แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันให้ไว้แก่โจทก์ สัญญาค้ำประกันตามเอกสารท้ายฟ้องเป็นเอกสารปลอม และไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไร หากจำเลยที่ 2จะต้องรับผิดต่อโจทก์แล้วก็จะต้องรับผิดไม่เกิน 150,000 บาท ดังนี้คำให้การจำเลยที่ 2 จึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2ได้ทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารท้ายฟ้องหรือไม่ และจำเลยที่ 2จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาเพียงใด คำให้การจำเลยที่ 2หาได้ขัดกัน หรือไม่อาจเป็นไปได้ทั้งสองประการในคราวเดียวกันแต่อย่างใด เพราะข้อต่อสู้ตอนต้นเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงส่วนข้อต่อสู้ตอนหลังเป็นเรื่องปัญหาข้อกฎหมายในการแปลข้อสัญญาว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด ฉะนั้น การที่ศาลไม่วินิจฉัยให้นั้นจึงไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 2ไม่ได้ให้การในรายละเอียดเจาะจงว่าลายมือชื่อผู้ค้ำประกันในเอกสารดังกล่าว ไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธินำสืบว่าลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันนั้นไม่ใช่ของจำเลยที่ 2ข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นเรื่องนอกคำให้การจึงรับฟังไม่ได้ การที่จำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารหนังสือเดินทางของจำเลยที่ 3 จากกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อพิสูจน์ว่าการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 3 ไม่ชอบเพราะจำเลยที่ 3 ไม่ได้อยู่ในราชอาณาจักรขณะที่มีการนำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งแก่จำเลยที่ 3 นั้น เห็นได้ว่า เอกสารดังกล่าวมิใช่เอกสารเกี่ยวกับประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยที่ 2จึงเป็นเอกสารที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจงดสืบพยานหลักฐานดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 86 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของโจทก์ โดยทำสัญญาขายลดเช็คให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์โดยยอมผูกพันเข้ารับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2530 ถึงวันที่ 29 มกราคม 2531 จำเลยที่ 1ทำสัญญาขายลดเช็คให้แก่โจทก์หลายฉบับที่โจทก์เรียกเก็บเงินไม่ได้มี 4 ฉบับ ฉบับแรก มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้สั่งจ่าย ฉบับที่ 2 ที่ 3จำเลยที่ 4 เป็นผู้สั่งจ่าย ฉบับที่ 4 มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้สั่งจ่ายเมื่อเช็คแต่ละฉบับครบกำหนด ปรากฏว่าโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันรับผิดชำระเงิน216,792.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ในต้นเงิน55,700 บาท ร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 134,900 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ที่ 4ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 รับผิดโดยจำเลยที่ 3 รับผิดเป็นจำนวนเงิน91,377.30 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน85,300 บาท จำเลยที่ 4 รับผิดเป็นจำนวนเงิน 112,594.93 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 105,300 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 จะชำระให้แก่โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า นายวิระ รมยะรูปมิใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาบางพลัด และสาขาราชวิถี มิใช่สำนักงานสาขาของโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันให้ไว้แก่โจทก์ตามฟ้อง สัญญาค้ำประกันเอกสารท้ายฟ้องโจทก์หมายเลข 2และหมายเลข 3 เป็นเอกสารปลอม และไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไรก็ตามหากจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ไม่เกิน 150,000 บาท เจ้าหน้าที่ของโจทก์สมคบกับจำเลยที่ 1ปล่อยวงเงินจนเกินอำนาจและให้จำเลยที่ 1 จำหน่ายจ่ายโอนหลักประกันแห่งหนี้ไปเป็นทางให้เจ้าหนี้อื่นของจำเลยที่ 1 ต้องเสียเปรียบและเสียหาย ถ้าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ย่อมสิ้นสิทธิไล่เบี้ยในส่วนนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 216,792.05 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี ในต้นเงิน55,700 บาท และร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 134,900 บาท นับแต่วันฟ้องโดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดจำนวน 100,000 บาท ไม่รวมดอกเบี้ยและจำนวน 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปีในต้นเงิน55,700 บาท นับแต่วันที่ 14 มีนาคม 2531 ร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน51,600 บาท นับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2531 ร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน53,700 บาท นับแต่วันที่ 25 เมษายน 2531 ร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน29,600 บาท นับแต่วันที่ 27 เมษายน 2531 แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 2คิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 216,792.05 บาท ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดจำนวน 91,377.30 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน85,300 บาท นับแต่วันฟ้อง และให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดจำนวน112,594.93 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน105,300 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินจำนวน 216,792.05 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ14 ต่อปี ในต้นเงิน 55,700 บาท และอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน135,900 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดเป็นจำนวนเงินจำนวน 190,600 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ในต้นเงิน 