แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างสมัครใจเข้าร่วมโครงการลาออกด้วยความสมัครใจของจำเลยผู้เป็นนายจ้างซึ่งมีข้อความว่าข้าพเจ้าขอสละสิทธิและขอปลดเปลื้องบริษัทจากข้อเรียกร้องทั้งปวงความรับผิดข้อเรียกร้องและมูลคดีที่ข้าพเจ้าหรือบุคคลอื่นโดยการเรียกร้องผ่านข้าพเจ้าซึ่งเคยมีกำลังมีหรืออาจเรียกร้องให้มีได้ในอนาคตต่อบริษัทฯลฯทั้งยังมีข้อความตามบันทึกอีกว่าเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ตามโครงการดังกล่าวเป็นเงินทุกประเภทที่จำเลยต้องจ่ายให้แก่โจทก์ย่อมหมายความว่าการที่จำเลยยอมจ่ายเงินให้โจทก์ตามโครงการการลาออกด้วยความสมัครใจนั้นได้รวมเงินทุกประเภทที่โจทก์อาจเรียกร้องจากจำเลยได้อยู่แล้วข้อตกลงที่ว่าโจทก์จะไม่เรียกร้องผลประโยชน์ใดๆจากจำเลยอีกเพราะจำเลยได้จ่ายเงินที่โจทก์พึงจะได้รับตามกฎหมายให้แก่โจทก์หมดแล้วซึ่งไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมมีผลบังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยได้โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกผลประโยชน์ใดๆจากจำเลยอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2527 จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ได้รับเงินเดือนสุดท้ายเดือนละ20,410 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือนจำเลยให้โจทก์ทำงานในทะเลรอบละ 14 วัน วันละ 12 ชั่วโมงตั้งแต่เวลา 6 นาฬิกา ถึง 18 นาฬิกา โดยกำหนดเป็นเวลาทำงานตามปกติ 8 ชั่วโมง และการทำงานล่วงเวลาอีก 4 ชั่วโมงจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2537ระหว่างทำงานกับจำเลยนั้น จำเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานและสัญญาจ้างหลายประการในเรื่องวันหยุดตามประเพณีที่จำเลยจัดให้มีปีละ14 วัน แต่เมื่อวันหยุดตามประเพณีวันใดตรงกับวันหยุดของโจทก์จำเลยไม่ให้โจทก์หยุดชดเชย แต่ให้โจทก์ทำงานในรอบการทำงานของโจทก์ตามปกติโดยไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่โจทก์ การที่จำเลยให้โจทก์ทำงานเกินกว่า 14 วัน ตามสัญญานั้นเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ต้องทำงานหนักขึ้นทำให้สุขภาพทรุดโทรมขาดรายได้จากธุรกิจที่โจทก์ทำให้ช่วงหยุดพักโจทก์ขอคิดค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย นอกจากนี้จำเลยยังให้โจทก์ทำงานล่วงเวลาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ต้องทำงานหนักขึ้นไม่ได้พักผ่อนเท่าที่ควรทำให้สุขภาพทรุดโทรมเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 186,449.27 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่จังหวัดสงขลาได้รับเงินเดือนสุดท้ายเดือนละ 220,410 บาท กำหนดจ่ายทุกวันที่15 และวันสิ้นเดือนจำเลยให้โจทก์ทำงานในทะเลอ่าวไทยรอบละ 14 วัน และหยุดพักบนฝั่ง 14 วัน ทำงานวันละ 12 ชั่วโมง เป็นเวลาทำงานปกติ8 ชั่วโมง และล่วงเวลา 4 ชั่วโมงจำเลยไม่เคยเลิกจ้างโจทก์ตามฟ้องจำเลยมีโครงการลาออกด้วยความสมัครใจโดยให้พนักงานที่เต็มใจจะเกษียณอายุก่อนกำหนดแจ้งความจำนงกับจำเลย เพื่อขอเกษียณอายุโดยจำเลยจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนให้จำนวนหนึ่ง โจทก์ได้แสดงความจำนงขอลาออกด้วยความสมัครใจตามใบสมัครสัญญาการลาออกและตกลงในการปลดเปลื้องหนี้สินและความรับผิดชอบอาจจะพึงมีต่อจำเลย สำหรับในเรื่องการทำงานของโจทก์นั้นตามระเบียบการทำงานของจำเลยในเรื่องวันหยุดมีระบุไว้ว่า จำเลยแยกข้อบังคับการทำงานลักษณะงาน และสถานที่เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานเป็นข้อบังคับในการทำงานของพนักงานบนฝั่งและนอกฝั่ง โดยสำหรับบนฝั่งนั้นจะหยุดวันเสาร์และวันอาทิตย์ ส่วนพนักงานนอกฝั่งจะหยุดวันเสาร์สองเสาร์ และวันอาทิตย์สองอาทิตย์ซึ่งให้รวมอยู่ในวันหยุดช่วงพักบนฝั่ง 14 วัน ของแต่ละคน ซึ่งการกำหนดวันหยุดดังกล่าวจำเลยได้รับอนุญาตจากกรมแรงงานให้เลื่อนวันหยุดประจำสัปดาห์ได้ ส่วนสำหรับวันหยุดตามประเพณีนั้น จำเลยได้กำหนดไว้ตามกฎหมายแต่ในกรณีของพนักงานบนฝั่งหากวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ให้นับวันทำงานถัดไปเป็นวันหยุดชดเชย และข้อบังคับดังกล่าวนี้ไม่ใช่บังคับกับพนักงานนอกฝั่ง การทำงานของโจทก์นั้นเป็นพนักงานนอกฝั่งเป็นงานต่อเนื่องจึงให้ทำงานกันตลอด 24 ชั่วโมง มีความจำเป็นต้องกำหนดวันทำงานของโจทก์ทุกวันตลอดเวลา 14 วัน โดยให้มีวันหยุดบนฝั่ง 14 วัน ดังนั้น หากมีวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดบนฝั่งโจทก์ก็ได้หยุดอยู่แล้ว และเชื่อว่าวันหยุดตามประเพณีจะไม่ตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ ดังนั้นจึงไม่ต้องเลื่อนวันหยุดตามประเพณีไปหยุดในวันทำงานถัดไป การทำงานใน 14 วัน ของโจทก์จึงเป็นการทำงานในวันปกติ จำเลยได้มีระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเช่นนี้ไว้ ทั้งยังมีหนังสือยืนยันความเห็นจากอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานไว้ด้วย ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยจ่ายเงินค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดแต่อย่างใด จำเลยไม่ได้ให้โจทก์ทำงานเกิน 14 วัน ตามสัญญา เนื่องจากสถานที่ทำงานของโจทก์อยู่นอกฝั่งต้องมีการเดินทางระหว่างฝั่งจากจังหวัดสงขลา ไปยังฐานขุดเจาะนอกฝั่ง ในวันแรกของการทำงานโจทก์จะเริ่มทำงานสายกว่าปกติและทำงานไม่ครบ 12 ชั่วโมง ตามสัญญา ส่วนในวันที่ 15 นั้นเป็นวันเดินทาง หากจะมีงานที่จะต้องทำก็เป็นงานที่จะทำเพื่อชดเชยชั่วโมงการทำงานของวันแรกเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามในบันทึกเวลาตามระเบียบของจำเลย โจทก์ลงบันทึกในวันเวลาเพียง 14 วัน จึงถือว่าไม่มีการทำงานในวันหยุด จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดตามที่โจทก์เรียกร้อง การที่จำเลยให้โจทก์ทำงานตามที่ได้ตกลงไว้ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ไม่ถือว่าทำให้โจทก์เสียหายที่จะต้องทำงานหนักขึ้น ทั้งการทำงานของโจทก์ก็เป็นการทำงานตามข้อตกลงในสัญญาที่โจทก์สมัครใจยินยอมปฏิบัติที่โจทก์อ้างว่าสุขภาพทรุดโทรมและขาดรายได้จากธุรกิจก็ไม่เป็นความจริงเนื่องจากโจทก์มีวันหยุดพักติดต่อกันถึง 14 วัน โจทก์ไม่สามารถนำคดีนี้มาฟ้องจำเลยได้ เนื่องจากโจทก์ได้เข้าโครงการลาออกด้วยความสมัครใจ โจทก์ยังได้สละสิทธิเรียกร้องและประนีประนอมกับจำเลย โดยยินยอมสละสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่กับจำเลยตามกฎหมาย และอื่น ๆ ซึ่งในโครงการลาออกด้วยความสมัครใจดังกล่าวจำเลยได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์ไปเป็นจำนวน590,894.91 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2527 เงินเดือนสุดท้ายเดือนละ 20,410 บาทกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือน จำเลยมีโครงการให้พนักงานที่จะเต็มใจเกษียณอายุก่อนกำหนด ซึ่งเป็นโครงการลาออกด้วยความสมัครใจ เป็นการให้โอกาสพนักงานที่เต็มใจจะเกษียณอายุก่อนกำหนดได้รับเงินค่าตอบแทนจำนวนหนึ่ง พนักงานที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ จะต้องยื่นใบสมัครภายในเวลาที่กำหนด ต้องผ่านการคัดเลือกจากจำเลย แล้วจำเลยจะพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนให้ในเบื้องต้นคนละ6 เท่า ของอัตราเงินเดือนสุดท้ายต่อไปก็จะพิจารณาค่าตอบแทนให้อีกโดยคำนวณตามอายุการทำงานปีละ 1 เท่า ของอัตราเงินเดือนสุดท้ายซึ่งถือได้ว่าเป็นค่าตอบแทนที่มีจำนวนสูงมาก แต่พนักงานที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องสลักสิทธิเรียกร้องที่จะมีต่อจำเลย โจทก์ได้สมัครเข้าโครงการดังกล่าวจนได้รับการคัดเลือกและจำเลยได้อนุญาตให้ลาออกได้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2537 โดยได้รับค่าตอบแทนไปแล้วเป็นจำนวนถึง 590,894.91 บาท โจทก์จึงต้องผูกพันตามข้อตกลงที่สละสิทธิเรียกร้องทั้งปวงจากจำเลย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าปัญหาแรงงานเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของสังคมเพราะเป็นเรื่องที่ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบในการจ้างแรงงานเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเป็นสำคัญ ข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.1 ที่สละสิทธิเรียกร้องทั้งปวงนั้นมีผลเฉพาะที่ไม่ขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนเท่านั้นแต่ตามฟ้องโจทก์เป็นเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่อาจจะตกลงสละสิทธิเรียกร้องกันได้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า แม้ตามฟ้องโจทก์บางข้อเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่เมื่อโจทก์สมัครใจเข้าร่วมโครงการลาออกด้วยความสมัครใจของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 1 ซึ่งมีข้อความว่าข้าพเจ้าขอสละสิทธิและขอปลดเปลื้องบริษัทจากข้อเรียกร้องทั้งปวงความรับผิด ข้อเรียกร้อง และมูลคดีที่ข้าพเจ้าหรือบุคคลอื่นโดยการเรียกร้องผ่านข้าพเจ้า ซึ่งเคยมี กำลังมี หรืออาจเรียกร้องให้มีได้ในอนาคตต่อบริษัท ฯลฯ ทั้งตามบันทึกเอกสารหมาย ล.7 ยังมีข้อความว่าเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ตามโครงการดังกล่าวเป็นเงินทุกประเภทที่จำเลยต้องจ่ายให้แก่โจทก์ ย่อมหมายความว่าการที่จำเลยยอมจ่ายเงินให้โจทก์จำนวน 590,894.91 บาท ตามโครงการลาออกด้วยความสมัครใจได้รวมเงินทุกประเภทที่โจทก์อาจเรียกร้องจากจำเลยได้อยู่แล้วดังนั้นข้อตกลงที่ว่าโจทก์จะไม่เรียกร้องผลประโยชน์ใด ๆ จากจำเลยอีกเพราะจำเลยได้จ่ายเงินที่โจทก์พึงจะได้รับตามกฎหมายให้แก่โจทก์หมดแล้วซึ่งไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียกร้อยของประชาชน ย่อมมีผลบังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยได้โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกผลประโยชน์ใด ๆ จากจำเลยอีก
พิพากษายืน