คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1706/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อมันสำปะหลังที่ขุดเป็นของโจทก์ที่ 1 ที่ปลูกในที่ดินเกิดเหตุ โดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นผู้ปลูก การที่จำเลยที่ 1 ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์ทั้งสี่ลักทรัพย์มันสำปะหลังที่ตนปลูกจึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนซึ่งทำให้โจทก์ทั้งสี่เสียหาย จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 หาใช่เป็นเรื่องขาดเจตนาไม่ ส่วนจำเลยที่ 2ไปให้การเป็นพยานต่อพนักงานสอบสวนยืนยันว่าตนร่วมปลูกมันสำปะหลังกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นความเท็จ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 จะได้มีเจตนาร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 2 คงเป็นเพียงความผิดฐานแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่าเท่านั้น ปัญหานี้แม้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้อง และกำหนดโทษให้เหมาะสมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225,192 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2540 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบำเหน็จณรงค์ว่า โจทก์ทั้งสี่ร่วมกันลักมันสำปะหลังของจำเลยทั้งสองที่ไร่บ้านหนองแปะ คิดเป็นเงินประมาณ 18,000 บาท และเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2540 เวลากลางวัน จำเลยที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยาร่วมกันปลูกมันสำปะหลังดังกล่าวไว้ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วมันสำปะหลังดังกล่าวเป็นของโจทก์ที่ 1 การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ทั้งสี่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้รับความเสียหาย เหตุเกิดที่สถานีตำรวจภูธร อำเภอบำเหน็จณรงค์ ตำบลบ้านชวน อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 172

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ลงโทษจำคุกคนละ 6 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นที่ยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังฟ้อง จำเลยที่ 1 ได้นำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับโจทก์ทั้งสี่ขณะกำลังขุดมันสำปะหลังในที่เกิดเหตุในข้อหาลักทรัพย์ตามที่ได้ไปแจ้งความไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 ในคดีดังกล่าว จำเลยที่ 2 ได้ไปให้ถ้อยคำเป็นพยานในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.4 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาหรือไม่ โจทก์ทั้งสี่มีตัวโจทก์ทั้งสี่มาเบิกความรวมใจความว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ทำไร่มันสำปะหลังในที่ดินเกิดเหตุซึ่งเช่าจากนางสมบัติเมื่อปี 2538 ส่วนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้รับจ้างช่วยปลูก และมีนายตัง ถาวรวัตร นางสนอง ปูนสันเทียะ ซึ่งทั้งสองมีที่ดินติดที่ดินพิพาทและนายยรรยงแก้วเพชร ซึ่งมีที่ดินติดต่อกับที่ดินของนางสนองมาเบิกความสนับสนุนว่าคงเห็นแต่โจทก์ที่ 1 เข้าทำไร่มันสำปะหลังในที่ดินที่เช่าจากนางสมบัติ ฝ่ายจำเลยทั้งสองมีตัวจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันมานำสืบต่อสู้ว่าที่ดินเกิดเหตุเป็นมรดกตกทอดของบิดาจำเลยที่ 1 ส่วนมันสำปะหลังที่โจทก์ทั้งสี่ขุดเป็นมันสำปะหลังที่จำเลยทั้งสองปลูกมาตั้งแต่ปี2537 โดยมีนายฉุ่ย ครัวจัตุรัส และนายแปว กลิ่นศรีสุข มาเบิกความสนับสนุนว่า เป็นผู้ร่วมช่วยปลูกกับคนอื่น ๆ อีกกว่าสิบคน เห็นว่า แม้คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างมีชาวบ้านมาเบิกความยันกันว่าฝ่ายที่ตนมาเป็นพยานเป็นผู้เข้าทำประโยชน์โดยปลูกมันสำปะหลังในที่ดินเกิดเหตุ แต่พยานโจทก์ทั้งสามปากดังกล่าวมีสองปากซึ่งมีที่ดินติดกับที่ดินเกิดเหตุ ส่วนอีกปากก็มีที่ดินถัดออกไป โดยเฉพาะปากนายตังและนายยรรยงก็รู้จักจำเลยทั้งสองดีต่างเบิกความหนักแน่นชัดเจนว่าเห็นแต่โจทก์ที่ 1 เป็นฝ่ายเข้าทำไร่มันสำปะหลังในที่ดินเกิดเหตุ แต่ไม่เห็นจำเลยทั้งสองซึ่งต่างจากพยานอื่นของจำเลยทั้งสอง แม้จะเบิกความว่ามาช่วยจำเลยทั้งสองปลูกมันสำปะหลังในที่เกิดเหตุ แต่นายแปวก็เบิกความถึงปีที่ปลูกไม่ตรงกันโดยตอบทนายฝ่ายจำเลยว่าปลูกในปี 2537 แต่ตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าเป็นปี 2536 และเมื่อทนายจำเลยทั้งสองถามติงให้ยืนยัน ก็ว่าเป็นปี 2536ซึ่งไม่ตรงกับทางนำสืบของพยานจำเลยปากอื่น ส่วนนายฉุ่ยก็เบิกความแบบไม่ให้ตนต้องพัวพัน เพราะอ้างว่าหลังรับจ้างจำเลยทั้งสองปลูกมันสำปะหลังแล้วก็ได้เดินทางไปทำงานที่กรุงเทพมหานครที่สำคัญคือโจทก์ทั้งสี่มีร้อยตำรวจเอกสุวิช ไตรทานพนักงานสอบสวนในคดีลักทรัพย์มาเบิกความว่า ชั้นสอบสวนคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1ได้อ้างนายอ่อนตาผู้เป็นน้องเขยและนายพิศผู้เป็นเพื่อนบ้านว่าเป็นผู้ช่วยจำเลยที่ 1ปลูกมันสำปะหลัง แต่บุคคลทั้งสองกลับปฏิเสธว่าไม่เคยช่วย ตามเอกสารหมาย จ.2และ จ.3 และเมื่อทนายจำเลยทั้งสองถามค้านก็มิได้ถามถึงนายแปว นายฉุ่ย ที่มาเบิกความเป็นพยานฝ่ายจำเลยว่า จำเลยทั้งสองได้อ้างเป็นพยานในชั้นสอบสวนด้วยหรือไม่ ทำให้เห็นเป็นพิรุธ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสี่นำสืบว่า มันสำปะหลังที่ขุดเป็นของโจทก์ที่ 1 ที่ปลูกในที่ดินเกิดเหตุโดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นผู้ปลูก ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์ทั้งสี่ลักทรัพย์มันสำปะหลังที่ตนปลูกจึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนซึ่งทำให้โจทก์ทั้งสี่เสียหาย จำเลยที่ 1 จึงย่อมมีความผิดดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำวินิจฉัยหาใช่เป็นเรื่องที่ขาดเจตนาไม่ ฎีกาที่จำเลยที่ 1 อ้างมีข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า ตามฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ทั้งสี่คงได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 2 ไปให้การเป็นพยานต่อพนักงานสอบสวนยืนยันว่าตนร่วมปลูกมันสำปะหลังกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นความเท็จ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 จะได้มีเจตนาร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงคงเป็นเพียงความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่าเท่านั้น ปัญหานี้แม้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องและกำหนดโทษให้เหมาะสมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225,192 วรรคท้าย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วนคดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการสุดท้ายว่า สมควรรอการลงโทษให้จำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า การลงโทษทางอาญา หาใช่คำนึงถึงจำเลยแต่ฝ่ายเดียวไม่ บางครั้งยังจำต้องกระทำเพื่อให้บุคคลอื่นในสังคมเกิดความยำเกรงเพื่อจะได้ไม่กระทำผิดต่อกฎหมาย จำเลยที่ 1 แม้จะมีอายุถึง 70 ปี แต่จำเลยที่ 1 ก็ต่อสู้คดีมาโดยตลอดแสดงถึงการไม่รู้สำนึก ทั้งมีผู้ต้องเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึง 4 คน เมื่อพิเคราะห์ใคร่ครวญแล้วจึงไม่เห็นสมควรรอการลงโทษให้จำเลยที่ 1 แต่ในส่วนจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่าต้นเหตุไม่ได้เกิดจากจำเลยที่ 2 พฤติการณ์ของความผิดก็เป็นเพียงการไปเป็นพยานให้จำเลยที่ 1 โดยมิได้กล่าวโทษผู้ใด และเพิ่งปรากฏความผิดครั้งแรก กรณีมีเหตุสมควรรอการลงโทษให้”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 เดือน โทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share