แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ชั้นไต่สวนมูลฟ้องทนายจำเลยถามค้านโจทก์ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานถึงการที่โจทก์ซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 1 โจทก์ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจากบริษัท ส. จำกัด และต่อมาโจทก์นำเช็คธนาคาร ท. จำกัดไปแลกเปลี่ยนกับเช็คหมาย ล.1 และ ล.2 โดยเอาเอกสารที่เกี่ยวข้องให้โจทก์ดูและโจทก์รับรองว่าถูกต้อง ดังนี้ เอกสารดังกล่าวมิใช่เป็นพยานเอกสารที่จำเลยอ้าง หากแต่เป็นเอกสารที่โจทก์เบิกความถึงและทนายจำเลยนำส่งศาลเพื่อประกอบถ้อยคำของโจทก์ให้ปรากฏรายละเอียดชัดเจนขึ้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยนำพยานมาสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง จึงไม่เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะทำการแทนจำเลยที่ 1 และในฐานะส่วนตัวได้เบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 12736/2522 ระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัดตลาดนัดรถยนต์พหลโยธิน โดยนายประเสริฐหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ นายสุรศิษฐ จำเลย ที่ศาลแพ่งว่า “เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2521 จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้โจทก์รวม 4 ฉบับ ฉบับละ 5,600 บาท ให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าซื้อรถยนต์ของโจทก์” และ “โดยจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คเลขที่ ก/10 1051832 ถึง ก/10 105135 ลงวันที่สั่งจ่ายวันที่ 31 กรกฎาคม 2521 วันที่ 1 สิงหาคม 2521 วันที่ 30 กันยายน 2521 และวันที่ 31 ตุลาคม 2521 ตามลำดับ ฉบับละ 5,600 บาท รวมเป็นเงิน 22,400 บาท เป็นเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาพหลโยธิน” คำเบิกความของจำเลยเป็นสำคัญในคดีดังกล่าว ซึ่งความจริงโจทก์มิได้เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับให้แก่จำเลยทั้งสอง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคแรก
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 1 โดยวิธีผ่อนชำระราคา และได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คตามเอกสารหมาย ล.1, ล.2 มอบให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อเป็นการชำระราคาบางส่วน ต่อมาโจทก์ขัดข้องทางการเงินจึงให้บริษัทสยามเงินทุน จำกัด เข้าช่วยเหลือด้วยการให้รถเป็นของบริษัทสยามเงินทุนจำกัด แล้วโจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถคันดังกล่าวจากบริษัท ส่วนเช็คเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 โจทก์เปลี่ยนเช็คใหม่รวม 4 ฉบับ ให้จำเลยที่ 1 เป็นเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาพหลโยธิน โดยนายกำธร ภุชชงค์ ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่าย ภายหลังจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์คดีนี้ต่อศาลแพ่งตามคดีหมายเลขแดงที่ 12736/2522 เรียกเงินตามเช็คทั้ง 4 ฉบับดังกล่าว ในการพิจารณาคดีจำเลยที่ 2 เบิกความว่าโจทก์เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คทั้ง 4 ฉบับ ซึ่งเป็นความเท็จ แต่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาที่จะเบิกความเท็จ
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า การที่ทนายจำเลยถามค้านโจทก์ซึ่งอ้างตนเป็นพยานถึงการที่โจทก์ซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 1 โจทก์ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจากบริษัทสยามเงินทุน จำกัด และต่อมาโจทก์นำเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาพหลโยธินไปแลกเปลี่ยนกับเช็คเอกสารหมาย ล.1,ล.2 โดยเอาเอกสารที่เกี่ยวข้องให้โจทก์ดูและโจทก์รับรองว่าถูกต้องนั้น ดังนี้ เอกสารดังกล่าวมิใช่เป็นพยานเอกสารที่จำเลยอ้าง หากแต่เป็นเอกสารที่โจทก์เบิกความถึงและทนายจำเลยนำส่งศาลเพื่อประกอบถ้อยคำของโจทก์ให้ปรากฏรายละเอียดชัดเจนขึ้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยนำพยานเข้าสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง จึงไม่เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165 วรรคสอง
พิพากษายืน