55,700 บาท นับแต่วันที่14 มีนาคม 2531 อัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 44,300 บาทนับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ร่วมรับผิดเป็นจำนวนเงิน 91,377.30 บาท และ112,594.93 บาท ตามลำดับพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 85,300 บาท และ 105,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 2 ฎีกาในข้อที่ 2 ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยในประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 2 ค้ำประกันหรือไม่และจะต้องรับผิดเพียงใด โดยอ้างว่า คำให้การจำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้มาเป็นการนอกประเด็นนั้น จำเลยที่ 2 ไม่เห็นพ้องด้วยเพราะคำให้การจำเลยที่ 2 ได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธไว้ชัดแจ้งแล้วจึงมีประเด็นที่ศาลอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัยตามประเด็นดังกล่าว เห็นว่าจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยที่ 2ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันให้ไว้แก่โจทก์ตามฟ้อง สัญญาค้ำประกันตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และหมายเลข 3 เป็นเอกสารปลอมและไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไร หากจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์แล้วก็จะต้องรับผิดไม่เกิน 150,000 บาท คำให้การจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และหมายเลข 3 หรือไม่ และจำเลยที่ 2จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาทั้งสองฉบับเพียงใด คำให้การจำเลยที่ 2หาได้ขัดกันหรือไม่อาจเป็นไปได้ทั้งสองประการในคราวเดียวกันดังที่ศาลอุทธรณ์อ้างไม่ เพราะข้อต่อสู้ตอนต้นเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริง ส่วนข้อต่อสู้ตอนหลังเป็นเรื่องปัญหาข้อกฎหมายการแปลข้อสัญญาว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังขึ้น แต่ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้ให้ไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีกพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์มีนางสาวดวงพร หลักสุวรรณ หัวหน้าหน่วยสินเชื่อของโจทก์สาขาราชวิถีเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ไว้ตามเอกสารหมาย จ.3โดยนางสาวดวงพรเป็นผู้พิมพ์สัญญาและเอาสัญญาให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อแล้วนางสาวดวงพรได้ลงชื่อเป็นพยานไว้ในสัญญา และโจทก์มีนายทวี จันทร์สอกลิ่น เจ้าหน้าที่สินเชื่อของโจทก์สาขาราชวิถีเบิกความว่า นายทวีเป็นผู้พิมพ์สัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.4ให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อในสัญญาต่อหน้านายทวี แล้วนายทวีได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานไว้ในสัญญา ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 จริง จำเลยที่ 2 ให้การไว้เพียงว่า ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันไว้แก่โจทก์ตามฟ้อง สัญญาค้ำประกันตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และหมายเลข 3 เป็นเอกสารปลอมไม่ได้ให้การในรายละเอียดเจาะจงว่าลายมือชื่อผู้ค้ำประกันในเอกสารดังกล่าวไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธินำสืบว่าลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 ไม่ใช่ของจำเลยที่ 2ข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นเรื่องนอกคำให้การ จึงรับฟังไม่ได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญาทั้งสองฉบับ คือ ฉบับแรกรับผิดทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยไม่เกิน50,000 บาท ฉบับที่ 2 รับผิดต้นเงินไม่เกิน 100,000 บาท กับรับผิดดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวด้วย ส่วนสัญญาค้ำประกันฉบับลงวันที่4 สิงหาคม 2523 ตามเอกสารหมาย จ.2 ตามคำฟ้องเพิ่มเติมของโจทก์ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2532 นั้น จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกาโต้แย้งในเรื่องที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมคำฟ้องดังกล่าวได้ ปัญหาดังกล่าวจึงยุติเมื่อโจทก์เพิ่มเติมคำฟ้องได้ และจำเลยที่ 2มีโอกาสที่จะให้การต่อสู้คำฟ้องเพิ่มเติมของโจทก์ได้ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดีแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นคำให้การต่อสู้ไว้ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับตามคำฟ้องเพิ่มเติมของโจทก์ดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2เป็นต้นเงินและดอกเบี้ยรวมกันไม่เกิน 50,000 บาท ตามที่ข้อสัญญาระบุไว้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 2รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันทั้งสามฉบับมาชอบแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อที่ 3 มีว่า ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารหนังสือเดินทางของนางบุปผา กิตติเจริญพจน์ จากกระทรวงการต่างประเทศ นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามคำคัดค้านของจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 2 สิงหาคม 2532 นั้น จำเลยที่ 2 ประสงค์จะอ้างเอกสารดังกล่าวเพื่อพิสูจน์ว่าการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 3 ไม่ชอบเพราะจำเลยที่ 3 ไม่ได้อยู่ในราชอาณาจักรขณะที่มีการนำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งแก่จำเลยที่ 3 มิใช่เอกสารเกี่ยวกับประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเอกสารที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี ศาลชั้นต้นมีอำนาจงดสืบพยานหลักฐานดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นการสั่งงดสืบพยานหลักฐานที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีนั้นเอง จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน