คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 176/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตัวแทนที่จะต้องรับผิดตามสัญญาแต่ลำพังจะต้องเป็นตัวแทนที่ทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าร่วมขนถ่ายสินค้าและทำให้สินค้าเสียหาย ดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายดังกล่าว
ผู้ขนส่งได้รับสินค้าไว้จากผู้ส่ง ณ ต้นทางในสภาพเรียบร้อยแต่ความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่ง จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าของเรือที่ขนส่งสินค้าจึงต้องรับผิดเพื่อความเสียหายดังกล่าว จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นตัวแทนจำเลยที่ 5 ได้ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 5 ตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยที่ 6 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 5 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 824
เหตุที่จะไม่นำข้อจำกัดความรับผิดมาใช้ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 60 ต้องเป็นเรื่องที่ผู้ขนส่งมีความบกพร่องอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่รวมถึงการประมาทเลินเล่อธรรมดา เมื่อเหตุที่สินค้าเสียหายมิได้เกิดจากการที่จำเลยที่ 5 ที่ 6 หรือตัวแทนกระทำหรืองดเว้นกระทำการโดยเจตนาที่จะให้เกิดการเสียหาย หรือโดยละเลย หรือไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าการเสียหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้หรือไม่ซึ่งจะตกอยู่ในบังคับมาตรา 60 (1) จำเลยที่ 5 และที่ 6 จึงได้รับประโยชน์โดยผลของกฎหมายในการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2546 บริษัทกระดาษสหไทย จำกัด (มหาชน) ได้สั่งซื้อสินค้า คือ ลูกกลิ้งสำหรับทำกระดาษ จำนวน 6 อัน ราคา 23,100 ปอนด์สเตอร์ลิง จากบริษัทเดวิด เบนลี่ย์ จำกัด ในประเทศอังกฤษ โดยผู้ซื้อได้เอาประกันภัยสินค้าไว้ต่อโจทก์ ผู้ขายที่ประเทศอังกฤษได้ส่งมอบสินค้าให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ในสภาพเรียบร้อย จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้นำสินค้าบรรทุกลงเรือฮุนได เยนเนอรัล ณ ท่าเรือประเทศอังกฤษ โดยจำเลยที่ 1 ได้ออกใบตราส่งอันเป็นหลักฐานการขนส่งให้ผู้ขายและจำเลยที่ 3 ออกใบตราส่งให้จำเลยที่ 1 เมื่อเรือมาถึงเมืองพอร์ทคลาง ประเทศมาเลเซีย ได้มีการขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือและนำไปบรรทุกลงเรือสินาร์ บาลี ซึ่งมีจำเลยที่ 5 เป็นเจ้าของ หลังจากนั้นจำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 6 ตัวแทนได้ออกใบตราส่งให้จำเลยที่ 3 เรือสินาร์ บาลี เดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพในวันที่ 17 กรกฎาคม 2546 จากนั้นจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 ในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 6 ในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 5 ได้ร่วมกันขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือมาไว้ในคลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย แต่จำเลยทั้งสามไม่ได้ใช้ความระมัดระวังให้ดีพอทำให้ลังที่บรรจุสินค้าตกลงมากระแทกพื้น เป็นเหตุให้ลูกกลิ้งเกิดความเสียหาย 1 อัน คิดเป็นเงิน 304,457.49 บาท โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อตามสัญญาประกันภัยแล้วเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2546 และได้บอกกล่าวทวงถามเรียกค่าสินไหมทดแทนไปยังจำเลยทั้งหก แต่จำเลยทั้งหกเพิกเฉย ขอให้ยังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 304,457.