แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ประกันตนถูกนายจ้างเลิกจ้าง เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 ซึ่งผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ต่อไปอีก 6 เดือน คือถึงวันที่ 31 มกราคม 2544 สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 อนุมัติให้เป็นผู้ประกันตนต่อไปตามมาตรา 39 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 และให้ส่งเงินสมทบภายในวันที่ 1 ถึง 15 มีนาคม 2544 โจทก์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบแต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยปฏิเสธที่จะรับชำระเงินสมทบ ครั้นวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายดังนี้ สำนักงานประกันสังคมจะปฏิเสธจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีตายโดยอ้างว่าผู้ประกันตนถึงแก่ความตายหลังจากสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างเกิน 6 เดือน โดยผู้ประกันตนไม่ได้ส่งเงินสมทบหนึ่งเดือนภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนถึงแก่ความตายไม่ได้ เพราะโจทก์ได้แสดงความจำนงขอชำระเงินสมทบงวดแรกตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2544 แล้ว เป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมเองที่ไม่ยอมรับ สำนักงานประกันสังคมจึงต้องจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 587/2544 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2544 และพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีตายเป็นเงินค่าทำศพและเงินสงเคราะห์ตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 ฉบับลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2544 คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 587/2544 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2544 และให้จำเลยจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 ให้แก่โจทก์ โดยให้หักเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมงวดเดือนกุมภาพันธ์ 2544 ออกจากเงินที่ต้องจ่ายแก่โจทก์ด้วย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า นางสาวสุนันท์เคยเป็นลูกจ้างของบริษัท โพลาริส ชิปปิ้ง แอนด์ ทรานสปอร์ต จำกัด และเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 33 โดยจ่ายเงินสมทบมาตลอด เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2543 ผู้ประกันตนถูกรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนได้รับบาดเจ็บและได้รับการรักษาพยาบาลเรื่อยมา ต่อมานายจ้างเลิกจ้างผู้ประกันตนโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2543 วันที่ 27 ธันวาคม 2543 ผู้ประกันตนมอบอำนาจให้โจทก์สมัครเป็นผู้ประกันตนต่อไปตามมาตรา 39 สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 อนุมัติเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2544 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 และให้ส่งเงินสมทบภายในวันที่ 1 ถึง 15 มีนาคม 2544 ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2544 โจทก์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกันตนแสดงความจำนงขอส่งเงินสมทบ แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยปฏิเสธไม่รับโดยจะให้ชำระได้ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 15 มีนาคม 2544 ต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 ปฏิเสธการจ่ายประโยชน์ทดแทน อ้างว่าผู้ประกันตนถึงแก่ความตายภายหลังจากสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างเกินระยะเวลา 6 เดือน ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 38 โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้ประกันตนมิได้ส่งเงินสมทบหนึ่งเดือนภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนถึงแก่ความตาย จึงไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบหนึ่งเดือนภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนถึงแก่ความตาย อันจะพึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 หรือไม่ กรณีความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงเนื่องจากผู้ประกันตนสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างนั้น พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 38 วรรคสอง บัญญัติให้ผู้ประกันตนที่ได้ส่งเงินสมทบครบตามเงื่อนเวลาที่จะก่อให้เกิดสิทธิตามบทบัญญัติในลักษณะ 3 แล้วมีสิทธิตามกฎหมายในฐานะเป็นผู้ประกันตนต่อไปโดยอัตโนมัติอีก 6 เดือนนับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง และเมื่อครบกำหนด 6 เดือนนี้แล้ว ถ้าผู้ประกันตนประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อไป มาตรา 39 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้ประกันตนต้องแสดงความจำนงต่อสำนักงานประกันสังคมภายใน 6 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน เมื่อได้แสดงความจำนงถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในบทบัญญัติข้างต้นแล้วก็จะเป็นผู้ประกันตนต่อไปทันทีอย่างไม่ขาดตอน โดยผู้ประกันตนมีหน้าที่ตามมาตรา 39 วรรคสาม ที่จะต้องนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเดือนละครั้งภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปด้วย ส่วนสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีตายของผู้ประกันตนดังกล่าวจะเกิดขึ้นต่อเมื่อได้ปฏิบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขในบทบัญญัติมาตรา 73 แล้ว กล่าวคือ ภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่านางสาวสุนันท์ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบครบตามเงื่อนเวลาที่จะก่อให้เกิดสิทธิตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว ก็ย่อมมีสิทธิตามกฎหมายในฐานะเป็นผู้ประกันตนต่อไปอีก 6 เดือนนับแต่วันสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง (วันที่ 1 สิงหาคม 2543) โดยอัตโนมัติ นั่นคือ จะมีสิทธิเป็นผู้ประกันตนต่อไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2544 และเมื่อครบกำหนดนี้แล้ว นางสาวสุนันท์ผู้ประกันตนซึ่งประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อไปก็ได้ปฏิบัติตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง โดยยื่นแสดงความจำนงต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2543 ภายในกำหนด 6 เดือนนับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2543 อันเป็นวันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน และได้รับอนุมัติจากสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 ให้มีผลเป็นผู้ประกันตนต่อไปได้นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 นางสาวสุนันท์จึงเป็นผู้ประกันตนต่อไปทันทีนับแต่บัดนั้น ส่วนการที่มาตรา 39 วรรคสาม บัญญัติไว้ว่า ให้ผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่ง นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเดือนละครั้งภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายเพียงว่า ให้ผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบเดือนละครั้ง โดยให้นำส่งภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ซึ่งจะเป็นวันที่เท่าใดก็ได้แต่ต้องภายในวันที่ 15 มิได้กำหนดว่าจะต้องเริ่มนำส่งตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนถัดไปแต่อย่างใด ฉะนั้นการที่นางสาวสุนันท์ผู้ประกันตนซึ่งได้รับอนุมัติให้เป็นผู้ประกันตนต่อไปตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 ขอชำระเงินสมทบงวดแรกในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2544 จึงมีสิทธิกระทำได้ แม้ตามประกาศของผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 จะระบุไว้ในข้อ 1 ว่า ให้ชำระเงินสมทบภายในวันที่ 1 ถึง 15 มีนาคม 2544 ก็ไม่ตัดสิทธิของผู้ประกันตนที่จะขอชำระเงินสมทบประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2544 ภายในเดือนนั้นได้ การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยปฏิเสธไม่ยอมรับเงินสมทบจากผู้ประกันตนย่อมเป็นความผิดพลาดบกพร่องของฝ่ายจำเลยเอง และกรณีต้องถือว่านางสาวสุนันท์ผู้ประกันตนได้ปฏิบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขของมาตรา 73 ย่อมเกิดสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีตายแล้ว โจทก์ในฐานะมารดานางสาวสุนันท์ผู้ประกันตนซึ่งเป็นบุคคลที่มาตรา 73 ดังกล่าวกำหนดไว้ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีตายชอบที่จะได้รับเงินค่าทำศพและเงินสงเคราะห์จากกองทุนประกันสังคมตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.