แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สามีโจทก์เอาที่ดินและห้องแถวซึ่งเป็นสินสมรสไปจดทะเบียนให้แก่บุตรซึ่งเกิดแต่ภริยาอื่นโดยเสน่หา และโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์นั้นมาเป็นของตนและกองมรดกของสามีได้ส่วนการเพิกถอนการให้ก็ต้องเพิกถอนทั้งหมด จะเพิกถอนเฉพาะส่วนหาได้ไม่
(อ้างฎีกาที่ 872/2508)
การใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์ของตนเป็นคดีไม่มีอายุความฟ้องร้องแม้จะเป็นเวลาช้านานสักปานใด และทราบเรื่องเมื่อใด เจ้าของยังมีสิทธิติดตามทรัพย์นั้นได้เสมอเว้นแต่กรณีจะต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382,1383 เจ้าของจึงจะหมดสิทธิติดตาม กรณีนี้จะนำเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 มาปรับใช้หาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายของนายโปเตี้ยนกาญจบุษย์ และอยู่กินด้วยกันตลอดมาจนกระทั่งนายโปเตี้ยน กาญจนบุษย์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2515 ระหว่างอยู่กินด้วยกัน เกิดสินสมรสคือที่ดินโฉนดเลขที่ 427 พร้อมด้วยห้องแถวสองห้องเมื่อนายโปเตี้ยน กาญจนบุษย์ถึงแก่กรรมแล้ว ทรัพย์รายนี้ชอบที่จะตกได้แก่โจทก์ 4 ใน 6 ส่วนแต่ปรากฏว่านายโปเตี้ยน กาญจนบุษย์ได้นำที่ดินและห้องแถวดังกล่าวไปจดทะเบียนยกให้จำเลยโดยเสน่หาตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2505 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์เพิ่งทราบความจริงเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2515 จึงขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้เพิกถอนนิติกรรมการยกให้ฉบับเลขที่ 30/1193 ลงวันที่ 6สิงหาคม 2505 ระหว่างนายโปเตี้ยน กาญจนบุษย์ ผู้ให้นางประไพ ศิริชนะผู้รับให้ ให้จำเลยแบ่งทรัพย์พิพาทให้โจทก์ 4 ใน 6 ส่วน ราคา 40,000 บาทถ้าจำเลยไม่ยอมแบ่ง ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยถ้าไม่อาจแบ่งได้ ให้เอาทรัพย์ออกขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งให้โจทก์4 ใน 6 ส่วน
จำเลยให้การว่า โจทก์จะได้จดทะเบียนสมรสกับนายโปเตี้ยน กาญจนบุษย์หรือไม่จำเลยไม่รับรอง นายโปเตี้ยนบิดาจำเลยจดทะเบียนยกทรัพย์รายพิพาทให้จำเลยก็โดยจำเลยได้ชำระหนี้แทนบิดาและส่งเสียเลี้ยงดูบิดาจนถึงแก่กรรมตลอดจนจัดการศพเสร็จ เป็นการโอนโดยมีค่าตอบแทน นายโปเตี้ยน กาญจนบุษย์โอนทรัพย์รายนี้ให้แก่จำเลยตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2505 การที่โจทก์และผู้โอนอยู่ต่อมาโดยความยินยอมของจำเลยให้ครอบครองแทนจำเลย หากฟังว่าโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายโปเตี้ยน กาญจนบุษย์ โจทก์ก็จะได้ส่วนแบ่งในสินสมรสเพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น ส่วนอีกกึ่งหนึ่งย่อมตกเป็นของจำเลยเพราะเป็นการยกกรรมสิทธิ์ในส่วนของเจ้ามรดกให้แก่จำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่งอนึ่ง โจทก์ฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมอันเป็นโมฆียะกรรม แต่โจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน 1 ปีนับแต่วันรู้หรืออาจให้สัตยาบันได้ และโจทก์รู้อยู่แล้วตั้งแต่โอนกรรมสิทธิ์ เพราะอยู่บ้านพิพาทกับบิดาจำเลย