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 กันยายน 2546 คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 16,174.30 บาท รวมเป็น 320,631.79 บาท และให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 304,457.49 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับจ้างจากผู้ส่งหรือผู้ขายให้ขนส่งสินค้า ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 3 ขนส่งสินค้าแทน โดยมีเงื่อนไขการขนส่งแบบ ซีเอฟเอส/ซีเอฟเอส ผู้ส่งของนำสินค้ามาส่งให้จำเลยที่ 3 ที่ท่าเรือต้นทาง จำเลยที่ 3 หรือตัวแทนเป็นผู้บรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ เมื่อเรือเดินถึงท่าเรือกรุงเทพ ผู้ขนส่งส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทย ตู้คอนเทนเนอร์และตราผนึกตู้อยู่ในสภาพเรียบร้อย ความเสียหายของสินค้าไม่ได้เกิดจากการละเลยหรือไม่เอาใจใส่หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดก็รับผิดไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือกิโลกรัมละสามสิบบาทต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้น แล้วแต่เงินจำนวนใดจะมากกว่า ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2และที่ 4 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่ได้ประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าทางทะเล แต่ประกอบกิจการเป็นผู้รับจัดการขนส่ง (FREIGHT FORWARDER) หรือเป็นเพียงตัวแทนในธุรกิจการรับขนทางทะเลเท่านั้นมิใช่เป็นผู้รับขน จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 เนื่องจากใบตราส่งเป็นสัญญาที่เกิดขึ้นในต่างประเทศและจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ออกหรือเข้าทำสัญญาแทนจำเลยที่ 1 ทั้งไม่ได้ร่วมหรือช่วยยกสินค้าจากเรือสินาร์ บาลี มาไว้ในคลังสินค้า หากจำเลยที่ 2 และที่ 4 ต้องรับผิดก็จำกัดความรับผิดโดยรับผิดไม่เกินข้อจำกัดความรับผิดตามกฎหมาย คือ กิโลกรัมละสามสิบบาทต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้น ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 5 ประกอบกิจการของส่งสินค้าทางทะเลและแต่งตั้งจำเลยที่ 6 เป็นตัวแทนเจ้าของเรือหรือตัวแทนผู้ขนส่ง ในการดำเนินงานเกี่ยวกับธุรกิจการรับขนของทางทะเล โดยรับผิดชอบในช่วงการขนส่งสินค้าจากท่าเรือเมืองพอร์ทคลาง ประเทศมาเลเซียไปยังปลายทางที่ท่าเรือกรุงเทพ โดยมีเงื่อนไขในการขนส่งแบบ เอฟซีเอส/เอฟซีเอส ผู้ขนส่งไม่เกี่ยวข้องหรือรู้เห็นเกี่ยวกับการบรรจุสินค้าลงในตู้คอนเทนเนอร์เพราะเป็นหน้าที่ของบริษัทดับบลิวเอสเอ ไลน์ (มาเลเซีย) จำกัด จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบบสลายของสินค้าพิพาท เมื่อเรือสินาร์ บาลี บรรทุกสินค้าเดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพ จำเลยที่ 6 ในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 5 พร้อมเจ้าหน้าที่ศุลกากรและเจ้าหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์พิพาทปรากฏว่าอยู่ในสภาพเรียบร้อย จำเลยที่ 5 ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการขนส่งถูกต้องครบถ้วนแล้ว เมื่อขนถ่ายสินค้าจำนวน 76 หีบห่อออกจากตู้คอนเทนเนอร์ จึงพบว่ามีหีบห่อเสียหาย 11 หีบห่อ รวมทั้งสินค้าลูกกลิ้งของโจทก์ 6 หีบห่อ โดยปรากฏว่าหีบห่อทั้ง 6 หีบห่อแตกหักทั้งหมด แต่หีบห่อหมายเลข 5 น้ำหนักสินค้าสุทธิ 1,895 กิโลกรัม ได้รับความเสียหาย จึงมีการทำบันทึกเป็นหลักฐานและนำเข้าเก็บในคลังสินค้า ความเสียหายของสินค้าลูกกลิ้ง 1 อัน มิใช่เกิดจากการขนถ่ายสินค้าและทำลังบรรจุสินค้าตกกระแทกพื้นแต่เกิดจากผู้ส่งหรือผู้ขายซึ่งเป็นผู้บรรจุสินค้าทำการบรรจุหีบห่อไม่แข็งแรงและไม่เหมาะกับสินค้า ทั้งการจัดวางสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ไม่เหมาะสม ความเสียหายไม่ได้เกิดจากความผิดหรือประมาทเลินเล่อของขนส่ง จำเลยที่ 5 และที่ 6 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่หากรับผิดก็จำกัดความรับผิดคือรับผิดไม่เกิน 56,850 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันชำระเงิน 202,971.