แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำว่าผู้ประกอบการค้าตามประมวลรัษฎากร มีความหมายกว้างกว่าคำว่าพ่อค้าในมาตรา 165 (1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะคำว่าการค้าในประมวลรัษฎากร มาตรา 77 หมายความรวมถึงการประกอบธุรกิจและอื่น ๆ อีกด้วย ดังนั้นปัญหาว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าที่ดินหรือไม่ จึงมิใช่จะอาศัยแต่เพียงโจทก์ไปซื้อที่ดิน แล้วขายไปเป็นปกติธุระหรือไม่ แต่ต้องอาศัยพฤติการณ์ทั่ว ๆ ไปของโจทก์ประกอบกัน
โจทก์ซื้อที่ดินไว้เป็นจำนวนถึงร้อยกว่าโฉนด โดยไม่ปรากฏว่าได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน และได้ขายไปเป็นจำนวนถึง 20 กว่าโฉนดในระยะเวลา 3 ปี มีกำไรทุกแปลงบางแปลงกำไรหลายเท่าตัว ส่วนมากขายให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมซึ่งโจทก์ซื้อที่ดินเหล่านั้นไว้ในระยะเวลาที่ทางการมีนโยบายจะให้ท้องที่นั้นเป็นย่านอุตสาหกรรม ดังนี้ ย่อมแสดงว่าโจทก์มีจุดมุ่งหมายในการซื้อที่ดินจำนวนมากเหล่านั้นไว้ เพื่อขายหากำไรเป็นสำคัญ การที่โจทก์ซื้อที่ดินไว้โดยมุ่งในทางการค้า หรือหากำไรมาแต่เดิม และได้ขายที่ดินดังกล่าวไปเป็นทางการค้าหรือหากำไร ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้า มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าในประเภทการค้า 11 และต้องเสียภาษีเงินได้จากรายรับ เพราะเงินที่โจทก์ได้รับจากการขายที่ดินเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (8) ทั้งไม่เข้าข่ายที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ตามความในมาตรา 42 (9)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มิใช่ผู้ประกอบการค้าประเภท ๑๑ การค้าอสังหาริมทรัพย์ ตามบัญชีอัตราภาษีการค้า เพราะโจทก์ซื้อที่ดินไว้โดยมุ่งจะเก็บสะสมเป็นมรดกให้แก่ลูกหลานและเพื่อจะใช้ที่ดินเป็นหลักประกัน จัดหาเงินทุนหมุนเวียนใช้ในกิจการของบริษัทต่าง ๆ ที่โจทก์เป็นเจ้าของ ที่โจทก์ขายที่ดินไปบ้างก็ด้วยความจำเป็นไม่ได้หวังในทางการค้าหรือหากำไร โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ และภาษีการค้าตามที่จำเลยประเมิน ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๗ นิยามคำว่า “การค้า” ให้หมายความว่า การประกอบธุรกิจ การพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การเกษตร การผลิต การนำเข้า การส่งออกหรือการให้บริการใด ๆ เพื่อหาประโยชน์อันมีมูลค่า และตามบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภทการค้า ๑๑ การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ผู้ประกอบการค้ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้า ดังนั้น ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยจึงอยู่ที่ว่า โจทก์ขายที่ดินเป็นทางการค้าหรือหากำไรหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าตามพฤติการณ์ของโจทก์ที่ซื้อที่ดินไว้เป็นจำนวนถึงร้อยกว่าโฉนด โดยไม่ปรากฏว่าได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน และได้ขายไปเป็นจำนวนถึง ๒๐ กว่าโฉนดในระยะเวลา ๓ ปี มีกำไรทุกแปลง บางแปลงกำไรหลายเท่าตัว ส่วนมากขายให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งโจทก์ซื้อที่ดินเหล่านั้นไว้ในระยะเวลาที่ทางการมีนโยบายที่จะให้ท้องที่นั้นเป็นย่านอุตสาหกรรม ย่อมแสดงว่าโจทก์มีจุดมุ่งหมายในการซื้อที่ดินจำนวนมากเหล่านั้นไว้เพื่อขายหากำไรเป็นสำคัญที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ต้องการสะสมไว้ให้เป็นมรดกตกทอดให้แก่ลูกหลานของโจทก์นั้น