คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4204/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้มูลนิธิร็อกกี้เฟลเล่อร์ให้ทุนการศึกษาแก่จำเลยที่ 1โดยไม่ผ่านโจทก์และเป็นทุนที่ไม่มีเงื่อนไขผูกพันใด ๆรวมทั้งไม่ใช่วัตถุประสงค์ของมูลนิธิที่จะให้จำเลยที่ 1กลับมาปฏิบัติราชการชดใช้ทุนเป็นเวลา 2 เท่าของเวลาที่ลาไปศึกษา ก็หาใช่ข้อสำคัญไม่ เนื่องจากขณะที่จำเลยที่ 1 ขออนุมัติลาไปศึกษา ต่อนั้นจำเลยที่ 1 ยังรับราชการในสังกัดโจทก์ และจำเลยที่ 1 ก็ได้รับอนุมัติให้ลาไปศึกษาต่อโดยมีสิทธิได้รับเงินเดือนในระหว่าง ที่ลานั้น ก็ด้วยความประสงค์ของโจทก์ที่ว่า ต้องการให้จำเลยที่ 1กลับมาปฏิบัติราชการในสังกัดเดิมภายหลังเสร็จสิ้นการศึกษาแล้วหาเกี่ยวข้องกับมูลนิธิแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาได้รับทุนศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศกับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ตามสัญญาดังกล่าวนี้เงินทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมทั้งค่าเดินทางที่จ่ายให้อันเนื่องจากการศึกษาต่อนั้นไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การใด ก็รวมอยู่ในความหมายที่จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้คืนโจทก์ ฐานะเป็นค่าเสียหายเมื่อมีการผิดสัญญาเกิดขึ้น ซึ่งหมายถึงเงินทุน และค่าใช้จ่าย ๆ รวมตลอดทั้งค่าเดินทางที่มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ จ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 ในการลาศึกษาต่อนั้น หามีข้อยกเว้นในสัญญา ว่าให้ใช้เฉพาะกับผู้รับทุนซึ่งผ่านรัฐบาลไทยหรือโจทก์เท่านั่น การกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าหากมีการผิดสัญญาเกิดขึ้นเป็นข้อตกลง อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ เมื่อวัตถุประสงค์ของสัญญาเป็นที่ประจักษ์ ว่าเพื่อต้องการให้จำเลยที่ 1 กลับมาปฏิบัติราชการให้เกิดประโยชน์แก่สถาบันและประเทศชาติโดยรวม จึงเป็นการชอบธรรม และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาดังกล่าวจึงมีมูลหนี้ต่อกันบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ปฏิบัติราชการครบกำหนดตามสัญญา จึงต้องรับผิดตามสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์ จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมด้วยในฐานะผู้ค้ำประกัน โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดชอบค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1ทำไว้กับโจทก์ตามสัญญาเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง เป็นหลัก และสัญญาเอกสารท้ายฟ้องก็ระบุชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 ได้รับทุนการศึกษาของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเล่อร์จึงเป็นที่เข้าใจได้อยู่ในตัวว่า หาใช่ทุนของโจทก์ไม่ ดังนี้ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่ข้อเท็จจริงที่ต่างจากฟ้อง อันเป็นเหตุให้ยกฟ้อง จำเลยฎีกาเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนเหรียญสหรัฐเมื่อจำเลยมิได้ยกขึ้นเป็นข้ออุทธรณ์ในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นข้อมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบ ในศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโท ตำแหน่งอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ของโจทก์ ได้รับทุนของโจทก์เรียกชื่อว่า ทุนมูลนิธิร็อกกี้เฟลเล่อร์เพื่อไปศึกษาชั้นปริญญาเอก ประเทศสหรัฐอเมริกาจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ลาราชการไปศึกษา โดยจำเลยที่ 1 ทำสัญญากับโจทก์ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาแล้ว จำเลยที่ 1ต้องเข้าปฏิบัติราชการ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามเวลาไม่ต่ำกว่าสองเท่าของเวลาที่กำหนดให้ไปศึกษาหากจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาจำเลยที่ 1 ยอมชดใช้เงินเท่าจำนวนเงินเดือนและเงินเพิ่มที่ได้รับแล้วตลอดเวลาที่ไปศึกษาต่อ รวมทั้งเงินทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆค่าเดินทางที่รัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การใด ๆ ได้จ่ายไปในการที่จำเลยที่ 1 ไปศึกษาด้วย ถ้าจำเลยที่ 1 รับราชการไม่ครบกำหนดตามสัญญา จำเลยที่1ยอมชดใช้เงินดังกล่าวโดยหักเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติราชการไปแล้วออก จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ได้เดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาและกลับมาปฏิบัติราชการ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระยะหนึ่ง ต่อมาจำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการก่อนครบกำหนดเวลารับราชการใช้ทุนคืน เป็นการผิดสัญญา ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์มิได้เป็นผู้แทนหรือตัวแทนมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์มูลนิธิร็อกกี้เฟลเล่อร์ ไม่ใช่รัฐบาลต่างประเทศและหรือองค์การใด ๆ ทั้งมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ไม่เคยมอบทุนให้แก่โจทก์ การพิจารณาให้ทุนแก่ผู้ใดตั้งแต่เริ่มแรกก็ไม่ผ่านโจทก์มูลนิธิร็อกกี้เฟลเล่อร์เป็นผู้พิจารณาเองว่าจะมอบทุนแก่ผู้ใดเป็นจำนวนเท่าใด และจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับทุนเอง จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดด้วยเช่นกันมูลนิธิร็อกกี้เฟลเล่อร์มิได้หวังผลตอบแทนหรือมีข้อผูกพันใดกับผู้รับทุนทั้งสิ้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 656,856,.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน592,150.15 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน21,982.25 เหรียญสหรัฐ กับ 13,783.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงินแต่ยอดนับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ สำหรับเงินเหรียญสหรัฐอเมริกาให้คิดเป็นเงินไทยในอัตราแลกเปลี่ยน 26.17 บาท ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในขั้นแรกมีว่าจำเลยทั้งสองมีความผูกพันต้องรับผิดตามสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์หรือไม่ซึ่งจำเลยทั้งสองฎีกาว่า เมื่อทุนการศึกษาที่มูลนิธิร็อกกี้เฟลเล่อร์ออกให้แก่จำเลยที่ 1 ในโอกาสที่เดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศนั้น เป็นทุนอันปราศจากเงื่อนไขและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการขอทุนเอง ดังนั้น ข้อความที่ระบุไว้ในสัญญา ที่บังคับให้จำเลยที่ 1 ต้องกลับมาปฏิบัติราชการเป็นเวลาที่ 2 เท่าของเวลาที่ลาไปศึกษา จึงมิใช่วัตถุประสงค์ของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเล่อร์นอกจากนี้ตามสัญญาดังกล่าวเป็นแบบฟอร์มที่ใช้กับผู้รับทุนซึ่งผ่านรัฐบาลไทยหรือโจทก์เท่านั้นหาได้ใช้กับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขอทุนจากมูลนิธิเองไม่ เมื่อทุนการศึกษาดังกล่าวมิใช่เป็นของโจทก์และไม่ผ่านโจทก์ โจทก์จึงไม่มีส่วนได้เสียที่จะแสวงหาประโยชน์จากสัญญา เพื่อเรียกร้องให้จำเลยที่ 1รับผิดตามสัญญาได้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดด้วยเช่นกันนั้น เห็นว่า แม้การที่มูลนิธิร็อกกี้เฟลเล่อร์ให้ทุนการศึกษาแก่จำเลยที่ 1 โดยไม่ผ่านโจทก์ และเป็นทุนที่ไม่มีเงื่อนไขผูกพันใด ๆ รวมทั้งไม่ใช่วัตถุประสงค์ของมูลนิธิดังกล่าวที่จะให้จำเลยที่ 1 กลับมาปฏิบัติราชการชดใช้ทุนเป็นเวลา 2 เท่าของการศึกษาที่ลาไปศึกษาก็หาใช่ข้อสำคัญไม่ เนื่องจากขณะที่จำเลยที่ 1 ขออนุมัติลาไปศึกษาต่อนั้น จำเลยที่ 1 ยังรับราชการในสั่งโจทก์ และจำเลยที่ 1 ก็ได้รับการอนุมัติให้ลาไปศึกษาต่อโดยมีสิทธิรับเงินเดือนในระหว่างที่ลานั้นก็ด้วยความประสงค์ของโจทก์ว่า ต้องการให้จำเลยที่ 1 กลับมาปฏิบัติราชการในสังกัดเดิมภายหลังเสร็จสิ้นการศึกษาแล้ว หาเกี่ยวข้องกับมูลนิธิดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ ปัญหาอยู่ที่ว่า เมื่อจำเลยทั้งสองตกลงยินยอมเข้าทำสัญญากับโจทก์แล้ว สัญญานั้นผูกพันจำเลยทั้งสองให้ต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดหรือไม่ ซึ่งตามสัญญาข้อ 5 (ก) มีข้อความระบุว่า เมื่อเสร็จสิ้นการศึกษาแล้ว ให้ผู้รับทุนเข้าปฏิบัติราชการรวมเวลาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 เท่าของเวลาที่ลาศึกษา และสัญญาข้อ 5 (ข) มีข้อความว่า “ถ้าข้าพเจ้าผิดสัญญาข้อ 5 (ก) ข้าพเจ้าจะใช้ค่าเสียหายแก่ผู้รับสัญญาตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้ (1) ถ้าข้าพเจ้าไม่เข้ารับราชการหรือปฏิบัติราชการต่อไปเลย ข้าพเจ้าจะใช้เงินเท่าจำนวนเงินเดือน และเงินเพิ่มที่รับไปแล้วตลอดระยะเวลาที่ไปดูงาน ฝึกงาน หรือการศึกษา (ถ้ามี) และรวมทั้งเท่าจำนวนเงินทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตลอดทั้งเงินค่าเดินทางที่รัฐบาลไทยรัฐบาลต่างประเทศ และหรือองค์การใดได้จ่ายไปในการที่ข้าพเจ้าได้ไปดูงาน ฝึกงาน และหรือการศึกษานั้นอีกด้วย (2)”เห็นได้ว่าตามสัญญาฉบับนี้ เงินทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆรวมทั้งค่าเดินทางที่จ่ายให้อันเนื่องจากการศึกษาต่อเท่านั้นไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การใดก็รวมอยู่ในความหมายที่จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้คืนโจทก์ในฐานะเป็นค่าเสียหายเมื่อมีการผิดสัญญาเกิดขึ้น ซึ่งในที่นี้หมายถึงเงินทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมตลอดทั้งค่าเดินทางที่มูลนิธิร็อกกี้เฟลเล่อร์จ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 ในการลาไปศึกษาต่อนั้นหามีข้อยกเว้นในสัญญาว่าให้ใช้เฉพาะกับผู้รับทุนซึ่งผ่านรัฐบาลไทยหรือโจทก์เท่านั้นไม่ การกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า หากมีการผิดสัญญาเกิดขึ้นเช่นนี้ จึงเป็นข้อตกลงอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ เมื่อวัตถุประสงค์ของสัญญาเป็นที่ประจักษ์ว่า เพื่อต้องการให้จำเลยที่ 1 กลับมาปฏิบัติราชการให้เกิดประโยชน์แก่สถาบันและประเทศชาติโดยรวม จึงเป็นการชอบด้วยเหตุผลและความเป็นธรรม และไม่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด จึงมีมูลหนี้ต่อกันซึ่งมีผลบังคับกันได้ตามกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ปฏิบัติราชการครบกำหนดตามสัญญา จึงต้องรับผิดตามสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์ส่วนจำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดร่วมด้วยในฐานะผู้ค้ำประกัน ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
จำเลยทั้งสองฎีกาในข้อต่อไปว่า โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากฟ้องนั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 รับราชการในสังกัดโจทก์ได้รับทุนของโจทก์เรียกชื่อว่า “ทุนของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเล่อร์” เพื่อไปศึกษาในชั้นปริญญาเอก และจำเลยที่ 1ได้รับทำสัญญากับโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้องความว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจำเลยที่ 1 ต้องเข้ารับปฏิบัติราชการกับโจทก์เป็นเวลา 2 เท่าของเวลาที่ลาไปศึกษา หากผิดสัญญายอมใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเล่อร์หาใช่ได้รับทุนของโจทก์หรือผ่านโจทก์ไม่ดังนี้ เห็นว่า โจทก์มุ่งฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดชดเชยค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์ตามสัญญาเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องเป็นหลักฐานและสัญญาเอกสารท้ายฟ้องดังกล่าวก็ได้ระบุชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 ได้รับทุนของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเล่อร์จึงเป็นที่เข้าใจได้อยู่ในตัวว่าหาใช่ทุนของโจทก์ไม่ ดังนี้ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่ข้อเท็จจริงที่ต่างจากฟ้องอันเป็นเหตุให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นข้อสุดท้ายเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินเหรียญสหรัฐนั้น จำเลยทั้งสองมิได้ยกขึ้นเป็นข้ออุทธรณ์ในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก่เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน15,237.39 เหรียญสหรัฐ กับ 13,783.99 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินและยอดนับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ สำหรับเงินเหรียญสหรัฐให้คิดเป็นเงินไทยในอัตราแลกเปลี่ยน 26.17 บาท ต่อ 1 เหรียญสหรัฐให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ ชนะคดีในชั้นฎีกาแทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share