แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์กล่าวในฟ้องว่า รถยนต์แท็กซี่ของโจทก์ที่ถูกชนส่วนไหนของรถที่ได้รับความเสียหาย เสียค่าซ่อมแซมเป็นเงินเท่าใดโจทก์ไม่ต้องกล่าวมาในคำฟ้องว่าชิ้นส่วนของรถที่ได้รับความเสียหายนั้น รายการใดเป็นการเปลี่ยนอุปกรณ์ รายการใดเป็นการซ่อมของเดิม ในแต่ละรายการเป็นเงินเท่าใด รายละเอียดดังกล่าวเป็นเรื่องที่คู่ความนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์ที่ 1 ฟ้องแทนโจทก์ที่ 2 และแนบหนังสือมอบอำนาจมาในท้ายฟ้อง โดยหนังสือมอบอำนาจระบุชัดแจ้งว่าโจทก์ที่ 2 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้ แม้หนังสือมอบอำนาจมีโจทก์ที่ 2 ลงชื่อฝ่ายเดียว โจทก์ที่ 1 มิได้ลงชื่อในฐานะผู้รับมอบอำนาจด้วยก็ใช้ได้ เพราะไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้รับมอบอำนาจต้องลงชื่อด้วย รถยนต์แท็กซี่คันเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ซื้อมาก่อนเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แม้โจทก์ที่ 1 จะโอนใส่ชื่อโจทก์ที่ 2 ในทะเบียนเป็นเจ้าของรถยนต์ดังกล่าวเพื่อความจำเป็นในทางธุรกิจกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ก็ยังเป็นของโจทก์ที่ 1 อยู่เพราะทะเบียนรถยนต์มิใช่ทะเบียนกรรมสิทธิ์ โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์แท็กซี่ คันหมายเลขทะเบียน 1 ท-6753 กรุงเทพมหานคร โดยโจทก์ที่ 2 เป็นผู้มีชื่อทางทะเบียน โจทก์ที่ 2 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีแทนจำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการทหารอากาศ ทำหน้าที่เป็นคนขับรถของโรงพยาบาลภูมิพลอันเป็นหน่วยงานของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ตู้ตรากองทัพอากาศหมายเลข 59802 ในหน้าที่ราชการด้วยความประมาทชนท้ายรถโจทก์เสียหายทั้งด้านหน้าด้านหลังต้องเสียค่าอะไหล่ซ่อมแซม 29,310 บาท ค่าเคาะพ่นสี 14,000 บาท ค่ารถยกจากที่เกิดเหตุไปยังสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน และจากสถานีตำรวจถึงอู่ซ่อมถนนรองเมืองเป็นเงิน 2,000 บาท รถโจทก์เพิ่งซื้อใช้มา1 ปี ถูกชนเสื่อมราคาเป็นเงิน 30,000 บาท รถโจทก์นำออกให้เช่าวันละ 2 กะ เป็นเงินค่าเช่าวันละ 520 บาท ตั้งแต่วันถูกชนจนถึงวันซ่อมเสร็จนำออกให้เช่าเป็นเวลา 40 วัน เป็นเงิน 20,800 บาทรวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 96,110 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 17 มกราคม 2528 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 ปีเป็นค่าดอกเบี้ย 7,208 บาท รวมเป็นเงิน 103,318 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์แท็กซี่ดังกล่าว โจทก์ที่ 2 ก็ไม่มีชื่อในทะเบียน โจทก์ที่ 1 ไม่ได้ลงชื่อในฐานะผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดี โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายว่ารายการใดเป็นการซื้ออุปกรณ์มาเปลี่ยนใหม่ รายการใดเป็นการซ่อมแซมของเดิมและแต่ละรายการเป็นค่าซื้อหรือค่าซ่อมแซมเท่าใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 78,585 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 17 มกราคม 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยทั้งสองฎีกาข้อแรกว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายว่ารายการซ่อมแซมรถยนต์ของโจทก์รายการใดเป็นการซื้ออุปกรณ์มาเปลี่ยน รายการใดเป็นการซ่อมแซมของเดิมแต่ละรายการเป็นเงินเท่าใดนั้น เห็นว่าโจทก์ได้กล่าวในฟ้องแล้วว่ารถยนต์ของโจทก์ที่ถูกชนส่วนไหนของรถที่ได้รับความเสียหายบ้าง เสียค่าซ่อมแซมเป็นเงินเท่าใด โจทก์หาต้องกล่าวมาในคำฟ้องว่าชิ้นส่วนของรถที่ได้รับความเสียหายนั้นรายการใดเป็นการเปลี่ยนอุปกรณ์รายการใดเป็นการซ่อมของเดิมในแต่ละรายการเป็นเงินเท่าใดไม่รายละเอียดดังกล่าวเป็นเรื่องที่คู่ความนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม
ปัญหาข้อสองที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ลงชื่อในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 2 ให้ฟ้องคดี และโจทก์ที่ 1 ได้โอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันเกิดเหตุให้โจทก์ที่ 2 ตามหลักฐานทางทะเบียนรถยนต์แล้วนั้นศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ที่ 1 ฟ้องแทนโจทก์ที่ 2 และแนบหนังสือมอบอำนาจมาในท้ายฟ้อง โดยหนังสือมอบอำนาจระบุชัดแจ้งว่าโจทก์ที่ 2 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้ แม้หนังสือมอบอำนาจนี้โจทก์ที่ 2 ลงชื่อฝ่ายเดียว โจทก์ที่ 1 มิได้ลงชื่อในฐานะผู้รับมอบอำนาจด้วยก็ใช้ได้เพราะไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้รับมอบอำนาจต้องลงชื่อด้วย ส่วนรถยนต์แท็กซี่คันเกิดเหตุเมื่อโจทก์ที่ 1 นำสืบได้ว่าเป็นผู้ซื้อมาก่อนเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แม้โจทก์ที่ 1 จะโอนใส่ชื่อโจทก์ที่ 2 ในทะเบียนเป็นเจ้าของรถยนต์ดังกล่าวก็เพื่อความจำเป็นในทางธุรกิจเท่านั้น กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังเป็นของโจทก์ที่ 1 อยู่ เพราะทะเบียนรถยนต์มิใช่ทะเบียนกรรมสิทธิ์ โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง”
พิพากษายืน