แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาประนีประนอมยอมความที่กระทำต่อหน้าศาลและศาลพิพากษาตามยอมนั้น มิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทอย่างคดีธรรมดาที่ต้องพิจารณาสืบพยานกันจึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งกฎหมายที่ห้ามมิให้พิพากษาเกินคำขอหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องเพียงแต่ต้องตกลงกันในประเด็นแห่งคดีหรือเกี่ยวเนื่องกับประเด็นนั้นๆ หากข้อตกลงนั้นมิได้ฝ่าฝืนต่อกฎหมายแล้ว ศาลก็ต้องพิพากษาไปตามยอมไม่ต้องย้อนไปดูว่าเกินคำขอหรือไม่ โจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวทำสัญญาให้จำเลยทั้งสามถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินและตึกพิพาทแทน ได้ฟ้องจำเลยทั้งสามขอให้ยึดที่ดินและตึกพิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้โจทก์การที่คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโจทก์ได้รับเงินค่าเช่าที่ดินและตึกพิพาทตลอดชีวิตของโจทก์แทนเงินจากการขายทอดตลาดโดยโจทก์ยกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการตกลงกันในขอบเขตแห่งประเด็นในคดีหรือเกี่ยวเนื่องกับประเด็นในคดีแล้วคำพิพากษาตามยอมก็ไม่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเพราะเป็นการที่โจทก์ได้จำหน่ายที่ดินและตึกพิพาทตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 94 และไม่เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 และมาตรา 113 ศาลย่อมพิพากษาให้เป็นไปตามยอมได้ หมายเหตุ (โปรดดูฎีกาที่ 1848/2516,2170/2519 และ2487/2523)
ย่อยาว
มูลกรณีสืบเนื่องมาจาก เดิมโจทก์ จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกพิพาทแทนโจทก์ตามสัญญาแบ่งทรัพย์สินและหนังสือรับรองกรรมสิทธิ์ โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2และที่ 3 ศาลฎีกาพิพากษาคดีถึงที่สุดว่า หนังสือแบ่งทรัพย์สินเป็นสัญญาแบ่งที่ดินให้โจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าว และหนังสือรับรองกรรมสิทธิ์ก็เป็นการตั้งตัวแทนให้ถือกรรมสิทธิ์แทนคนต่างด้าวเป็นโมฆะ ไม่อาจบังคับตามคำขอท้ายฟ้องได้ ให้ยกฟ้องโจทก์นำสัญญาดังกล่าวมาฟ้องเป็นคดีนี้ขอให้ยึดที่ดินและตึกพิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่าสัญญาแบ่งทรัพย์สินทำขึ้นโดยเจตนาลวงเพื่อเอาใจโจทก์ไม่มีผลบังคับ เมื่อศาลฎีกาพิพากษาว่าสัญญาแบ่งทรัพย์สินและหนังสือรับรองกรรมสิทธิ์เป็นโมฆะ คู่สัญญาจึงกลับคืนสู่ฐานะเดิม ที่ดินและตึกแถวยังคงเป็นของบริษัทตั้งฮกไถ่ จำกัด ขอให้ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมรับตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาราคาที่ดินและตึกพิพาทเป็นของตนแต่ผู้เดียวหรือไม่
ก่อนสืบพยานคู่ความตกลงกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจำเลยที่ 1 ยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ภายใน 15 วัน และจำเลยที่ 2และที่ 3 จะไปจดทะเบียนการเช่าที่ดินและตึกพิพาทดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่ามีกำหนด 15 ปี นับแต่วันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ โดยยอมให้ค่าเช่าเป็นของโจทก์จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะใช้สิทธิรับเงินค่าเช่าเมื่อโจทก์ถึงแก่กรรมแล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า สัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกพิพาทให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนคำฟ้องโจทก์ขอให้ขายทอดตลาดที่ดินและตึกพิพาทนำเงินมาชำระให้โจทก์ แต่คู่ความกลับทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมให้โจทก์ได้ค่าเช่าจากที่ดินและตึกพิพาทแทน และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกพิพาทดังกล่าวโดยมิได้ฟ้องคดี เป็นการยอมความนอกประเด็นแห่งคดีและพิพากษาเกินคำขอ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลและศาลพิพากษาตามยอมนั้น มิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทอย่างคดีธรรมดาที่ต้องพิจารณาสืบพยานกัน จึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งกฎหมายที่ห้ามมิให้พิพากษาเกินคำขอหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เพียงแต่ต้องตกลงกันในประเด็นแห่งคดีซึ่งหมายรวมถึงที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นนั้น ๆ ด้วย หากข้อตกลงนั้นมิได้ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ศาลก็ต้องพิพากษาไปตามยอม ไม่ต้องย้อนไปดูว่าเกินคำขอในฟ้องหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ยึดที่ดินและตึกแถวพิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้โจทก์ เพราะจำเลยทั้งสามลงชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์ การที่คู่ความตกลงกันให้โจทก์ได้รับเงินค่าเช่าที่ดินและตึกพิพาทตลอดชีวิตของโจทก์แทนเงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวโดยโจทก์ยกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น เป็นข้อตกลงที่อยู่ในขอบเขตแห่งประเด็นในคดีหรือที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นในคดี โดยโจทก์ยินยอมรับเงินค่าเช่าแทนเงินที่ฟ้อง ทั้งคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวก็มิได้ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและคำพิพากษาฎีกาในคดีก่อน เพราะข้อตกลงของคู่ความในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลพิพากษาตามยอม จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้เป็นตัวแทนถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกพิพาทแทนโจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าว หรือโจทก์ซึ่งได้ที่ดินและตึกพิพาทมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ถือหรือใช้สิทธิในที่ดินและตึกพิพาทที่ได้มาอย่างเป็นเจ้าของ หากแต่โจทก์ได้จำหน่ายที่ดินและตึกพิพาทนั้นตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 94 ด้านการจำหน่ายกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงหาได้ฝ่าฝืนหรือขัดต่อประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 และมาตรา 113 ไม่ เพราะการได้มาซึ่งที่ดินและตึกพิพาทของโจทก์ตามสัญญาแบ่งทรัพย์สินท้ายฟ้องแม้จะเป็นโมฆะก็ตาม แต่ภายใต้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 94 คนต่างด้าวที่ได้ที่ดิน (และตึกพิพาท) มานั้นต้องจัดการจำหน่าย หรืออธิบดีกรมที่ดินใช้อำนาจจัดการจำหน่ายสัญญาประนีประนอมยอมความชอบแล้ว
พิพากษายืน