คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1382/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ปัญหาว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วย ความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลล่าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ดังนี้ เมื่อเป็นคดีความผิดตาม มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.จัดหางานฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน จึงมีกำหนดอายุความฟ้องคดี1 ปี โจทก์ฟ้องจำเลยหลังเกิดเหตุเกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องคดีทั้งสี่สำนวนซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน ทำนองเดียวกัน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มาตรา 7, 27 ให้นับโทษติดต่อกันทั้งสี่สำนวน และนับโทษต่อจากโทษคดีอาญาหมายเลขดำที่108-112/2529 และ 115, 116/2529 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสี่สำนวน แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มาตรา 7, 27 จำคุกสำนวนละ1 เดือน นับโทษติดต่อกันทั้งสี่สำนวน (รวมจำคุก 4 เดือน)และให้นับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 996/2529, 808/2529ของศาลชั้นต้น ส่วนที่ขอให้นับโทษต่อจากคดีอื่นนอกจากนี้คดีดังกล่าวยังไม่มีคำพิพากษาจึงนับโทษต่อให้ไม่ได้
จำเลยทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสี่สำนวน
โจทก์ทั้งสี่สำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องแต่เนื่องจากจำเลยแก้ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว จึงเห็นควรวินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความตามข้อแก้ฎีกาของจำเลยก่อนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มาตรา 27 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมีกำหนดอายุความฟ้องคดี 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(5)วันเกิดเหตุคดีนี้ตามฟ้องโจทก์ทั้งสี่สำนวนอยู่ระหว่างวันที่ 1ธันวาคม 2526 ถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2527 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2529 พร้อมกันทั้งสี่สำนวน ฟ้องโจทก์ทั้งสี่สำนวนจึงขาดอายุความแล้ว ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลล่างศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล…”
พิพากษายืน.

Share