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 8 กันยายน 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 16,174.20 บาท ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นตามที่โจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่าบริษัทกระดาษสหไทย จำกัด (มหาชน) ได้สั่งซื้อสินค้า คือ ลูกกลิ้งสำหรับทำกระดาษจำนวน 6 อัน รวมราคา 23,100 ปอนด์สเตอร์ลิง จากบริษัทเดวิด เบนลี่ย์ จำกัด ซึ่งอยู่ที่ประเทศอังกฤษโดยผู้ซื้อได้เอาประกันภัยสินค้าดังกล่าวในระหว่างการขนส่งไว้ต่อโจทก์ ตามกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลเอกสารหมาย จ.10 และผู้ขายได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ทำการขนส่งสินค้าดังกล่าวจากประเทศอังกฤษมายังประเทศไทย ผู้ขายได้มอบสินค้าให้จำเลยที่ 1 ในสภาพเรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 3 ทำการขนส่งต่อ ตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.2 และ จ.4 เมื่อเรือฮุนได เยนเนอรัล ขนส่งสินค้าจากประเทศอังกฤษมาถึงเมืองพอร์ทคลาง ประเทศมาเลเซีย ได้มีการขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือดังกล่าวแล้วนำบรรทุกลงเรือสินาร์ บาลี ของจำเลยที่ 5 ผู้ขนส่ง ซึ่งมีจำเลยที่ 6 เป็นตัวแทนในประเทศไทย เมื่อเรือดังกล่าวเดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพได้มีการขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือนำไปเก็บไว้ในคลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ต่อมาเมื่อผู้ซื้อไปขอรับสินค้า พบว่าลูกกลิ้งดังกล่าว 1 อัน ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 304,457.49 บาท ผู้ซื้อจึงได้เรียกร้องค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวจากโจทก์และโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อแล้วเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2546 ตามใบรับเงินค่าสินไหมทดแทนและรับช่วงสิทธิเอกสารหมาย จ.13
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ว่า จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายดังกล่าวหรือไม่ สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วยโดยวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนในการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 ในประเทศไทย จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในฐานะตัวแทนทำการแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศ และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 1 ตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ เห็นว่า ตัวแทนคนใดจะต้องรับผิดตามสัญญาแต่ลำพังนั้นจะต้องเป็นกรณีตัวแทนนั้นทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 824 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศก็ตามแต่ในข้อนี้ได้ความตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นและคำเบิกความของนายปราโมทย์ สว่างแจ้ง ผู้จัดการส่วนสินไหมของโจทก์พยานโจทก์เพียงว่า บริษัทเดวิด เบนลี่ย์ จำกัด ผู้ขายได้มอบสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้รับสินค้าแล้วได้นำสินค้าบรรทุกลงเรือ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ออกใบตราส่งไว้ ตามสำเนาใบตราส่งเอกหมาย จ.2 และ จ.4 โดยในขั้นตอนนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญารับขนของทางทะเลแทนจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ส่วนที่นายปราโมทย์ให้ถ้อยคำต่อไปว่าจากนั้นจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนทำสัญญาแทนและดำเนินการแทนจำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวการซึ่งมีภูมิลำเนาในต่างประเทศได้ร่วมกับจำเลยที่ 4 และที่ 6 ดำเนินการขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือเพื่อนำไปเก็บไว้ในคลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย แต่ในระหว่างขนถ่ายสินค้ามิได้ใช้ความระมัดระวังให้ดีเพียงพอในการขนถ่ายสินค้าเป็นเหตุให้ลังบรรจุสินค้าตกลงกระแทกพื้น ทำให้สินค้าเสียหายนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ตกลงทำสัญญากับผู้ใดแทนจำเลยที่ 1 ตัวการซึ่งจะทำให้จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามสัญญานั้น ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ให้การและนำสืบต่อสู้อยู่ว่า สำหรับการขนส่งสินค้าพิพาท จำเลยที่ 2 เข้าเกี่ยวข้องเพียงแค่รับแลกใบสั่งปล่อยสินค้าและใบตราส่ง กับแจ้งกำหนดการเรือเข้าเทียบท่าให้แก่ผู้รับตราส่งทราบโดยเป็นการดำเนินการทางเอกสารเท่านั้น จำเลยที่ 2 ไม่ได้เข้าร่วมขนถ่ายสินค้าพิพาทขึ้นจากเรือเพื่อนำไปเก็บไว้ในคลังสินค้าดังกล่าว ที่นายปราโมทย์ให้ถ้อยคำว่า