คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 466/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร พ.ศ.2499 มาตรา 24 และ29 เมื่อโจทก์จะย้ายที่อยู่เข้ามาอยู่ในบ้านที่ ย.เป็นเจ้าบ้าน ตามปกติ ย. จะต้องไปแจ้งการย้ายต่อนายทะเบียน โจทก์ซึ่งเป็นผู้ย้ายที่อยู่จะไปแจ้งการย้ายต่อนายทะเบียนท้องถิ่นก็ได้ แต่ต้องนำสำเนาทะเบียนบ้านไปแสดงต่อนายทะเบียนด้วย ซึ่งมีความหมายอยู่ในตัวว่าเจ้าบ้านยินยอมให้ย้ายเข้าได้นั่นเองจึงมอบทะเบียนบ้านให้ แต่เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนท้องถิ่น ขอย้ายเข้าบ้าน ย. โจทก์มีแต่ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ซึ่งไม่มีลายมือชื่อเจ้าบ้านผู้ยินยอมให้ย้ายเข้าไปแสดงไม่ปรากฏว่ามีสำเนาทะเบียนบ้านไปแสดงด้วย ทั้งนี้เพราะ ย. ได้ฟ้องขับไล่โจทก์ คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาล เช่นนี้ เป็นการเพียงพอที่นายทะเบียนฯ ปฏิเสธการรับแจ้งย้ายเข้าให้โจทก์ได้อยู่แล้วนายทะเบียนฯ ไม่รับแจ้งย้ายเข้าให้โจทก์ก็ไม่ถือว่าจำเลยหรือเจ้าหน้าที่ของจำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้แจ้งย้ายออกและย้ายทะเบียนบ้านออกจากบ้านหลังหนึ่งเพื่อเข้าอยู่บ้านอีกหลังหนึ่ง ซึ่งโจทก์ได้เช่าจากนายยุทธยง ลิ่มวานิชรัตน์ โจทก์จึงได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1ให้ทำหน้าที่รับแจ้งย้ายเข้าและจดทะเบียนภูมิลำเนาของโจทก์ แต่จำเลยไม่รับจดทะเบียนให้โจทก์ โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายโดยโจทก์ไม่อาจใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ และโจทก์เป็นบุคคลไม่มีภูมิลำเนา ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนการย้ายเข้าของโจทก์ และสั่งว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิหรือมีชื่อในบัญชีเลือกตั้งของแขวงป้อมปราบฯ ในคราวเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 4 เมษายน 2519 กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 500 บาท

จำเลยทั้งสองให้การและเพิ่มเติมคำให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง บ้านที่โจทก์ขอย้ายเข้าเป็นบ้านนายยุทธยง แต่โจทก์ไม่สามารถนำหลักฐานการเช่าหรือใบเสร็จรับเงินค่าเช่า หรือหนังสือรับรองยินยอมให้ย้ายเข้าจากนายยุทธยงมาแสดง โดยนายยุทธยงฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากบ้านดังกล่าวนายยุทธยงก็คัดค้านการย้ายเข้าของโจทก์ เจ้าหน้าที่ของจำเลยและจำเลยปฏิเสธไม่รับแจ้งย้ายเข้า จึงเป็นการกระทำโดยชอบ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ เรื่องการใช้สิทธิเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบก่อนวันเลือกตั้งแล้วว่าโจทก์ยังสามารถออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งได้ เรื่องเกี่ยวกับภูมิลำเนานั้น ภูมิลำเนาของบุคคลได้แก่ถิ่นอันบุคคลนั้นมีสถานที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญ ไม่ใช่ถือเอาหลักฐานทางทะเบียนบ้านอย่างเดียว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในชั้นนี้ โจทก์ฎีกาแต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายว่าจำเลยมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจดทะเบียนการบย้ายเข้าอยู่อาศัยในบ้านเลขที่ 162/1 ตามที่โจทก์ร้องขอหรือไม่ ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติได้ว่า บ้านเลขที่ 162/1 ถนนบริพัตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งให้เด็กชายนิธิพัฒน์ และเด็กชายนพพร โดยนายยุทธยงบิดาเช่า นายยุทธยงมีชื่อตามทะเบียนบ้านว่าเป็นเจ้าบ้าน เมื่อเดือนมิถุนายน 2518 โจทก์เข้าไปอยู่ร่วมกับนายยุทธยงในบ้านนี้ ครั้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2518 นายยุทธยง (ในนามของเด็กชายนิธิพัฒน์ และเด็กชายนพพร) ได้ฟ้องขับไล่ให้โจทก์ออกไปจากบ้านนี้ ต่อมาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2519 โจทก์ได้แจ้งย้ายออกจากบ้านเลขที่ 155 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร และไปแจ้งย้ายต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานทะเบียนเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2519 ว่าขอย้ายเข้าบ้านเลขที่ 162/1 ถนนบริพัตร เขตป้อมปราบฯ แต่โจทก์ไม่มีหลักฐานซึ่งแสดงว่าเจ้าบ้านหรือเจ้าของบ้านยินยอมให้ย้ายเข้าไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลย สำนักงานทะเบียนเขตป้อมปราบฯ ได้มีหนังสือหารือขึ้นไปตามลำดับ จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหนังสือชี้แจงมาตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.5 ว่าให้รอฟังคำพิพากษา ถ้าศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิอยู่อาศัยในบ้านที่จะขอย้ายเข้าได้ต่อไปก็ให้ปฏิบัติตามคำพิพากษารับแจ้งย้ายเข้าได้ แต่ถ้าศาลพิพากษาว่า ผู้แจ้งย้ายเข้าไม่มีสิทธิอยู่อาศัยในบ้านที่จะขอย้ายเข้าต่อไปอีกนายทะเบียนก็ไม่ต้องรับแจ้งย้ายเข้า นายทะเบียนเขตป้อมปราบฯ จึงแจ้งให้โจทก์ทราบหนังสือดังกล่าวและยังไม่รับจดทะเบียนให้โจทก์ย้ายเข้า เพราะคดีที่โจทก์ถูกฟ้องยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

ได้พิเคราะห์แล้ว ปรากฏว่าบ้านเลขที่ 162/1 ถนนบริพัตรนี้ ตามทะเบียนบ้านมีนายยุทธยงเป็นเจ้าบ้าน ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2499มาตรา 24 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 234 ลงวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2515 ข้อ 8 บัญญัติว่า “ให้เจ้าบ้านแจ้งการย้ายที่อยู่ต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งดังต่อไปนี้ (ก) ผู้อยู่ในบ้านย้ายที่อยู่ออกจากบ้านใดให้แจ้งไม่เกินสิบห้าวันนับแต่วันย้ายออก (ข) ผู้ใดย้ายที่อยู่เข้ามาอยู่ในบ้านใด ให้แจ้งภายในสิบห้าวันนับแต่วันย้ายเข้า เว้นแต่ (ค) การย้ายที่อยู่ตาม (ก) และ (ข) ผู้ย้ายที่อยู่จะไปแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่ไปอยู่ใหม่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันย้ายออกก็ได้ โดยเสียค่าธรรมเนียมห้าบาท และให้นำสำเนาทะเบียนบ้านที่เข้าไปอยู่ใหม่ไปแสดงต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง ฯลฯ” มาตรา 29 บัญญัติว่า “ในเขตเทศบาล ให้นายทะเบียนท้องถิ่นมอบสำเนาทะเบียนบ้านเก็บรักษาไว้ เมื่อมีการแจ้งคนเกิดตามมาตรา 11 การแจ้งคนตายตามมาตรา 14 หรือการแจ้งย้ายตามมาตรา 24 ให้เจ้าบ้านหรือผู้แทนนำไปให้นายทะเบียนท้องถิ่นลงรายการในสำเนาทะเบียนบ้านให้ถูกต้องตรงกับต้นฉบับทุกครั้ง ฯลฯ” และตามระเบียบสำนักงานกลางทะเบียนราษฎร กรมการปกครองว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2515ซึ่งผู้อำนวยการทะเบียนวางระเบียบไว้โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ข้อ 55 มีความว่า “เมื่อนายทะเบียนได้รับแจ้งว่ามีคนย้ายเข้ามาอยู่จากบ้านใด ให้ปฏิบัติดังนี้ ก.