คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 240/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำให้การของผู้เสียหายในคดีข่มขืนกระทำชำเราที่ให้การไว้ในชั้นสอบสวนแต่ไม่ได้มาเบิกความในชั้นศาล ศาลรับฟังประกอบคำผู้จับกุมพนักงานสอบสวนและเจ้าของบ้านที่อยู่ไม่ห่างจากที่เกิดเหตุซึ่งผู้เสียหายวิ่งหนีเข้าไป และเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟังกับคำรับชั้นสอบสวนของจำเลยลงโทษจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันพรากผู้เสียหายอายุ15 ปีเศษไปเสียจากความดูแลของบิดาโดยผู้เสียหายไม่เต็มใจไปด้วยและจำเลยกับพวกได้ร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายโดยร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายกอดปล้ำ ชก ต่อย และกระทืบท้อง ช่วยกันจับมือจับเท้าผู้เสียหายไว้ไม่ให้ดิ้นขัดขืน แล้วจำเลยกับพวกได้ผลัดเปลี่ยนกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ของจำเลยกับพวกคนละ 1 ครั้ง อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276, 310, 318, 83, 91พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525มาตรา 3 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 8)พ.ศ. 2530 มาตรา 7 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 276 วรรคสอง, 310, 318 เรียงกระทงลงโทษความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร ลงโทษตามมาตรา 318 (ที่ถูกมาตรา318 วรรคท้าย) จำคุก 4 ปี ฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภรรยาตนในลักษณะเป็นการโทรมหญิงตามมาตรา 276 วรรคสอง เป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังตามมาตรา 310 ให้ลงโทษตามมาตรา276 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุก 17 ปี รวมโทษจำคุก 21 ปีจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 14 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางสาวสุดาเรียงม่วง ผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์อายุ 15 ปีเศษ เป็นบุตรของนายโสภณ เรียงม่วง ในวันและเวลาที่โจทก์ฟ้อง นางสาวสุดาออกจากบ้านพักที่กรุงเทพมหานครไปหานางสาวสุนีย์ พันธ์โพธิ์ทองที่ตลาดเมืองสมุทรสาคร ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาครจังหวัดสมุทรสาคร แต่ไม่พบเนื่องจากนางสาวสุนีย์ย้ายบ้านไปนางสาวสุดาตามหาบ้านนางสาวสุนีย์ไม่พบจนเวลาประมาณ 20 นาฬิกามีคนร้ายร่วมกันข่มขืนกระทำชำเรานางสาวสุดาจนสำเร็จความใคร่คนละ 1 ครั้ง คดีมีปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดคดีนี้หรือไม่ โจทก์มีจ่าสิบตำรวจสุชาติ กลิ่นจันทร์ ตำรวจผู้จับกุมจำเลยเบิกความเป็นพยานว่า พยานเป็นผู้จับกุมจำเลย ขณะจับกุมจำเลย จำเลยพยายามหลบหนีโดยปิดกุญแจบ้าน เมื่อตำรวจล้อมบ้านไว้จำเลยกระโดดจากดาดฟ้าตึกที่จำเลยหลบเข้าไปไปยังตึกอีกหลังหนึ่ง เมื่อจับกุมได้แล้วจำเลยให้การรับสารภาพตามข้อหาของเจ้าพนักงานตำรวจปรากฏตามบันทึกจับกุมหมาย จ.1 ชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับว่าได้พาผู้เสียหายไปยังบริเวณที่เกิดเหตุปรากฏตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งจำเลยรับว่าได้ลงชื่อไว้จริง นอกจากนี้โจทก์ยังมีนางล้อมเบิกความยืนยันว่า นางสาวสุดาบอกว่าถูกผู้ชาย4 คน ข่มขืนกระทำชำเรา โดยนายเฮงหรือจำเลยนี้เป็นคนร้ายคนหนึ่งคดีนี้แม้นางสาวสุดาไม่ได้มาเบิกความต่อศาล แต่ร้อยตำรวจเอกกฤชชัยก็ได้จดคำให้การของนางสาวสุดาไว้ตามเอกสารหมาย จ.5ซึ่งปรากฏว่านางสาวสุดาได้ให้การต่อร้อยตำรวจเอกกฤชชัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายร่วมกระทำผิดข่มขืนกระทำชำเรานางสาวสุดาด้วยโดยก่อนหน้านั้นจำเลยได้พาผู้เสียหายไปในที่เกิดเหตุ แล้วจำเลยกับพวกร่วมกันชกต่อยกระทืบท้อง จับแขนผู้เสียหายไว้ ต่อจากนั้นจึงร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย จ่าสิบตำรวจสุชาติก็ดีนางล้อมก็ดี รวมทั้งร้อยตำรวจเอกกฤชชัยต่างไม่รู้จักไม่มีสาเหตุกับจำเลย ไม่รู้จักฝ่ายผู้เสียหายไม่มีผลประโยชน์ในผลแห่งคดีย่อมเบิกความไปตามข้อเท็จจริงที่ได้รู้เห็นมา ไม่มีเหตุที่จะปรักปรำจำเลย ไม่มีข้อควรระแวงสงสัย ทั้งได้เบิกความโดยไม่มีข้อพิรุธประการใด เชื่อได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า ชั้นสอบสวนและชั้นจับกุมจำเลยได้ให้การรับสารภาพโดยสมัครใจ และหลังเกิดเหตุนางสาวสุดาได้บอกเล่าเหตุการณ์ต่อนางล้อม นางสาวสุดาเป็นเด็กสาวย่อมละอายต่อการถูกข่มขืน ถ้าเหตุการณ์มิได้เป็นความจริงนางสาวสุดาคงไม่บอกเล่าต่อนางล้อมและให้การต่อพนักงานสอบสวนเช่นนั้น จำเลยคงมีตัวจำเลยผู้เดียวเบิกความว่ามิได้กระทำผิดและมิได้ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและสอบสวนคำเบิกความของจำเลยในชั้นพิจารณาต่างกับคำให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจเป็นข้อพิรุธทั้งเมื่อจะถูกจับกุมก็พยายามหลบหนี พยานหลักฐานของจำเลยไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ เชื่อได้ว่าจำเลยพาผู้เสียหายไปในที่เกิดเหตุ แล้วจำเลยกับพวกร่วมกันชกต่อย กระทืบท้อง จับแขนผู้เสียหายไว้ และร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ตามที่โจทก์นำสืบจริง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดดังศาลล่างทั้งสองพิพากษา แต่โทษที่ลงแก่จำเลยนั้นเห็นว่าหนักไป สมควรแก้ไขให้เหมาะสมแก่รูปคดี
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา318 วรรคท้าย ให้จำคุก 3 ปี ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา276 วรรคสอง ซึ่งเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามมาตรา 310 วรรคหนึ่งให้ลงโทษตามมาตรา 276 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดจำคุก 15 ปี รวมจำคุก 18 ปี คำรับในชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของศาลเป็นอันมากลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 12 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share