จำเลยที่ 2 ได้เข้าร่วมขนถ่ายสินค้าดังกล่าวด้วยนั้น นายปราโมทย์ก็ไม่ได้เห็นเองทั้งได้เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า จำเลยที่ 2 จะเข้าร่วมกับจำเลยที่ 4 และที่ 6 นำสินค้าเข้าเก็บในคลังสินค้าอย่างไร หรือไม่ พยานไม่ทราบ ประกอบกับในข้อนี้โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบสนับสนุน กรณีจึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 เข้าร่วมขนถ่ายสินค้าและทำให้สินค้าเสียหายดังกล่าว ดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้นและกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยในอุทธรณ์ข้ออื่น ๆ ของจำเลยที่ 2 อีก เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
สำหรับจำเลยที่ 5 แม้จำเลยที่ 5 จะอ้างว่าจำเลยที่ 5 ตกลงทำการขนส่งสินค้าจากเมืองพอร์ทคลาง ประเทศมาเลเซีย มาท่าเรือกรุงเทพในเงื่อนไขการขนส่งระบบซีวาย/ซีวาย หรือ เอฟซีแอล/เอฟซีแอล กล่าวคือ ที่ท่าเรือกรุงเทพ เมื่อจำเลยที่ 5 ส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ไว้กับเจ้าหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยในสภาพเรียบร้อยแล้ว ความรับผิดของจำเลยที่ 5 ก็สิ้นสุดลง แต่จำเลยที่ 5 ก็ได้ให้การว่า ก่อนที่เรือจะเดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพ จำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 6 ตัวแทนในประเทศไทย และบริษัทดับบลิวเอสเอ ไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้รับตราส่งได้ตกลงกันขอเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเงื่อนไขการขนส่งที่ท่าปลายทางจากระบบ ซีวาย/ซีวาย หรือ เอฟซีแอล/เอฟซีแอล เป็นระบบ ซีเอฟเอส/ซีเอฟเอส โดยขอเปิดตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือแทนที่จะนำตู้คอนเทนเนอร์ไปเปิดที่สถานที่ของผู้รับตราส่ง จำเลยที่ 6 จึงจัดให้มีการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือกรุงเทพเพื่อขนถ่ายสินค้าเข้าเก็บไว้ในคลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อผู้รับตราส่งจะได้มาขอรับสินค้าต่อไป ดังนั้น ความรับผิดของจำเลยที่ 5 จึงยังไม่สิ้นสุดจนกว่าจำเลยที่ 5 จะได้ส่งมอบสินค้าไว้กับเจ้าหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 5 ได้ส่งมอบสินค้าไว้กับเจ้าหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยในสภาพเรียบร้อยแล้ว เหตุแห่งการเสียหายไม่ได้เกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าดังกล่าวอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 5 นั้น เห็นว่า ในข้อนี้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ได้ให้การว่า เมื่อสินค้ามาถึงท่าเรือกรุงเทพ จำเลยที่ 6 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 5 ได้จัดการให้มีการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ต่อหน้าศุลกากรและเจ้าหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งในขณะเปิดตู้คอนเทนเนอร์ดวงตราผนึกที่ปิดไว้ตลอดจนภายนอกของตู้คอนเทนเนอร์อยู่ในสภาพเรียบร้อย และเมื่อดำเนินการขนถ่ายสินค้าจำนวน 76 หีบห่อ ออกจากตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวจึงพบว่ามีหีบห่อได้รับความเสียหาย 11 หีบห่อ ซึ่งรวมทั้งสินค้าของผู้ซื้อ 6 หีบห่อด้วย จึงมีการสำรวจสินค้าทั้ง 6 หีบห่อ ปรากฏว่า หีบห่อที่บรรจุสินค้าทั้ง 6 หีบห่อแตกหักทั้งหมด แต่หีบห่อหมายเลข 5 น้ำหนักสุทธิลูกกลิ้ง 1,895 กิโลกรัม ได้รับความเสียหายจึงมีการทำบันทึกไว้เป็นหลักฐานและนำเข้าเก็บรักษาไว้ในคลังสินค้าหมายเลข 13 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 อุทธรณ์ว่า ขณะเจ้าหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยเปิดตู้คอนเทนเนอร์ สินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์ไม่ได้เสียหายจึงขัดแย้งและแตกต่างกับคำให้การของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ดังกล่าว ไม่ควรรับฟัง ทั้งโจทก์มีนายปราโมทย์เป็นพยานยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นและเบิกความประกอบว่า สินค้าได้รับความเสียหายตามรายการสำรวจสินค้าที่ออกโดยการท่าเรือแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.11 ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ดังกล่าว ยิ่งทำให้น่าเชื่อว่าความเสียหายดังกล่าวได้เกิดขึ้นก่อนที่เจ้าหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยจะได้รับมอบสินค้าไว้จากผู้ขนส่ง และตามรายการดังกล่าว โจทก์ได้ทำคำแปลยื่นมาด้วย โดยจำเลยที่ 5 และที่ 6 ไม่ได้คัดค้านโต้แย้งคำแปลงดังกล่าวซึ่งรายการสำรวจสินค้าดังกล่าวระบุเพียงว่า ลังแตกและตรวจสอบพบสินค้า 1 อันเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีข้อความระบุว่า ลังได้รับความเสียหาย และเมื่อตรวจสอบสินค้าภายในลังนั้นปรากฏว่า สินค้ามีสภาพดีดังที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 กล่าวอ้างในอุทธรณ์ ส่วนที่รายการดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าสินค้าได้รับความเสียหายด้วยนั้น นายกฤษณะ แก่นสูงเนิน พยานโจทก์ผู้ทำการสำรวจสินค้าดังกล่าวได้เบิกความยืนยันว่า สินค้าพิพาทจะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษเป็นตัวรีดกระดาษให้เรียบ การสำรวจสินค้าประเภทนี้จะต้องแกะหีบห่อออกตรวจดู ตามรายการสำรวจสินค้าเอกสารหมาย จ.11 ที่ระบุข้อความดังกล่าว ความจริงไม่มีการตรวจสอบสินค้า พยานได้ท้วงติงการออกเอกสารดังกล่าวแล้ว ชิบปิ้งซึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าของสินค้ารับว่าจะตามผู้ออกเอกสารมาแก้ไขให้ถูกต้อง และที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 อ้างว่าตาม TALLY SHEET เอกสารหมาย ล.1 ซึ่งเจ้าหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้จัดทำไว้ตอนเปิดตู้คอนเทนเนอร์ไม่มีข้อความระบุว่าสินค้าได้รับความเสียหาย นั้น เห็นว่า ตามเอกสารดังกล่าวก็มีหมายเหตุด้วยอักษรภาษาอังกฤษไว้ ทั้งจำเลยที่ 5 และที่ 6 ก็ไม่ได้นำเจ้าหน้าที่ผู้จัดทำเอกสารดังกล่าวมาเบิกความให้กระจ่างอันจะทำให้น่าเชื่อดังจำเลยที่ 5 และที่ 6 อ้าง ตามคำให้การของจำเลยที่ 5 และที่ 6 จำเลยที่ 5 และที่ 6 ก็ยอมรับว่าขณะเปิดตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวพบว่าหีบห่อสินค้าพิพาททั้ง 6 หีบห่อแตก แต่หีบห่อหมายเลข 5 ลูกกลิ้งได้รับความเสียหายดังกล่าวข้างต้น เมื่อกรณีรับฟังได้ว่าผู้ขนส่งได้รับสินค้าดังกล่าวไว้จากผู้ส่ง ณ ต้นทางในสภาพเรียบร้อย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าเหตุแห่งความเสียหายได้เกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าดังกล่าวอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่ง จำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดเพื่อความเสียหายดังกล่าว ส่วนที่จำเลยที่ 6 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 6 ไม่ได้ออกใบตราส่งเอกสารหมาย ล.7 จำเลยที่ 6 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าจากประเทศมาเลเซีย จำเลยที่ 6 เข้ามาเกี่ยวข้องกับการออกใบสั่งปล่อยสินค้าเมื่อเรือบรรทุกสินค้าเข้ามาในประเทศไทยแล้วในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 6 จึงเป็นเพียงตัวแทนผู้ขนส่ง มิใช่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่น จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 6 รับผิดในฐานะจำเลยที่ 6 เป็นตัวแทนทำสัญญาแทนจำเลยที่ 5 ตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศมิใช่ฟ้องขอให้จำเลยที่ 6 รับผิดในฐานะเป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่น ทั้งปรากฏตามสำเนาใบตราส่งเอกสารหมาย จ.6 ว่า จำเลยที่ 6 ได้ออกใบตราส่งในการขนส่งสินค้าพิพาทแทนจำเลยที่ 5 นอกจากนี้จำเลยที่ 6 ยังได้เข้ามาดำเนินการส่งมอบสินค้าแก่ผู้รับตราส่งแทนจำเลยที่ 5 ดังนี้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นตัวแทนจำเลยที่ 5 ได้ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 5 ตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยที่ 6 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 5 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 และที่ 6 มีว่า กรณีสินค้าได้รับความเสียหายดังกล่าวจะนำข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 ของพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาใช้บังคับได้หรือไม่ โดยจำเลยที่ 5 และที่ 6 อุทธรณ์ว่า การที่สินค้าเกิดความเสียหายมิได้เกิดจากการที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 ละเลยไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าการเสียหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้ จำเลยที่ 5 และที่ 6 จึงได้รับประโยชน์จากข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งดังกล่าว เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 60 บัญญัติว่า “การจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 มิให้ใช้บังคับแก่กรณีดังต่อไปนี้
(1) การสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลจากการที่ผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งกระทำหรืองดเว้นกระทำการโดยเจตนาที่จะให้เกิดการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า หรือโดยละเลยหรือไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้านั้นอาจเกิดขึ้นได้…” จะเห็นได้ว่า เหตุที่จะไม่นำข้อจำกัดความรับผิดมาใช้ในกรณีดังกล่าวต้องเป็นเรื่องที่ผู้ขนส่งมีความบกพร่องอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่รวมถึงการประมาทเลินเล่อธรรมดา ซึ่งในข้อนี้ นายปราโมทย์ พยานโจทก์ให้ถ้อยคำไว้เพียงว่า ในการขนถ่ายสินค้าเข้าเก็บในคลังสินค้า จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 มิได้ใช้ความระมัดระวังให้ดีพอ อาจเป็นเพราะเลือกผู้รับจ้างไม่ดี เป็นเหตุให้ลังบรรจุสินค้าตกลงกระแทกพื้น ทำให้สินค้าเกิดความเสียหาย โดยนายปราโมทย์ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด เรื่องดังกล่าวจึงเป็นเพียงความคาดเดาของพยานโจทก์ปากนี้เท่านั้น ส่วนจำเลยที่ 5 และที่ 6 ก็ไม่ได้นำสืบถึงว่าสินค้าเสียหายอย่างไร เพราะเหตุใด ตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ 5 และที่ 6 จึงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เหตุที่สินค้าเสียหายนั้น จำเลยที่ 5 ที่ 6 หรือตัวแทนได้กระทำ หรืองดเว้นกระทำการประการใด เป็นการกระทำหรืองดเว้นกระทำการโดยเจตนาที่จะให้เกิดการเสียหาย หรือโดยละเลย หรือไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าการเสียหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้หรือไม่ซึ่งจะตกอยู่ในบังคับแห่งมาตรา 60 (1) ดังกล่าวข้างต้น ดังนี้ จำเลยที่ 5 และที่ 6 ย่อมได้รับประโยชน์โดยผลของกฎหมายในการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 กรณีจึงนำข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 ดังกล่าวมาใช้บังคับได้และตามมาตรา 58 ดังกล่าว บัญญัติว่า ในกรณีที่ของซึ่งผู้ขนส่งได้รับมอบหมายเสียหายไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียงหนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือกิโลกรัมละสามสิบบาทต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้น แล้วแต่เงินจำนวนใดจะมากกว่า เมื่อสินค้าพิพาทคือลูกกลิ้งสำหรับทำกระดาษ 1 อัน ที่ได้รับความเสียหายดังกล่าวมีน้ำหนักสุทธิ 1,895 กิโลกรัม ตามสำเนาใบบรรจุหีบห่อเอกสารหมาย จ.9 จำเลยที่ 5 และที่ 6 จึงต้องรับผิดเป็นเงินเพียง 56,850 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากกว่าการคำนวณจากจำนวนเงินที่ต้องรับผิดหนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่งคือ 1 หีบห่อ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ข้อนี้ฟังขึ้น และเห็นว่า กรณีเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ และจำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้อุทธรณ์ซึ่งทำให้คำพิพากษามีผลเป็นที่สุดระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 กับที่ 3 ที่มิได้อุทธรณ์ด้วย จึงเห็นสมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 และที่ 3 ด้วย ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 56,850 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 8 กันยายน 2551 2546 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 5 และที่ 6 ชั้นนี้และระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share