ยังไม่มีเหตุผลที่จะให้รับฟังเช่นนั้นได้ เพราะถ้าโจทก์มีความตั้งใจจริงเช่นนั้น โจทก์ก็ต้องไม่ขายที่ดินเหล่านั้นไปในระหว่างที่โจทก์ยังมีชีวิตอยู่ เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นจริง ๆ เช่น เพื่อการครองชีพเป็นต้น ที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ซื้อที่ดินจำนวนมากไว้เพื่อเป็นประกันการเปิดเครดิตกับธนาคาร เนื่องจากโจทก์มีการค้าที่ต้องใช้เครดิตกับธนาคารมากก็ดี หรือขายเพื่อนำเงินไปใช้จ่ายในการจัดสร้างเมืองโบราณของบริษัทเมืองโบราณก็ดีนั้น กลับเป็นเหตุผลแสดงว่า โจทก์ซื้อที่ดินไว้เพื่อหาประโยชน์อันมีมูลค่าและได้ขายที่ดินเอาเงินมาลงทุนทำการค้าต่อไปอีกนั่นเอง เพราะการหาเครดิตจากธนาคารเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในการค้าของโจทก์ และธนาคารย่อมไม่ให้เครดิตแก่โจทก์เกินกว่าราคาที่ดิน ถ้าโจทก์ไม่หวังว่า ราคาที่ดินจะสูงขึ้น โจทก์ก็คงไม่ซื้อเอาไว้เพราะโจทก์ย่อมใช้เงินที่จ่ายไปในการซื้อที่ดินเป็นหมุนเวียนในการค้าได้อยู่แล้ว โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการขอเครดิตจากธนาคาร เมืองโบราณที่โจทก์สร้างขึ้น โจทก์ก็เก็บค่าธรรมเนียมจากคนเข้าชมคนละห้าสิบบาท มีลักษณะเป็นการค้า หรือหากำไร ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่า โจทก์ซื้อที่ดินไว้โดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรมาแต่เดิม และได้ขายที่ดินดังกล่าวไปเป็นทางการค้าหรือหากำไรเป็นส่วนตัว ถือได้ว่าเป็นผู้ประกอบการค้ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าในประเภทการค้า ๑๑ และต้องเสียภาษีเงินได้จากรายรับ เพราะเงินที่โจทก์ได้รับจากการขายที่ดินเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๔๐ (๘) ทั้งไม่เข้าข่ายที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามความในมาตรา ๔๒ (๙) แม้โจทก์จะได้แจ้งข้อยกเว้นไว้ใน ภ.ง.ด. ๙ แล้วก็ตาม
ที่โจทก์ฎีกาและยื่นคำแถลงการณ์ประกอบว่า โจทก์นำพยานมาสืบฟังได้ว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้ค้าที่ดิน แต่ค้าขายอย่างอื่น และโจทก์ขายที่ดิน ๒๐ กว่าโฉนดให้ผู้ซื้อเพียง ๕ ราย เท่านั้น ที่โจทก์ขายที่ดินให้กับโรงงานอุตสาหกรรม ก็เพราะถูกอ้อนวอนขอซื้อเพื่อขยายโรงงานโจทก์จึงยอมขายให้ และได้อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๔๙/๒๕๑๒ ซึ่งวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่าคำว่าพ่อค้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕ (๑) ต้องถือตามความรู้สึกของประชาชนทั่วไปเข้าใจกัน คือหมายความถึงผู้ที่ประกอบการค้าโดยซื้อสินค้าแล้วขายไปเป็นปกติธุระ ซึ่งพ่อค้าในที่นี้ย่อมหมายความถึงผู้ประกอบการค้านั่นเอง โจทก์มิได้ประกอบการค้าที่ดินเป็นปกติธุระ โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีการค้าหรือภาษีประเภทอื่นนั้น เห็นว่าการที่จะถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าที่ดินหรือไม่นั้น มิใช่จะอาศัยแต่เพียงเหตุทั้งหมดดังที่โจทก์อ้าง แต่ต้องอาศัยพฤติการณ์ทั่ว ๆ ไป ของโจทก์ประกอบกันเป็นประมาณ ดังที่ได้วินิจฉัยแล้วข้างต้นและคำว่าผู้ประกอบการค้า ตามประมวลรัษฎากร มีความหมายกว้างกว่า คำว่า พ่อค้าในมาตรา ๑๖๕ (๑) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะคำว่าการค้าในประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๗ หมายความรวมถึงการประกอบธุรกิจ และอื่น ๆ อีกด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน