คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1465/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ใบจองหุ้นสามัญเป็นเพียงหลักฐานให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิในการเป็นผู้ซื้อหุ้นที่บริษัท ห. จะจัดสรรให้เมื่อมีการจดทะเบียนเพิ่มทุนแล้ว แม้โจทก์จะทำสัญญาจองซื้อหุ้นเป็นเวลานานเป็นปีแล้ว แต่โจทก์ยังไม่ได้รับใบหุ้นและพยายามทวงถามจำเลยทั้งสองก็ตาม โจทก์ย่อมไม่ทราบว่าถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวงหรือไม่ เพราะอาจมีปัญหาเกี่ยวกับบริษัทโดยตรงที่ไม่สามารถจดทะเบียนเพิ่มทุนได้ ระหว่างที่รอโจทก์จึงไม่สามารถทราบได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาฉ้อโกงโจทก์ จนกระทั่งวันที่ 20 มีนาคม 2541 จำเลยทั้งสองยอมรับกับโจทก์ว่าไม่มีการจดทะเบียนเพิ่มทุน จึงไม่มีหุ้นโอนให้โจทก์ พร้อมคืนเงินค่าจองหุ้นและชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์รวมเป็นเงิน 2,000,000 บาท เพื่อไม่ให้โจทก์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง โจทก์จึงทราบว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงโจทก์ในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 341
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 หลบหนี ศาลชั้นต้นออกหมายจับและให้จำหน่ายคดีชั่วคราวสำหรับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 จำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 6,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี และปรับ 4,000 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ร่วมกระทำความผิดมิใช่ตัวการหลักทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยกระทำความผิดมาก่อน และจำเลยที่ 2 เคยรับราชการมาเป็นระยะเวลานานจนเกษียณอายุราชการ มีคุณงามความดีเห็นควรให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทหลุยส์เปเปอร์ กรุ๊ป จำกัด เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2539 โจทก์จองซื้อหุ้นสามัญของบริษัทดังกล่าวจำนวน 40,000 หุ้น ในราคา 1,200,000 บาท ตามใบจองหุ้นสามัญโดยโจทก์สั่งจ่ายเช็ค 2 ฉบับ ชำระค่าหุ้นดังกล่าวครบถ้วนแล้ว มีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ที่ต้นขั้วเช็คทั้งสองฉบับ ตามสำเนาภาพถ่ายต้นขั้วเช็คและสำเนาภาพถ่ายเช็ค แต่ปรากฎว่าบริษัทดังกล่าวไม่ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนและไม่ได้มีมติเสนอขายหุ้นสามัญ โจทก์ไม่ได้รับใบหุ้นจากจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม 2541 โจทก์กับจำเลยทั้งสองเจรจากัน จำเลยที่ 1 ยอมชำระเงินค่าจองหุ้นคืนให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยเป็นค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 2,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) สาขาพระปิ่นเกล้า ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2541 และบันทึกข้อความเป็นหลักฐานมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นพยานตามสำเนาภาพถ่ายเช็คและบันทึกข้อความ แต่ปรากฏว่าโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความยืนยันว่า ที่โจทก์ตกลงจองซื้อหุ้นจากจำเลยที่ 1 โดยเชื่อถือจำเลยที่ 2 ขณะนั้นรับราชการเป็นรองอธิบดีกรมการประกันภัย ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทหลุยส์เปเปอร์ กรุ๊ป จำกัด ชักชวนโจทก์ให้จองซื้อหุ้นของบริษัทดังกล่าว โจทก์จองซื้อหุ้นไปเป็นเงิน 1,200,000 บาท แต่โจทก์กลับไม่ได้รับใบหุ้นจากที่จำเลยที่ 1 ภายหลังโจทก์ไปตรวจสอบรายการจดทะเบียนบริษัทที่กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวไม่มีการขอจดทะเบียนเพิ่มทุนหรือขายหุ้นดังจำเลยทั้งสองอ้างแต่อย่างใด แสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความเป็นเท็จว่าบริษัทดังกล่าวจะจดทะเบียนเพิ่มทุน