คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1738/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การซื้อขายสินค้าลูกโลกรายพิพาทนี้ จำเลยที่ 3 ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการและ ม. ผู้จัดการทั่วไปของโจทก์ ซึ่งเป็นผู้ติดต่อกับบุคคลภายนอกทราบระเบียบการจัดซื้อและจัดจ้างของส่วนราชการเป็นอย่างดี เชื่อว่า ม. ทราบว่าการจัดซื้อลูกโลกรายพิพาทนี้ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ แต่โจทก์เข้ามาเสนอขายลูกโลกให้แก่จำเลยที่ 3 ได้ทั้ง ๆ ที่เป็นการผิดระเบียบ แสดงว่า ม. สนิมสนมกับผู้บริหารของจำเลยที่ 3 เป็นอย่างดี และจำเลยที่ 3 ต้องทราบว่าโจทก์มีสินค้าตรงกับตัวอย่างที่นำไปเสนอประกวดราคาต่อกระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มิเช่นนั้นจำเลยที่ 3 คงไม่เสนอซื้อจากโจทก์ ยิ่งไปกว่านั้นการที่โจทก์ทำใบเสนอราคาโดยไม่มีรายละเอียดของสินค้าเป็นการชี้ให้เห็นชัดขึ้นอีกว่าคงจะได้พูดคุยรายละเอียดถึงคุณลักษณะของสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ด้วยวาจาแล้วอันเป็นการรู้กัน จึงน่าเชื่อว่าลูกโลกสินค้าตัวอย่างที่จำเลยที่ 3 นำไปแสดงต่อกระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นของโจทก์ การซื้อขายลูกโลกเป็นจำนวนมากในคราวเดียวกัน ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ ม. จะไม่สอบถามจำเลยที่ 3 ว่าซื้อไปขายให้แก่ใคร เชื่อว่า ม. ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 3 ซื้อลูกโลกไปขายให้แก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและประการสำคัญโจทก์ต้องดัดแปลงตัวสินค้าเปลี่ยนฐานและแกนลูกโลกเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก หากไม่แน่ใจว่าขายได้ย่อมเป็นการเสี่ยงแสดงให้เห็นว่าโจทก์กับจำเลยที่ 3 ต้องไว้ใจกันเป็นพิเศษ อันมีลักษณะช่วยเหลือและเอื้อเฟื้อกัน นอกจากนี้เมื่อโจทก์นำสินค้าไปส่งมอบแก่จำเลยที่ 3 คณะกรรมการตรวจรับสินค้าก็รับมอบสินค้าโดยไม่อิดเอื้อน ทั้ง ๆ ที่สินค้าไม่ตรงตามใบเสนอราคายิ่งแสดงให้เห็นว่ามีการพูดคุยกันแล้วล่วงหน้า เมื่อจำเลยที่ 3 ขอผัดผ่อนชำระราคา โจทก์ก็ยินยอม จนสุดท้ายจำเลยที่ 3 แจ้งว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวต้องการให้ทำมาตราส่วนที่แกนลูกโลกและขอให้เพิ่มแขวงใหม่ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โจทก์ก็ยินยอม ซึ่งการแก้ไขมีค่าใช้จ่ายไม่น้อย ทั้ง ๆ ที่โจทก์มีสิทธิที่จะไม่แก้ไข แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโจทก์และจำเลยที่ 3 กระทำการเอื้อประโยชน์ให้แก่กันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนราชการ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ชำระหนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 10,252,850 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 9,370,953 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระราคาสินค้าลูกโลก ซึ่งเป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนที่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ซื้อไปจากโจทก์ รวมเป็นเงิน 10,252,850 บาท ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การดำเนินการของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นโดยจำเลยที่ 2 