ทั้งระยะเวลาแห่งการทำนิติกรรมรายนี้ได้ล่วงเลยมาเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันโอนกรรมสิทธิ์ สิทธิฟ้องร้องของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 143 และ 164 ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดชี้สองสถาน ทนายจำเลยแถลงรับว่าโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายโปเตี้ยน กาญจนบุษย์ ผู้ตายจริง และทรัพย์รายพิพาทเป็นสินสมรสได้มาขณะที่โจทก์และผู้ตายยังอยู่กินร่วมกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้เพิกถอนนิติกรรมยกให้ฉบับเลขที่ 30/1193 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2505 ให้แบ่งทรัพย์พิพาทให้โจทก์ 4 ใน 6 ส่วน ถ้าแบ่งไม่ได้ให้เอาทรัพย์พิพาทขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งให้โจทก์ 4 ใน 6 ส่วน
จำเลยฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติจากคำรับและการนำสืบของคู่ความ และที่มิได้โต้เถียงกันว่า นายโปเตี้ยน กาญจนบุษย์ เป็นสามีชอบด้วยกฎหมายของโจทก์คนทั้งสองได้อยู่กินด้วยกันตลอดมาจนกระทั่งนายโปเตี้ยน กาญจนบุษย์ถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2515 ทรัพย์สินพิพาทตามฟ้องเป็นสินสมรสได้มาในระหว่างที่โจทก์และนายโปเตี้ยน กาญจนบุษย์ สามีอยู่กินร่วมกัน แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2505 สามีโจทก์ได้โอนยกที่ดินแปลงนี้ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย โดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ จำเลยเป็นบุตรนายโปเตี้ยน กาญจนบุษย์ผู้ตายซึ่งเกิดจากภริยาอื่น ขณะถึงแก่กรรมผู้ตายมีทายาท 3 คน คือ โจทก์ จำเลย และนางกีโฮ้ยพี่สาวต่างมารดาของจำเลยอีกคนหนึ่ง
คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาขึ้นมาดังนี้
(1) นายโปเตี้ยนยกที่ดินและเรือนพิพาทตามฟ้องให้แก่จำเลยโดยเสน่หาหรือว่าโอนโดยมีค่าตอบแทน และจะเพิกถอนได้หรือไม่
(2) คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องตามมาตรา 164 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่
สำหรับประเด็นข้อ 1 ฟังได้ว่า นายโปเตี้ยน กาญจนบุษย์ ได้ยกที่ดินพิพาทรวมทั้งเรือนที่ปลูกอยู่ในที่ดินทั้งหมดให้แก่จำเลยโดยเสน่หา เมื่อทรัพย์สินที่ยกให้โดยเสน่หาเป็นสินสมรสและนายโปเตี้ยน กาญจนบุษย์ ก็ไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นภริยาฉะนี้แล้ว จึงเป็นเรื่องโอนไปโดยไม่มีอำนาจ ในกรณีเช่นนี้ภริยาย่อมใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินนั้นมาเป็นของโจทก์และกองมรดกได้ส่วนการเพิกถอนก็ต้องเพิกถอนทั้งหมด จะเพิกถอนเฉพาะส่วนดังจำเลยฎีกาหาได้ไม่ เทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 872/2508
สำหรับประเด็นข้อ 2 เมื่อคดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินนั้นมาเป็นของโจทก์และกองมรดกดังได้วินิจฉัยมาแล้ว จึงเป็นคดีไม่มีอายุความฟ้องร้อง แม้จะเป็นเวลาช้านานสักปานใด และทราบเรื่องเมื่อใด โจทก์ในฐานะภริยาและมีส่วนในกองมรดกก็ยังมีสิทธิติดตามทรัพย์นั้นได้เสมอ เว้นแต่กรณีจะต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382,1383 โจทก์จึงจะหมดสิทธิติดตามเอาคืนและจะนำเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 มาปรับใช้แก่คดีนี้หาได้ไม่ โดยเป็นคนละเรื่องกัน
พิพากษายืน