จึงร่วมกับจำเลยที่ 2 หลอกลวงโจทก์ให้จองซื้อหุ้นของบริษัทดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 นำสืบปฏิเสธว่า ไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องในการซื้อขายหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับผลประโยชน์จากการซื้อขายหุ้นดังกล่าว เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ต่างๆ แล้ว เห็นว่า โจทก์รู้จักกับจำเลยที่ 1 ก็โดยการแนะนำของจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 1 เป็นญาติของจำเลยที่ 2 ในขณะที่โจทก์ไปปรึกษาจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับธุรกิจประกันภัยของโจทก์ที่กรมการประกันภัย ที่ทำงานของจำเลยที่ 2 ต่อมาเมื่อโจทก์ตกลงจองซื้อหุ้นจำนวน 1,200,000 บาท จากจำเลยที่ 1 ที่บ้านของโจทก์ จำเลยที่ 2 ก็ลงลายมือชื่อร่วมกับจำเลยที่ 1 ในใบจองหุ้น ในช่องผู้ตรวจสำหรับเจ้าหน้าที่บริษัทที่เสนอขายหุ้น เมื่อโจทก์สั่งจ่ายเช็ค 2 ฉบับ ชำระค่าจองหุ้น จำเลยที่ 2 ก็ลงลายมือชื่อในต้นขั้วเช็คทั้งสองฉบับของโจทก์เป็นหลักฐาน และต่อมาเมื่อโจทก์ทราบว่าบริษัทหลุยส์เปเปอร์ กรุ๊ป จำกัด ไม่มีการขายหุ้นเพิ่มทุนเท่ากับหลอกลวงโจทก์ จำเลยที่ 2 ก็เป็นผู้นัดหมายให้จำเลยที่ 1 มาเจรจาตกลงกับโจทก์ที่ที่ทำงานของจำเลยที่ 2 จนสามารถตกลงกันได้ว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมคืนเงินค่าจองหุ้นให้โจทก์ พร้อมค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 2,000,000 บาท จำเลยที่ 2 ก็ร่วมลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวด้วย ก็ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2 ทั้งสิ้น ที่จำเลยที่ 2 ปฏิเสธอ้างว่า ขณะโจทก์มาพบปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจประกันภัยที่ที่ทำงานของจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 1 มาพบจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้นัดหมายจำเลยที่ 1 มาก่อน และที่แนะนำจำเลยที่ 1 ว่าเป็นญาติของจำเลยที่ 2 ก็ทราบจากตัวของจำเลยที่ 1 เอง แต่จำเลยที่ 1 จะเป็นญาติของจำเลยที่ 2 จริงหรือไม่ จำเลยที่ 2 ไม่ทราบ นั้น เป็นการง่ายต่อการกล่าวอ้าง เพราะหากจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นญาติของจำเลยที่ 2 จริง จำเลยที่ 2 ก็ไม่น่าจะยอมให้จำเลยที่ 1 มาพบถึงที่ทำงานหลายครั้ง ทั้งไม่เฉลียวใจว่าหากจำเลยที่ 1 เพียงกล่าวอ้างแต่ไม่ได้เป็นญาติของจำเลยที่ 2 จริง การเข้ามาพบจำเลยที่ 2 ถึงห้องทำงานอาจเกิดความเสียหายหรือเป็นอันตรายแก่จำเลยที่ 2 เองก็ได้ ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ที่ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ญาติของจำเลยที่ 2 จึงขัดต่อเหตุผล ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า โจทก์ตกลงจองซื้อหุ้นกับจำเลยที่ 1 เอง โดยจำเลยที่ 2 ไม่ทราบเรื่องแต่โจทก์เป็นคนโทรศัพท์ให้จำเลยที่ 2 ไปที่บ้านของโจทก์เอง และที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อร่วมกับจำเลยที่ 1 ในช่องผู้ตรวจสำหรับเจ้าหน้าที่บริษัทที่เสนอขายหุ้นก็เพราะโจทก์ชี้ให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ โดยไม่ทราบข้อความในเอกสาร และเมื่อโจทก์สั่งจ่ายเช็ค 2 ฉบับ ให้จำเลยที่ 1 โจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ที่ต้นขั้วเช็คเพื่อเป็นพยาน จำเลยที่ 2 ก็ลงลายมือชื่อให้จากนั้นจำเลยที่ 2 ก็กลับบ้านก่อนนั้นจำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ มีตำแหน่งเป็นถึงรองอธิบดี อ้างว่ารู้จักโจทก์ในฐานะเป็นผู้ตรวจสอบกิจการประกันภัยของโจทก์เท่านั้นและไม่เคยรู้จักบ้านของโจทก์มาก่อน เหตุใดเมื่อโจทก์โทรศัพท์ให้ไปพบที่บ้าน จำเลยที่ 2 ก็ไปพบโจทก์ที่บ้านของโจทก์แต่โดยดีไม่มีเหตุผล ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติวิสัย และเมื่อไปถึงบ้านของโจทก์ โจทก์จึงแจ้งให้ทราบว่าโจทก์ตกลงจองซื้อหุ้นของบริษัทหลุยส์เปเปอร์กรุ๊ป จำกัด กับจำเลยที่ 1 แล้ว ขอให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นพยาน โดยชี้ให้ลงลายมือชื่อใต้ช่องลายมือชื่อผู้ตรวจที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้แล้ว โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกรอกข้อความ ทั้งไม่ทราบว่าจะมีหุ้นขายให้โจทก์จริงหรือไม่ยิ่งเป็นการขัดต่อเหตุผลอย่างยิ่งที่จำเลยที่ 2 จะยอมลงลายมือชื่อในต้นขั้วเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ได้ดูเช็คทั้งสองฉบับว่ามีจำนวนเงินและข้อความถูกต้องหรือไม่ ซึ่งข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ล้วนแต่ขัดต่อเหตุผลทั้งสิ้นจนไม่น่าเชื่อถือประกอบกับหลังจากโจทก์ทราบว่าถูกหลอก ไม่มีการขายหุ้นเพิ่มทุน จำเลยที่ 2 ก็เป็นผู้นัดให้โจทก์มาเจรจาตกลงกับจำเลยที่ 1 ที่ห้องทำงานของจำเลยที่ 2 ที่กรมการประกันภัย จนตกลงกันได้ โดยจำเลยที่ 1 ยินยอมคืนเงินค่าจองหุ้นให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยเป็นค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 2,000,000 บาท และจำเลยที่ 2 ยังลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวด้วย เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ต่างๆ ประกอบข้ออ้างของจำเลยที่ 2 แล้ว เชื่อได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 โดยทุจริตหลอกลวงโจทก์ให้จองซื้อหุ้นที่จดทะเบียนเพิ่มทุนบริษัทหลุยส์เปเปอร์ กรุ๊ป จำกัด อันเป็นเท็จ ทำให้จำเลยทั้งสองได้เงินค่าจองหุ้นไปจากโจทก์จำนวน 1,200,000 บาท อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงจริงดังฟ้อง พยานจำเลยที่ 2 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่นั้นเห็นว่า ตามใบจองหุ้นสามัญที่โจทก์ทำสัญญาจองซื้อหุ้นนั้นเป็นเพียงให้โจทก์เป็นผู้จองเพื่อได้สิทธิในการเป็นผู้ซื้อหุ้นที่บริษัทหลุยส์เปเปอร์ กรุ๊ป จำกัด จะจัดสรรให้เมื่อมีการจดทะเบียนเพิ่มทุนแล้ว ระหว่างที่รอบริษัทจดทะเบียนเพิ่มทุนแม้จะเป็นเวลานานที่รอการจดทะเบียนเพิ่มทุนเป็นปี โจทก์ยังไม่ได้รับใบหุ้นและพยายามทวงถามจำเลยทั้งสองก็ตาม โจทก์ก็ย่อมยังไม่ทราบว่าถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวงหรือไม่เพราะอาจมีปัญหาเกี่ยวกับบริษัทโดยตรงที่ไม่สามารถจดทะเบียนเพิ่มทุนได้ ระหว่างที่รอโจทก์จึงไม่สามารถทราบได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาฉ้อโกงโจทก์ จนกระทั่งโจทก์เจรจากับจำเลยทั้งสองในวันที่ 20 มีนาคม 2541 จำเลยทั้งสองจึงยอมรับว่าไม่มีการจดทะเบียนเพิ่มทุน จึงไม่มีหุ้นโอนให้โจทก์ พร้อมคืนเงินค่าจองหุ้นและชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์รวมเป็นเงิน 2,000,000 บาท เพื่อไม่ให้โจทก์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองโจทก์จึงทราบว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงโจทก์ในวันที่ 20 มีนาคม 2541 ดังกล่าวเมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 19 มิถุนายน 2541 เป็นระยะเวลาภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 โดยไม่รอการลงโทษจำคุกนั้นเห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้หญิงอายุมากแล้ว เคยรับราชการจนเกษียณอายุราชการทั้งไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน เพิ่งกระทำความผิดเป็นครั้งแรก และศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 เพียง 1 ปี เห็นควรให้โอกาสจำเลยที่ 2 กลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป โดยการรอการลงโทษจำคุกดีเสียกว่าที่จะจำคุกจำเลยที่ 2 เสียทีเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปีนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share