เพื่อให้ดำเนินกิจการทางการค้าเพื่อหารายได้ให้จำเลยที่ 2 มิได้มีฐานะเป็นนิติบุคคล โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 และพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ด้วยเหตุผลแห่งการวินิจฉัยว่า การซื้อขายลูกโลกระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 มีการเอื้อประโยชน์ให้แก่กันโดยมิชอบ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนด้วยเหตุเดียวกัน โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ตามฟ้อง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การซื้อขายลูกโลกระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 มีการเอื้อประโยชน์ให้แก่กันโดยมิชอบอันจะถือว่าโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประสงค์จะซื้อลูกโลกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 เซนติเมตร จำนวน 9,731 ลูก โดยการประกวดราคา จำเลยที่ 3 ไปยื่นซองประกวดราคาด้วยและเป็นผู้ชนะการประกวดราคาจำเลยที่ 3 จึงทำสัญญาซื้อลูกโลกจากโจทก์ในจำนวนดังกล่าว ราคาลูกละ 900 บาท เพื่อจัดส่งให้กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โจทก์ส่งมอบลูกโลกให้แก่จำเลยที่ 3 ครบถ้วนแล้ว แต่กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไม่ยอม รับมอบสินค้าอ้างว่าจำเลยที่ 3 ส่งมอบสินค้าไม่ตรงกับตัวอย่างที่นำไปแสดงและต่อมาได้ยกเลิกสัญญาซื้อขายกับจำเลยที่ 3 สำหรับประเด็นที่โจทก์ฎีกา โจทก์มีนายมนตรี ผู้จัดการทั่วไปของโจทก์เบิกความว่า เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2543 เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ติดต่อไปยังพยานว่าต้องการซื้อสินค้า 7 ถึง 8 รายการ รวมทั้งลูกโลกด้วย เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ให้พยานนำตัวอย่างลูกโลกไปให้ดู พยานจึงนำลูกโลกที่จะขายไปให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 คือ นายอัศวินดู นายอิศวินถามว่าสามารถจัดทำลูกโลกที่มีแกนเป็นโลหะได้หรือไม่ และในประเทศไทยสามารถทำฐานและแกนโลหะได้หรือไม่ พยานจึงให้นายบุญเลิศ ทำตัวอย่างฐานและแกนโลหะแล้วนำไปให้นายอิศวินดูจนพอใจ ต่อมาเดือนสิงหาคม 2543 จำเลยที่ 3 แจ้งพยานว่าประสงค์จะซื้อลูกโลกกับแผนที่ ให้ทำใบเสนอราคาไปอีกครั้ง พยานจึงทำใบเสนอราคาลูกโลกไปใบละ 900 บาท เนื่องจากต้องนำเข้าจากดินแดนไต้หวันประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนและยังต้องเปลี่ยนเป็นฐานและแกนโลหะ รวมทั้งต้องทำกล่องบรรจุ ต่อมาจำเลยที่ 3 แจ้งว่าประสงค์จะซื้อลูกโลกกับแผนที่ให้ทำใบเสนอราคาไปใหม่อีกครั้ง พร้อมระบุคุณลักษณะของลูกโลก กำหนดเวลาส่งสินค้าและกำหนดเวลาชำระราคา พยานจึงได้จัดทำใบเสนอราคาเสนอจำเลยที่ 3 ตามที่จำเลยที่ 3 ต้องการ ต่อมาโจทก์ได้ส่งมอบลูกโลกให้แก่จำเลยที่ 3 พร้อมฐานและแกนโลหะที่พยานสั่งนายบุญเลิศ ทำให้ ณ สำนักงานของจำเลยที่ 3 แต่สินค้าไม่เรียบร้อยได้มีการแก้ไขจนเรียบร้อยและจำเลยที่ 3 ได้รับมอบสินค้าในกำหนด โจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 3 ซื้อลูกโลกไปขายให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ส่วนจำเลยมีนางสาวอัญญ์รัชต์ พนักงานจัดซื้อและพัสดุของจำเลยที่ 3 เบิกความว่า นายอัศวินมีบันทึกถึงนายวรพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการภาคการเงินและบัญชีในขณะนั้นให้ฝ่ายจัดซื้อออกใบสั่งซื้อ นายวรพงษ์จึงสั่งการให้ฝ่ายจัดซื้อและพัสดุออกใบสั่งซื้อพร้อมขออนุมัติซื้อในคราวเดียวกันโดยมีข้อความว่า ขอด่วนไว้ด้วย ซึ่งเป็นการผิดขั้นตอนและระเบียบที่จะต้องเสนอผู้อำนวยการของจำเลยที่ 3 ให้อนุมัติคำสั่งซื้อก่อนฝ่ายจัดซื้อและพัสดุจึงจะออกใบสั่งซื้อ พยานตรวจดูใบเสนอราคาของโจทก์แล้วไม่ได้ระบุคุณลักษณะของสินค้า จึงโทรศัพท์ขอรายละเอียดจากโจทก์แล้วแจ้งให้นางมันทนา ผู้บังคับบัญชาของพยานทราบ นางมันทนาปรึกษากับนางผกากรองซึ่งเป็นหัวหน้าส่วน นางผกากรองโทรศัพท์ทักท้วงไปยังนายวรพงษ์ นายวรพงษ์ยืนยันคำสั่งเดิมให้ฝ่ายจัดซื้อและพัสดุออกใบสั่งซื้อตามที่นายอัศวินทำบันทึกสั่งการ ในวันเดียวกันโจทก์ได้ส่งโทรสารใบเสนอราคาระบุคุณลักษณะของสินค้ามาให้พยาน พยานจึงตั้งรหัสสินค้าและออกใบสั่งซื้อเสนอขออนุมัติซื้อ ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติว่า การซื้อขายรายพิพาทนี้ จำเลยที่ 3 ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ ได้ความจากนายขจร พยานโจทก์ว่า ครอบครัวของพยานประกอบกิจการขายเครื่องเขียนและหนังสือในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัด พรานนกวิทยาเซลล์ สำนักพิมพ์พรานนกวิทยา และโจทก์ นายมนตรีจะเป็นผู้ติดต่อกับบุคคลภายนอกทั้งสามกิจการ ครอบครัวของพยานซึ่งได้แก่นายมนตรีบิดาพยาน นางสุนีย์ มารดาพยาน ค้าขายกับจำเลยที่ 3 มาประมาณ 20 ปี สินค้าทั่วไปส่วนใหญ่จะขายส่งให้ร้านค้าทั่วไป แต่ลูกโลกและแผนที่จะขายให้แก่ส่วนราชการ โดยเฉพาะแผนที่จะขายให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย แสดงให้เห็นว่าครอบครัวของนายมนตรีค้าขายกับส่วนราชการมาเป็นเวลานาน จึงเชื่อว่านายมนตรีทราบระเบียบการจัดซื้อและจัดจ้างของส่วนราชการเป็นอย่างดี และเชื่อว่านายมนตรีทราบว่าการจัดซื้อลูกโลกรายพิพาทนี้ ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ แต่ที่โจทก์เข้ามาเสนอขายสินค้าให้แก่จำเลยที่ 3 ได้ทั้ง ๆ ที่เป็นการผิดระเบียบ แสดงว่านายมนตรีสนิทสนมกับผู้บริหารของจำเลยที่ 3 เป็นอย่างดี ข้อเท็จจริงรับฟังได้ต่อไปว่า ในวันที่จำเลยที่ 3 ยื่นซองประกวดราคาต่อกระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำเลยที่ 3 ได้นำลูกโลกไปแสดงเป็นตัวอย่างด้วย ปรากฏว่าลูกโลกที่นำไปแสดงฐานและแกนทำด้วยโลหะตรงกับที่กระทรวง ศึกษาธิการ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ต้องการ จำเลยที่ 3 จึงชนะการประกวดราคา หลังจากนั้นโจทก์ก็ได้รับการติดต่อสั่งซื้อลูกโลกจากจำเลยที่ 3 แสดงว่าจำเลยที่ 3 ต้องทราบว่าโจทก์มีสินค้าตรงกับตัวอย่างที่นำไปเสนอประกวดราคา มิเช่นนั้นจำเลยที่ 3 คงไม่เสนอซื้อจากโจทก์ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อโจทก์ทำใบเสนอราคาในครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2543 และครั้งที่ 2 โจทก์ไม่ได้ระบุคุณลักษณะในใบเสนอราคาซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติในการเสนอราคาสินค้าที่ต้องระบุคุณลักษณะของสินค้าเพื่อผู้ซื้อจะได้พิจารณาตัวสินค้าว่าตรงกับที่ตนต้องการซื้อหรือไม่ มีราคาเหมาะสมหรือไม่ การที่โจทก์ทำใบเสนอราคาโดยไม่มีรายละเอียดของสินค้าเป็นการชี้ให้เห็นชัดขึ้นอีกว่า คงจะได้พูดคุยรายละเอียดถึงคุณลักษณะของสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ด้วยวาจาแล้วอันเป็นการรู้กัน จึงน่าเชื่อว่าลูกโลกซึ่งเป็นสินค้าตัวอย่าง ที่จำเลยที่ 3 นำไปแสดงต่อกระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นสินค้าของโจทก์ ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 3 ซื้อสินค้าไปขายให้แก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพราะบริษัทโจทก์ตั้งขึ้นภายหลังจำเลยที่ 3 ไปประกวดราคานั้นฟังไม่ขึ้น เนื่องจากครอบครัวของนายมนตรีค้าขายกับจำเลยที่ 3 มานาน แม้โจทก์จะเพิ่งจัดตั้งขึ้นแต่ก็มีนายมนตรีเป็นผู้จัดการทั่วไปมีหน้าที่ติดต่อกับบุคคลภายนอก จึงไม่มีปัญหาที่นายมนตรีจะจัดหาลูกโลกตัวอย่างให้จำเลยที่ 3 นำไปแสดงต่อกระทรวง ศึกษาธิการ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทั้งการซื้อขายลูกโลกคดีนี้ซื้อขายกันเป็นจำนวนมากในคราวเดียวกันในราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินถึง 9,370,953 บาท จึงย่อมเป็นไปไม่ได้ที่นายมนตรีจะไม่สอบถามจำเลยที่ 3 ว่าซื้อไปขายให้แก่ใคร เชื่อว่านายมนตรีทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 3 ซื้อลูกโลกไปขายให้แก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและประการสำคัญสินค้าที่โจทก์มีและเสนอขายแก่จำเลยที่ 3 ไม่ตรงกับที่จำเลยที่ 3 ต้องส่งมอบให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โจทก์ต้องดัดแปลงตัวสินค้าคือ ต้องเปลี่ยนฐานและแกนของลูกโลกจากพลาสติกเป็นโลหะ ซึ่งโจทก์ต้องว่าจ้างนายบุญเลิศ เป็นผู้จัดทำฐานและแกนโลหะถึง 10,000 ชุดรวมถึงทำสกรูว์สำหรับยึดและต้องจัดหากล่องใส่ของดังกล่าว ยิ่งเป็นการผิดปกติวิสัยของการจัดซื้อสินค้าที่ควรจะซื้อสินค้าที่ตรงตามความต้องการไม่ใช่ซื้อสินค้าที่ต้องดัดแปลง เพราะการดัดแปลงตัวสินค้าย่อมทำให้ได้สินค้ามีคุณลักษณะและคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน ทั้งการที่โจทก์ต้องดัดแปลงสินค้าทำให้เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก หากไม่แน่ใจว่าขายได้ย่อมเป็นการเสี่ยงจึงยิ่งแสดงให้เห็นว่า โจทก์กับจำเลยที่ 3 ต้องไว้วางใจกันเป็นพิเศษ อันมีลักษณะช่วยเหลือและเอื้อเฟื้อกัน นอกจากนี้เมื่อโจทก์นำสินค้าไปส่งมอบแก่จำเลยที่ 3 คณะกรรมการตรวจรับสินค้าก็รับมอบสินค้าโดยไม่อิดเอื้อน ทั้ง ๆ ที่สินค้าที่โจทก์ส่งมอบไม่ตรงตามใบเสนอราคาของโจทก์ยิ่งแสดงให้เห็นว่า มีการพูดคุยกันแล้วล่วงหน้า นอกจากนี้ยังได้ความจากนายมนตรีอีกว่าหลังจากส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยที่ 3 แล้ว จำเลยที่ 3 ขอผัดผ่อนชำระราคา โจทก์ก็ยินยอมโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์เรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 3 จนสุดท้ายจำเลยที่ 3 แจ้งว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ต้องการให้ทำมาตราส่วนที่แกนลูกโลกและขอให้เพิ่มแขวงใหม่ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในแผนที่บนลูกโลก โจทก์ก็ยินยอมที่จะแก้ไขให้ ซึ่งการแก้ไขย่อมมีค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อย ทั้ง ๆ ที่โจทก์มีสิทธิที่จะไม่แก้ไข แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โจทก์และจำเลยที่ 3 กระทำการเอื้อประโยชน์ให้แก่กันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนราชการ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ชำระหนี้ได้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share