส่งมอบแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ถึงกำหนดชำระหนี้ โดยให้โจทก์วางเงินประกันจำนวน 3,000,000 บาท ก่อนออกหมายดังกล่าว และให้ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้เพื่อการชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า สมควรที่ศาลจะมีคำสั่งอายัดเงินค่าจ้างที่กิจการร่วมค้าไอทีโอซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจะชำระแก่จำเลยเมื่อถึงกำหนดชำระ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (1) หรือไม่ ซึ่งในการพิจารณาอนุญาตตามคำขอต้องให้เป็นที่พอใจศาลว่า คำฟ้องมีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองตามที่โจทก์ขอมาใช้ได้ ตามมาตรา 255 (1) (ก) หรือ (ข) เห็นว่า คดีนี้โจทก์ได้นำสืบพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองโจทก์ชั่วคราว โดยยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของนายโจเอล โบเชอร์ กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ว่า จำเลยทำสัญญาตั้งโจทก์เป็นตัวแทนประสานงานเพื่อผลประโยชน์ของจำเลยในการได้รับการจ้างงานในโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามหนังสือยืนยันการเปลี่ยนแปลงค่าตอบแทนเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งต่อมาจำเลยได้เข้าเป็นคู่สัญญากับกิจการร่วมค้าไอทีโอโดยเป็นผลจากการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพของโจทก์ตามสัญญาตั้งตัวแทน ซึ่งจำเลยก็ได้นำสืบรับในชั้นนี้ว่าจำเลยทำสัญญาตั้งโจทก์เป็นตัวแทนดำเนินการดังกล่าวจริงตามสัญญาตั้งตัวแทนเอกสารหมาย ล.12 ฉะนั้น พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบเบื้องต้นในชั้นไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวนี้รับฟังได้ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องอันเป็นมูลหนี้ตามสัญญาดังกล่าวที่จะฟ้องร้องจำเลยได้ ซึ่งโจทก์ยืนยันว่าตนปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาโดยติดต่อประสานงานกับกิจการร่วมค้าไอทีโอจนจำเลยได้รับการว่าจ้างงานช่วงตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4 หาใช่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยโดยปราศจากมูลหนี้ที่จะเรียกร้องหรือฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งจำเลยแต่อย่างใดไม่ คดีของโจทก์จึงมีมูลที่จะฟ้องร้อง ส่วนปัญหาว่า โจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาตั้งตัวแทน หรือจำเลยได้รับการจ้างเหมาช่วงงานดังกล่าวโดยไม่ได้เป็นผลจากการปฏิบัติตามสัญญาของโจทก์หรือไม่ ยังเป็นที่โต้เถียงกันซึ่งต้องนำสืบพยานหลักฐานกันโดยละเอียดในชั้นพิจารณาสืบพยานต่อไป หาใช่ว่าจะต้องสืบพยานกันจนสิ้นกระแสความถึงขนาดรับฟังได้แล้วว่าโจทก์ในฐานะตัวแทนจำเลยได้ชี้ช่องให้จำเลยเข้าทำสัญญารับจ้างเหมาช่วงงานจากกิจการร่วมค้าไอทีโอดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ เพราะหากต้องสืบพยานจนได้ความถึงขนาดนั้นก็ไม่มีประโยชน์อื่นใดที่โจทก์จะขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ชั่วคราวในระหว่างพิจารณาเนื่องจากการพิจารณาคดีล่วงไปจนเสร็จสิ้นว่าโจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามสัญญาตั้งตัวแทนจากจำเลยผู้ว่าจ้างหรือไม่ ทั้งก็เป็นการด่วนวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทในคดีไปในชั้นขอคุ้มครองชั่วคราวเสียก่อนที่จะสืบพยานในชั้นพิจารณาของคดีด้วย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่มีประโยชน์ที่จะนำสืบพยานกันต่อไปอีกแล้ว ส่วนปัญหาว่ามีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองชั่วคราวตามที่โจทก์ขอมาใช้ได้หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยไม่ตั้งใจยักย้ายทรัพย์สินของตนไปให้พ้นจากอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 255 (1) (ก) เพราะจำเลยไม่มีทรัพย์สินอันใดในประเทศไทยที่จะยักย้ายหรือจะโอน การที่กิจการร่วมค้าไอทีโอชำระเงินค่าจ้างตามสัญญาขายเอกสารหมาย ล.14 และ ล.15 ให้จำเลยแล้ว 7 งวด