คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6879/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของจำเลยอันเป็นพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งตามมาตรา 124 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เมื่อพิจารณาคำฟ้องประกอบกับสำเนาคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเอกสารท้ายฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องแล้ว พอถือได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่า ค. และ ง. ลูกจ้างไม่มาทำงานตั้งแต่วันที่ 14 ถึง 16 ตุลาคม 2542 ซึ่งเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่บึงกุ่ม ที่ 37/2542 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2542
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่บึงกุ่ม ที่ 37/2542 เรื่องเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2542
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างในคำฟ้องว่า นายสมควร และนายเสงี่ยม ลูกจ้างของโจทก์ทั้งสองละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกัน แต่ไม่ระบุว่าเป็นวันเดือนปีใด และโจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่าลูกจ้างทั้งสองคนดังกล่าวละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร รายละเอียดปรากฏตามสำเนาหนังสือเตือนเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 แต่เอกสารท้ายฟ้องดังกล่าวไม่ปรากฏว่าลูกจ้างทั้งสองคนละทิ้งหน้าที่เมื่อวันเดือนปีใดเช่นกัน ทำให้จำเลยไม่อาจต่อสู้คดีได้ จึงเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุมนั้น เห็นว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของจำเลยอันเป็นพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งตามมาตรา 124 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยบรรยายฟ้องว่าโจทก์ทั้งสองมิได้เลิกจ้างนายสมควรและนายเสงี่ยม แต่บุคคลทั้งสองไม่มาทำงานเอง เนื่องจากวันที่ 13 ตุลาคม 2542 โจทก์ทั้งสองเรียกประชุมพนักงานทุกคนเพื่อแก้ไขปัญหายุติข้อพิพาทให้สามัคคีปรองดองกัน พร้อมกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ แต่นายสมควรและนายเสงี่ยมไม่พอใจที่ถูกตำหนิ จึงออกจากที่ประชุมก่อนการประชุมเสร็จสิ้น โจทก์ทั้งสองให้พนักงานบัญชีเก็บบัตรลงเวลาทำงานของนายสมควรและนายเสงี่ยมไว้ และสั่งให้บุคคลทั้งสองมารายงานตัวต่อโจทก์ที่ 2 เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงาน แต่บุคคลทั้งสองไม่ยอมมาพบและไม่ยอมมาทำงาน เป็นกรณีที่ลูกจ้างทั้งสองละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุสมควร โจทก์ทั้งสองมิได้เลิกจ้างนายสมควรและนายเสงี่ยม การที่จำเลยมีคำสั่งที่ 37/2542 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2542 สั่งให้โจทก์ทั้งสองจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายสมควรและนายเสงี่ยมโดยอ้างว่าโจทก์ทั้งสองเลิกจ้างนายสมควรและนายเสงี่ยมจึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของจำเลย ดังนี้ พอถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้บรรยายฟ้องว่านายสมควรและนายเสงี่ยมไม่มาทำงานตั้งแต่วันที่ 14 ถึง 16 ตุลาคม 2542 ซึ่งเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงไม่เคลือบคลุม อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share