คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3789/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวงพ.ศ. 2501 มีวัตถุประสงค์ในการจัดให้ได้มาและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครอันเป็นกิจการสาธารณูปโภคโดยได้รับทุนในการดำเนินการจากงบประมาณแผ่นดินและทรัพย์สินของโจทก์ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีการที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าไฟฟ้าจากจำเลยผู้ใช้กระแสไฟฟ้าจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการค้าเรียกค่าสินค้าตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(1)(7) ที่จะต้องใช้อายุความ 2 ปี แต่เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปมีกำหนด 10 ปี ตามมาตรา 193/30โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ปัญหาที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยไม่ได้บรรยายโดยชัดแจ้งว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมอย่างไร แต่กลับบรรยายโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ถึงเรื่องการคำนวณค่าไฟฟ้าของโจทก์ว่าเป็นการรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์ฝ่ายเดียวไม่ถูกต้อง จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงเมื่อคดีมีทุนทรัพย์พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 77,785.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 27,395.48 บาท และดอกเบี้ยในต้นเงิน 77,785.71 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยได้ชำระให้โจทก์ครบถ้วนแล้วคดีโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่า 2 ปี นับแต่วันที่จำเลยค้างชำระ ทั้งฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 77,785.71 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 กันยายน 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ยกเอาข้อบังคับการไฟฟ้านครหลวงว่าด้วยการใช้ไฟฟ้าและบริการ พ.ศ. 2535 ข้อ 44 มาวินิจฉัยในการพิจารณาเรื่องอายุความเป็นการไม่ชอบ เพราะข้อบังคับนี้นำมาใช้บังคับหลังจากโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยแก้เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าถึง 10 ปี คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังซึ่งไม่ถูกต้องและโจทก์ดำเนินธุระกิจค้ากระแสไฟฟ้าเพื่อหวังหาผลกำไร ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ค้าเรียกค่าสินค้าที่ขายอันจะพึงได้รับจากการขายกระแสไฟฟ้าจากจำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1)(7) โจทก์ต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 2 ปี แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2536 เป็นระยะเวลาเกิน 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่า ในการวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนแล้วว่า โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจและเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501มีวัตถุประสงค์ในการจัดให้ได้มาและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าอันเป็นกิจการสาธารณูปโภคได้รับทุนในการดำเนินการจากงบประมาณแผ่นดิน จำเลยเป็นผู้ใช้กระแสไฟฟ้าของโจทก์ผ่านเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่ ไอ – 2902 ซึ่งติดตั้งที่บ้านเลขที่ 97 ตรอกไทร ถนนผดุงด้าว แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เดือนมิถุนายน2526 เป็นต้นมา ต่อมาโจทก์ตรวจพบว่ามีการแก้ไขเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าดังกล่าว เป็นเหตุให้เครื่องวัดแสดงค่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าต่ำกว่าความเป็นจริงทำให้โจทก์เรียกเก็บค่าไฟฟ้าจากจำเลยผิดพลาดไปมาก ที่ถูกต้องนับแต่เดือนมิถุนายน 2526 ถึงวันที่ 7 กรกฎาคม2531 จำเลยใช้ไฟฟ้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 176,000 บาท แต่จำเลยชำระค่าไฟฟ้าเพียงบางส่วน ยังคงค้างอีก 77,785.71 บาท ดังนี้ จะเห็นได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2501 มีวัตถุประสงค์ในการจัดให้ได้มาและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค โดยได้รับทุนในการดำเนินการจากงบประมาณแผ่นดินและทรัพย์สินของโจทก์ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าไฟฟ้าจากจำเลยผู้ใช้กระแสไฟฟ้า จึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการค้าเรียกค่าสินค้าตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1)(7) ที่จะต้องใช้อายุความ 2 ปี แต่เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป มีกำหนด 10 ปี ตามมาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน2536 ยังไม่พ้นกำหนดดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อสุดท้ายมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ปัญหานี้จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ชัดแจ้งว่า ในสามเดือนสุดท้ายก่อนมีการแก้ไขเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าจำเลยใช้ไฟฟ้าเป็นมูลค่าเดือนละเท่าใด คิดอัตราอย่างไรถึงได้ค่าเฉลี่ยเดือนละ 868 หน่วย คิดหน่วยละเท่าใด มีการตรวจสอบสถิติการใช้ไฟฟ้าของจำเลยเมื่อใด และทำไมจึงทราบว่าจำเลยใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าความเป็นจริง โดยพยานโจทก์ต่างเบิกความตามแนวคิดของตนฝ่ายเดียว ทั้งการคิดค่าไฟฟ้าตามเอกสารหมาย จ.6ของโจทก์ก็ไม่ถูกต้อง เห็นว่า ฎีกาจำเลยปัญหานี้มิได้บรรยายโดยชัดแจ้งว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมอย่างไร แต่กลับบรรยายโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ถึงเรื่องการคำนวณค่าไฟฟ้าของโจทก์ว่าเป็นการรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์ฝ่ายเดียวไม่ถูกต้อง ฎีกาจำเลยข้อนี้จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อคดีมีทุนทรัพย์พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายืน

Share