โดยชำระเข้าบัญชีของจำเลยโดยตรงที่ประเทศสาธารณรัฐอิตาลีก็เป็นการปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาช่วง จำเลยมิได้มีเจตนายักย้ายเงินค่าจ้างตามมาตรา 254 (1) (ก) แต่การที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ไม่มีสำนักงานสาขาในประเทศไทยแม้เคยมีจำเลยก็ปิดสำนักงานสาขาไปแล้วเพราะใบอนุญาตประกอบกิจการของคนต่างด้าวไม่ถูกต้อง และการที่จำเลยไม่มีทรัพย์สินใดในประเทศไทย ทั้งมิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยมีทรัพย์สินอยู่ในประเทศไทยพอที่โจทก์จะบังคับคดีในประเทศไทยได้ ย่อมเป็นเหตุจำเป็นอื่นที่เป็นการยุติธรรมและสมควรที่จะคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 255 (1) (ข) ที่จำเลยนำสืบอ้างว่าจำเลยมีกิจการและฐานะทางการเงินมั่นคงในประเทศสาธารณรัฐอิตาลี กิจการดังกล่าวก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับคดีของศาลไทย ส่วนที่จำเลยนำสืบว่ากิจการร่วมค้าไอทีโอจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างตามสัญญาบริการเอกสารหมาย ล.16 และ ล.17 ให้แก่จำเลยในประเทศไทย จำเลยยังมิได้ยักย้ายหรือโอนหรือจำหน่ายทรัพย์สินไปให้พ้นอำนาจศาลไม่เป็นการยากที่จะบังคับเอากับค่าจ้างจำนวนนี้หากจำเลยแพ้คดี ก็หาได้เป็นหลักประกันว่าจำเลยจะนำเงินค่าจ้างที่ได้รับจากกิจการร่วมค้าไอทีโอส่วนนี้ไปชำระให้แก่โจทก์ หากโจทก์ชนะคดีไม่ ฉะนั้น จึงเห็นว่ากรณีมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองชั่วคราวตามที่โจทก์ขอมาใช้ในการสั่งให้อายัดเงินค่าจ้างที่กิจการร่วมค้าไอทีโอบุคคลภายนอกจะชำระให้แก่จำเลยได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (1) คำสั่งอายัดเงินของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการที่สองตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า สมควรที่ศาลจะสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้แก่จำเลยโดยสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้เพื่อการชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 253 หรือไม่ เห็นว่า ตามบันทึกถ้อยคำของนางสาวโมนิกา โอแบติ กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลย ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีพฤติการณ์ใดที่จะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายแทนจำเลยหรือแก่จำเลยในคดีนี้หากโจทก์แพ้คดี แม้โจทก์จะมีทรัพย์สินเป็นของบริษัทโจทก์ไม่มาก ตามงบการเงินปี 2546 เอกสารหมาย ล.30 แต่โจทก์ยังคงประกอบธุรกิจ และยังมีทรัพย์สินอยู่คือรถยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้ในสำนักงาน และเงินสด ซึ่งแม้มีจำนวนเพียงเล็กน้อยตามบันทึกถ้อยคำของนางสาวโมนิกา โอแบติ แต่ก็น่าจะเพียงพอชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายแทนจำเลยหรือแก่จำเลยในคดีส่วนที่โจทก์ฟ้องซึ่งจะมีจำนวนไม่มาก โดยไม่รวมถึงค่าฤชาธรรมเนียมที่จำเลยฟ้องแย้งซึ่งถือว่าจำเลยเป็นโจทก์ ส่วนการที่โจทก์ไม่ชำระค่าภาษีอากรแก่รัฐบาลตามที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ก็เพราะโจทก์ประกอบกิจการขาดทุน หาใช่เพราะหลีกเลี่ยงภาษี และการไม่ชำระภาษีก็ไม่เป็นเหตุที่จะแสดงให้เชื่อว่าโจทก์จะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่าย นอกจากนี้การที่บริษัทโจทก์มีเพียงนายโจเอล โบเชอร์ กรรมการผู้จัดการที่บริหารงานเพียงผู้เดียวก็เป็นเรื่องปกติในการบริหารจัดการบริษัทที่นายโจเอล โบเชอร์ ไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ไม่มีทรัพย์สินอยู่ในประเทศไทยก็ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการหรือทรัพย์สินของบริษัทโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกรรมการผู้จัดการ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้สั่งให้โจทก์วางเงินหรือหาประกันสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายจึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน ให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