คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1521/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยออกเช็คพิพาทแล้วแลกเงินสดไปจากโจทก์ การออกเช็คแลกเงินสดดังกล่าวย่อมเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 แต่การกระทำดังกล่าวมิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายอันจะเป็นความผิดได้ตามนัยแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ซึ่งเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังที่จำเลยออกเช็คแลกเงินสด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีของโจทก์มีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3(1)(2)วางโทษจำคุก 1 ปี ข้อนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 8 เดือน
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยได้ออกเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาถนนสุขสวัสดิ์ ลงวันที่27 สิงหาคม 2530 สั่งจ่ายเงินจำนวน 320,000 บาท ปรากฏตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 มอบให้โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระเงิน โจทก์ได้นำเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาราษฎร์บูรณะเพื่อให้เรียกเก็บเงินตามเช็คธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2530 โดยให้เหตุผลว่า ยังไม่มีการตกลงกับธนาคาร ปรากฏตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.2 ในวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินนั้น เงินในบัญชีของจำเลยไม่มีจ่าย ปรากฏตามสำเนาบัญชีกระแสรายวันของจำเลย เอกสารหมาย จ.4 มีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่าจำเลยได้กระทำความผิดดังฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยมอบเช็คเอกสารหมาย จ.1 ให้โจทก์ โดยจำเลยนำเช็คดังกล่าวไปแลกรับเงินสดจากโจทก์นั้น หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์นำสืบ การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ดังฟ้องของโจทก์ แต่เนื่องจากในขณะที่คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534ใช้บังคับ ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497และมาตรา 4 บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯลฯ” ดังนั้น การออกเช็คที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 4ดังกล่าวจะต้องปรากฏข้อเท็จจริงในเบื้องแรกว่าผู้ออกเช็คกับผู้รับเช็คมีหนี้ต่อกัน แล้วผู้ออกเช็คได้ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวให้ผู้รับเช็ค ส่วนการออกเช็คเพื่อนำไปแลกรับเงินสดตามที่โจทก์นำสืบ จะเห็นได้ว่าในขณะที่จำเลยออกเช็คเอกสารหมาย จ.1 และนำไปแลกรับเงินสดจากโจทก์นั้น มีลักษณะเป็นเพียงจำเลยนำเช็คนั้นไปก่อหนี้ด้วยการแลกรับเอาเป็นเงินสดจากโจทก์ไม่ใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่แล้วให้แก่โจทก์ การออกเช็คเอกสารหมาย จ.1 ของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในภายหลัง จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง…”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.

Share