ในเขตเทศบาลให้นายทะเบียนท้องถิ่นดำเนินการดังนี้ (1) เรียกสำเนาทะเบียนบ้าน ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ตอนที่ 1และตอนที่ 2 และบัตรทะเบียนคน (ถ้ามี) จากผู้แจ้ง ฯลฯ” ดังนี้จะเห็นได้ว่าเมื่อโจทก์จะย้ายที่อยู่เข้ามาอยู่ในบ้านที่นายยุทธยงเป็นเจ้าบ้าน ตามปกตินายยุทธยงผู้เป็นเจ้าบ้านจะต้องเป็นผู้ไปแจ้งการย้ายต่อนายทะเบียนเองโจทก์ซึ่งเป็นผู้ย้ายที่อยู่จะไปแจ้งการ การย้ายต่อนายทะเบียนท้องถิ่นเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายก็ได้ แต่ต้องนำสำเนาทะเบียนบ้าน บ้านเลขที่ 162/1 นี้ไปแสดงต่อนายทะเบียนด้วย ซึ่งมีความหมายอยู่ในตัวว่าเจ้าบ้านยินยอมให้ย้ายเข้าได้นั่นเอง จึงมอบสำเนาทะเบียนบ้านให้ ได้ความว่าเมื่อโจทก์ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนท้องถิ่น เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ขอย้ายเข้าบ้านเลขที่ 162/1 นี้โจทก์มีแต่ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ซึ่งไม่มีลายมือชื่อเจ้าบ้านผู้ยินยอมให้ย้ายเข้าไปแสดงไม่ปรากฏว่ามีสำเนาทะเบียนบ้านไปแสดงด้วย ทั้งนี้ ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นเพราะนายยุทธยงเจ้าบ้านในนามของบุตรซึ่งเป็นผู้เช่าบ้านหลังนี้ได้ฟ้องขับไล่โจทก์และคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลนั่นเอง ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ก็เป็นการเพียงพอที่นายทะเบียนจะปฏิเสธการรับแจ้งย้ายเข้าให้โจทก์ได้อยู่แล้ว ถึงแม้ว่าเมื่อนายทะเบียนทราบจากโจทก์ว่าโจทก์กำลังถูกฟ้องขับไล่ดังกล่าวนั้น จึงหารือจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 หารือต่อไปยังจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยทั้งสองแจ้งมาว่า ในกรณีที่เจ้าของบ้าน (ที่ถูกเจ้าบ้าน) กำลังฟ้องขับไล่ผู้แจ้งย้ายเข้าตามที่หารือไปนั้นต้องรอฟังคำพิพากษาของศาลก่อน ถ้าคดีถึงที่สุด ศาลพิพากษาว่าผู้แจ้งย้ายเข้ามีสิทธิอยู่อาศัยในบ้านที่จะขอย้ายเข้าได้ต่อไปก็ให้ปฏิบัติตามคำพิพากษารับแจ้งย้ายเข้าได้ เพราะถือว่าเป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษา แต่ถ้าศาลพิพากษาว่าผู้แจ้งย้ายเข้าไม่มีสิทธิอยู่อาศัยในบ้านนั้นต่อไปอีก นายทะเบียนก็ไม่ต้องรับแจ้งย้ายเข้า นายทะเบียนท้องถิ่นเขตป้อมปราบฯจึงยังไม่รับแจ้งย้ายเข้าให้แก่โจทก์ ดังนี้ ก็ไม่อาจถือว่าจำเลยหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหายตามฟ้องอยู่นั่นเอง ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าบุคคลต้องมีถิ่นที่อยู่แน่นอนอันเป็นภูมิลำเนาตามกฎหมายโดยอ้างมาตรา 44 และมาตรา 48 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การเลือกภูมิลำเนากับการทะเบียนราษฎรนั้นเป็นคนละเรื่องกัน แม้โจทก์จะอ้างเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่ในพฤติการณ์แห่งคดีนี้ กล่าวคือโจทก์มีภูมิลำเนาอยู่แห่งอื่น ได้เข้ามาอยู่ร่วมกับนายยุทธยงในบ้านซึ่งนายยุทธยงเป็นเจ้าบ้าน ครั้นโจทก์เกิดพิพาทกับนายยุทธยง และนายยุทธยงฟ้องขับไล่โจทก์แล้ว โจทก์กลับไปแจ้งย้ายออกจากบ้านซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมและมาแจ้งขอย้ายเข้าบ้านซึ่งนายยุทธยงเป็นเจ้าบ้าน โดยนายยุทธยงไม่ได้ให้ความยินยอม ทั้งโจทก์ยังขอให้ขีดชื่อนายยุทธยงกับครอบครัวออกจากทะเบียนบ้านเสียอีกด้วย เช่นนี้ กฎหมายมิได้มีเจตนารมณ์ที่จะบังคับให้นายทะเบียนจำต้องดำเนินการให้ตามที่โจทก์ร้องขอ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

พิพากษายืน

Share