คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1505/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การถอนคำร้องทุกข์เป็นสิทธิของผู้เสียหายเมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์แล้ว สิทธิที่ผู้เสียหายหรือพนักงานอัยการ ที่จะนำความผิดอันยอมความได้นั้นมาฟ้องผู้กระทำผิด ย่อมเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือ ต่อพนักงานอัยการหรือต่อศาลก็ได้ แม้ขณะคดีจะอยู่ในระหว่าง การพิจารณาของศาลก็ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดกำหนดให้ผู้เสียหาย ต้องถอนคำร้องทุกข์ต่อศาลเท่านั้น เมื่อได้ความว่าพนักงานอัยการที่เป็นโจทก์ได้รับคำร้อง ขอถอนคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายโดยชอบแล้ว สิทธิในการนำคดีนี้ ของโจทก์มาฟ้องจำเลยย่อมเป็นอันระงับไป เมื่อโจทก์ แถลงยืนยันต่อศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์ว่าผู้เสียหาย ได้ถอนคำร้องทุกข์ต่อโจทก์แล้ว ก็ชอบที่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีได้โดยศาลไม่จำต้องสอบถามผู้เสียหายที่ไม่ได้มาศาลอีกเพราะผู้เสียหายไม่ได้ขอถอนคำร้องทุกข์ต่อศาล

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4, 27(2), 28(2), 69
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537มาตรา 15, 28(2), 69 วรรคหนึ่ง ให้ลงโทษปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 10,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ว่าคดีนี้เป็นคดีความผิดอันยอมความได้ เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ต่อโจทก์แล้วสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต้องจำหน่ายคดี การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกลับมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ให้การรับสารภาพ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าการถอนคำร้องทุกข์เป็นสิทธิของผู้เสียหาย เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์แล้ว สิทธิที่ผู้เสียหายเองก็ดีหรือพนักงานอัยการก็ดีที่จะนำความผิดอันยอมความได้นั้นมาฟ้องผู้กระทำผิดย่อมเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(2) ซึ่งการขอถอนคำร้องทุกข์นั้น ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือต่อพนักงานอัยการหรือต่อศาลก็ได้ แม้ขณะคดีจะอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลก็ตาม เพราะไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดกำหนดให้ผู้เสียหายต้องถอนคำร้องทุกข์ต่อศาลเท่านั้น เมื่อได้ความว่าพนักงานอัยการที่เป็นโจทก์คดีนี้ได้รับคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายโดยชอบแล้ว สิทธิในการนำคดีนี้ของโจทก์มาฟ้องจำเลยย่อมเป็นอันระงับไป เมื่อโจทก์แถลงยืนยันต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในวันนัดสืบพยานโจทก์ว่าผู้เสียหายได้ถอนคำร้องทุกข์ต่อโจทก์แล้วเช่นนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็ชอบที่จะสั่งจำหน่ายคดีโดยไม่จำเป็นต้องสอบถามผู้เสียหายที่ไม่ได้มาศาล เพราะผู้เสียหายไม่ได้ขอถอนคำร้องทุกข์ต่อศาลการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังดำเนินคดีต่อไปโดยพิพากษาลงโทษจำเลยนั้นเป็นการไม่ชอบ”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ให้จำหน่ายคดี

Share