คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6683/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจมีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ ดังนั้น โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) สิทธิของโจทก์ในการเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่ค้างชำระจึงมีอายุความ 2 ปี
ตามสัญญาซื้อขายกระแสไฟฟ้า จำเลยที่ 1 จะต้องชำระค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนทุกเดือน ค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระในเดือนพฤษภาคม2538 ต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2538 อันเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้เป็นต้นไป เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่ากระแสไฟฟ้าที่ค้างชำระเมื่อวันที่ 28มกราคม 2542 เกินกำหนด 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ และโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายกระแสไฟฟ้าจากโจทก์เพื่อใช้ในกิจการห้องเย็นและผลิตอาหารกระป๋องของจำเลยที่ 1 ที่ถนนท่าเทียบเรือองค์การสะพานปลาโดยมีจำเลยที่ 2 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกัน ต่อมาในปี 2538 จำเลยที่ 1 ค้างชำระค่ากระแสไฟฟ้าเดือนพฤษภาคม มิถุนายนและกรกฎาคม เดือนละ 14,112 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 42,336 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 64,063บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 42,336 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า เมื่อประมาณกลางปี 2538 จำเลยที่ 1 หยุดประกอบกิจการจึงไม่ได้ใช้กระแสไฟฟ้าและได้แจ้งบอกเลิกการซื้อขายกระแสไฟฟ้ากับโจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ค้างชำระค่ากระแสไฟฟ้า จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด โจทก์มีฐานะเป็นพ่อค้าประกอบอาชีพในการจัดหาให้ได้มา และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า ดังนั้น โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2542 เรียกค่ากระแสไฟฟ้าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2538 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 14,112 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2538 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คงมีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เพียงว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี หรือไม่ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247 ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อขายกระแสไฟฟ้าจากโจทก์ โดยตกลงชำระค่ากระแสไฟฟ้าเป็นรายเดือนทุก ๆ เดือน มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ต่อมาจำเลยที่ 1 ค้างชำระไฟฟ้าขั้นต่ำประจำเดือนพฤษภาคม 2538เป็นเงิน 14,112 บาท เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคฯ พ.ศ. 2503มาตรา 6 บัญญัติว่า “ให้จัดตั้งการไฟฟ้าขึ้นเรียกว่า “การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ (1) ผลิต จัดให้ได้มา จัดส่ง และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า (2) ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือโจทก์ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจมีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าและดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ ดังนั้น โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (ก) สิทธิเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระจึงมีกำหนด 2 ปี หาใช่มีอายุความ 10 ปี ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมา ตามสัญญาซื้อขายกระแสไฟฟ้า จำเลยที่ 1 จะต้องชำระค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนทุก ๆ เดือนดังนั้น ค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระในเดือนพฤษภาคม 2538 ต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2538 อันเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้เป็นต้นไป โจทก์ฟ้องเรียกค่ากระแสไฟฟ้าที่ค้างชำระเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2542เกินกำหนด 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share