คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 98/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้จำเลยที่ 1 ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและชำระเงินค่าสินค้าแก่ผู้ขายไปแล้ว เมื่อสินค้าขนส่งมาถึงประเทศไทย จำเลยที่ 1 ยังไม่สามารถชำระเงินค่าสินค้าที่โจทก์ชำระแทนไปก่อนได้ทันที จำเลยที่ 1 จึงขอทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์ด้วยการขอรับสินค้าไปก่อนแล้วจะชำระราคาภายในวันที่กำหนดไว้ ซึ่งสินค้าตามสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าวก็คือสินค้าที่ขอให้โจทก์ชำระเงินแทนตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตนั่นเอง สัญญาทรัสต์รีซีทจึงเป็นเรื่องที่คู่สัญญาตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตทำความตกลงกันในรายละเอียดเกี่ยวกับการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นแล้วตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต อันถือว่าสัญญาทรัสต์รีซีทเป็นสัญญาที่ทำต่อเนื่องจากคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต หาใช่เป็นเรื่องที่คู่สัญญามีเจตนาจะก่อหนี้ขึ้นใหม่หรือเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในมูลหนี้เดิมแต่อย่างใด คงเป็นมูลหนี้ในประเภทและจำนวนเดียวกัน มูลหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตจึงไม่ระงับไปเพราะการแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้ค่าซื้อสินค้าที่โจทก์ชำระแทนจำเลยที่ 1 ไปตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและต่อมาทำสัญญาทรัสต์รีซีทไว้ ในฐานะที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าโจทก์โดยเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2538 โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตตามคำขอของจำเลยที่ 1 เพื่อสั่งซื้อสินค้าประเภทชิ้นส่วนและอะไหล่ใช้แล้วจากผู้ขายในประเทศญี่ปุ่นจำนวน 2 ฉบับ รวมเป็นเงิน 3,800,000 เยน โดยตกลงว่าเมื่อโจทก์จ่ายเงินให้ผู้ขายแล้วจำเลยที่ 1 จะชำระเงินคืนแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายต่างๆ เมื่อสินค้าที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อมาถึงประเทศไทย จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ จึงทำสัญญาทรัสต์รีซีทไว้ต่อโจทก์รวม 2 ฉบับ เพื่อขอรับเอกสารไปออกสินค้าก่อน โดยสัญญาว่าจะนำเงินค่าสินค้าชำระแก่โจทก์ตามเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีททั้ง 2 ฉบับ เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 4 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามเลตเตอร์ออฟเครดิต และจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามเลตเตอร์ออฟเครดิต และจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทไว้ต่อโจทก์ เมื่อครบกำหนดชำระเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้ง 2 ฉบับ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ณ วันฟ้องจำเลยที่ 1 มีหนี้ค้างชำระจำนวน 1,463,399.05 บาท ก่อนฟ้องโจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 1,463,099.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 915,563.31 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา บริษัทบริหารสินทรัพย์ เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ และต่อมาบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้จำนวน 915,563.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
โจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทด้วยหรือไม่ จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์เฉพาะสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตของจำเลยที่ 1 เท่านั้น การที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทโดยมิได้บังคับตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระค่าสินค้าตามที่ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต เป็นการสร้างเงื่อนไขขึ้นใหม่และเป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในมูลหนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ค้ำประกัน จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ หนี้เดิมจึงระงับ ทำให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 หลุดพ้นจากความรับผิดนั้น เห็นว่า การที่โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้จำเลยที่ 1 ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและชำระเงินค่าสินค้าแก่ผู้ขายไปแล้ว เมื่อสินค้าดังกล่าวขนส่งมาถึงประเทศไทย จำเลยที่ 1 ยังไม่สามารถชำระเงินค่าสินค้าที่โจทก์ชำระแทนไปก่อนได้ทันที จำเลยที่ 1 จึงขอทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์ด้วยการขอรับสินค้าไปก่อนแล้วจะชำระราคาภายในเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งสินค้าตามสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าวก็คือสินค้าที่ขอให้โจทก์ชำระเงินแทนตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตนั่นเอง สัญญาทรัสต์รีซีทจึงเป็นเรื่องคู่สัญญาตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตทำความตกลงกันในรายละเอียดเกี่ยวกับการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นแล้วตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต อันถือได้ว่าสัญญาทรัสต์รีซีทเป็นสัญญาที่ทำต่อเนื่องจากคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต หาใช่เป็นเรื่องที่คู่สัญญามีเจตนาจะก่อหนี้ขึ้นใหม่หรือเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในมูลหนี้เดิมแต่อย่างใด คงเป็นมูลหนี้ในประเภทและจำนวนเดียวกัน ดังนั้น มูลหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตจึงไม่ระงับไปเพราะการแปลงหนี้ใหม่ดังที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์แต่อย่างใด การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 รับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้ค่าซื้อสินค้าที่โจทก์ชำระแทนจำเลยที่ 1 ไปตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและต่อมาได้มีการทำสัญญาทรัสต์รีซีทไว้ในฐานะที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…”
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้หรือไม่ เพียงใด จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ในข้อนี้ว่า ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตนั้นไม่ได้ระบุให้โจทก์คิดดอกเบี้ยไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งในปัญหาข้อนี้โจทก์ได้อุทธรณ์ไว้เช่นกันว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในดอกเบี้ย ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทในอัตราเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามคำขอของโจทก์ด้วยจึงจะได้วินิจฉัยรวมกันไป เห็นว่า ในคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.7 ซึ่งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ลงชื่อค้ำประกันไว้นั้น ในข้อ 9 ของเอกสารดังกล่าวด้านหน้าได้ระบุถึงเรื่องดอกเบี้ยอันเกิดจากมูลหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ผู้ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตคือจำเลยที่ 1 ยอมชำระไว้ด้วยแต่มิได้ระบุอัตราไว้แต่อย่างใด ส่วนการทำสัญญาทรัสต์รีซีทต่อเนื่องจากคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตตามเอกสารหมาย จ.9 และ จ.11 นั้น จำเลยที่ 3 และที่ 4 มิได้ลงชื่อเป็นคู่สัญญาโดยตรง กรณีต้องถือว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยของมูลหนี้ที่ค้างชำระจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 แต่มิได้กำหนดอัตราไว้ซึ่งต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ดังนี้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 รับผิดในส่วนของดอกเบี้ยต่อโจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีโดยตลอดนั้นจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของทั้งโจทก์กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share