คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6981/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเพิกถอนพินัยกรรมทั้งหมดหรือบางส่วนโดยผู้ทำพินัยกรรมนั้น กฎหมายกำหนดวิธีการไว้ 4 กรณี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1694 ถึง 1697 คือ ทำพินัยกรรมฉบับหลังขึ้นมาเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อน การทำลายหรือขีดฆ่าพินัยกรรมด้วยความตั้งใจ การโอนหรือทำลายทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรมด้วยความสมัครใจ และการทำพินัยกรรมฉบับหลังมีข้อความขัดกันกับพินัยกรรมฉบับก่อน การที่ผู้ตายทำหนังสือยืนยันรับรองเอกสารแม้จะมีเจตนาเพื่อเพิกถอนหรือไม่รับรองพินัยกรรมที่ทำไว้แล้ว แต่เมื่อหนังสือยืนยันรับรองนั้นไม่มีลักษณะเป็นพินัยกรรมแล้ว ย่อมไม่มีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมที่ทำไว้แต่อย่างใด

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องและขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เว้นแต่ที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๑๑๗ ตำบลหนองจอก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ให้เฉพาะผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๐๓ ตำบลหนองจอก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษาแก้เป็นว่าให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ยกคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้าน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า ผู้ตายทำพินัยกรรม ๔ ฉบับ คือ พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองลงวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๓๘ พินัยกรรมลงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ และพินัยกรรมลงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๐ อีก ๒ ฉบับ ต่อมาในวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๐ ผู้ตายทำหนังสือยืนยันรับรองให้ใช้พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองฉบับลงวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๓๘ กับยกเลิกพินัยกรรมฉบับลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๐ รุ่งขึ้นวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๐ ผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้คัดค้านฎีกาว่าข้อความในหนังสือยืนยันรับรองดังกล่าวที่ระบุให้พินัยกรรมของผู้ตายฉบับใดมีผลใช้บังคับได้และฉบับใดไม่มีผลใช้บังคับนั้น คือการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของผู้ตายจึงเป็นพินัยกรรมของผู้ตาย เห็นว่า หนังสือยืนยันรับรองดังกล่าว ไม่มีถ้อยคำที่ระบุว่าเป็นพินัยกรรมและไม่มีข้อความอันเป็นคำสั่งเผื่อตายแต่อย่างใด ข้อความที่ระบุในข้อ ๒ ให้พินัยกรรมฝ่ายเมืองฉบับแรกซึ่งทำไว้ที่อำเภอเมืองถือเป็นหนังสือพินัยกรรมที่ใช้ได้ และข้อ ๓ ข้อความที่ไม่รับรองเอกสารซึ่งผู้ตายลงลายมือชื่อไว้เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๐ และขอยกเลิกเอกสารดังกล่าว เป็นเรื่องการยืนยันและเพิกถอนพินัยกรรมของตนที่ได้ทำไว้เท่านั้น หาใช่มีลักษณะเป็นพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔๖ ไม่ ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนกรณีว่าหนังสือยืนยันรับรองดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับได้หรือไม่นั้น เห็นว่า พินัยกรรมมีผลตั้งแต่ผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตายเป็นต้นไป ผู้ทำพินัยกรรมจะเพิกถอนพินัยกรรมของตนเสียทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในเวลาใดก็ได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๙๓ แต่ในการเพิกถอนพินัยกรรมนั้นกฎหมายกำหนดวิธีการที่ผู้ทำพินัยกรรมจะเพิกถอนพินัยกรรมของตนไว้ ๔ กรณี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๙๔ ถึง มาตรา ๑๖๙๗ คือ การทำพินัยกรรมฉบับหลังขึ้นมาเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อน การทำลายหรือขีดฆ่าพินัยกรรมด้วยความตั้งใจ การโอนหรือทำลายทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรมด้วยความสมัครใจ และการทำพินัยกรรมฉบับหลังมีข้อความขัดกันกับพินัยกรรมฉบับก่อน กฎหมายมิได้กำหนดวิธีการอื่นใดนอกจากนี้ให้มีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมได้ ฉะนั้น การที่ผู้ตายทำหนังสือยืนยันรับรองในข้อ ๓ ซึ่งมีข้อความว่า ไม่รับรองเอกสารฉบับลงวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๐ ที่มีผู้นำมาให้ลงชื่อ แม้จะแปลได้ว่าผู้ตายมีเจตนาเพื่อเพิกถอนหรือไม่รับรองพินัยกรรมลงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๐ เอกสารหมาย ร. ๑ และ ร. ๒ ของตนนั้น ไม่ว่าผู้ตายจะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์และสมัครใจกระทำหรือไม่ก็ตาม เมื่อหนังสือยืนยันรับรองเอกสารหมาย ร.ค. ๑ ไม่มีลักษณะเป็นพินัยกรรมดังที่วินิจฉัยมาแล้วจึงไม่มีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมเอกสารหมาย ร. ๑ และ ร. ๒ ได้ พินัยกรรมทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์และใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ วินิจฉัยว่าพินัยกรรมเอกสารหมาย ร. ๑ และ ร. ๒ มีผลใช้บังคับได้นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน…
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share