คำวินิจฉัยที่ 61/2553

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๑/๒๕๕๓

วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๓

เรื่อง คดีเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลอาญากรุงเทพใต้

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๑ นายราชันญ์ เทศเพราะผล ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องคณะกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาการปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๔๗ และ พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่ ๑ คณะกรรมการตรวจสอบพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๔๗ สำหรับเรือนจำบางขวาง ที่ ๒ คณะกรรมการตรวจสอบพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๔๙ สำหรับเรือนจำบางขวาง ที่ ๓ คณะกรรมการตรวจสอบพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๕๐ สำหรับเรือนจำบางขวาง ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๙๙๓/๒๕๕๑ ความว่า ผู้ฟ้องคดี เป็นนักโทษเด็ดขาดชายถูกจำคุกอยู่ที่เรือนจำกลางบางขวางในคดีของศาลอาญากรุงเทพใต้ หมายเลขแดงที่ ๔๐๑๗/๒๕๔๒ ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลย (ผู้ฟ้องคดี) ตลอดชีวิต จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลฎีกาพิพากษาแก้ ส่วนกำหนดโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีได้รับหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๔ ซึ่งเป็นวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๔๗ พ.ศ. ๒๕๔๙ และ พ.ศ. ๒๕๕๐ ตามลำดับ ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือลงวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๑ ไปยังหัวหน้าฝ่ายควบคุมแดน ๖ เพื่อขอทราบว่า หลังจากได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว ผู้ฟ้องคดีเหลือวันต้องโทษเท่าใด ซึ่งได้รับคำตอบเป็นหนังสือว่า คงเหลือเป็นเวลา ๓๖ ปี ๕ เดือน ๑๕ วัน ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การคำนวณวันต้องโทษผิดพลาด เพราะที่ถูกต้องแล้วผู้ฟ้องคดีจะเหลือวันต้องโทษอีกเพียง ๒๑ ปี ๔ เดือน ขอให้ศาลพิพากษาให้เปลี่ยนวันต้องโทษของผู้ฟ้องคดีให้ถูกต้องตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๔๗ พ.ศ. ๒๕๔๙ และ พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้งและให้ผู้ฟ้องคดีเหลือวันต้องโทษเป็นเวลาเพียง ๒๑ ปี ๔ เดือน
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การว่า กระทำการตามอำนาจหน้าที่ตามที่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๔๗ พ.ศ. ๒๕๔๙ และ พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัติไว้โดยชอบทุกประการ การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าโทษจำคุกของผู้ฟ้องคดีเหลืออยู่เพียง ๒๑ ปี ๔ เดือน เป็นการเข้าใจผิดคลาดเคลื่อน ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง เนื่องจากเป็นกรณีโต้เถียงกันในเรื่องการตีความคำพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้เกี่ยวกับการลงโทษว่า โทษจำคุกตามคำพิพากษาที่ถูกต้องแล้วคิดกันแบบวิธีใด และคงเหลือโทษจำคุกที่ถูกต้องแล้วเป็นเท่าใด ซึ่งมาตรา ๑๙๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บัญญัติว่า “เมื่อเกิดสงสัยในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ถ้าบุคคลใดที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องร้องต่อศาล ซึ่งพิพากษาหรือสั่ง ให้ศาลนั้นอธิบายให้แจ่มแจ้ง”
ผู้ฟ้องคดีทำคำชี้แจงเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลว่า ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าคณะกรรมการ เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาการปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๔๗ พ.ศ. ๒๕๔๙ และ พ.ศ. ๒๕๕๐ คำนวณโทษผู้ฟ้องคดีไม่ถูกต้องตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุด โดยไม่มีเจตนาให้ผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับโทษตามกฎหมายอาญา จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีเป็นนักโทษเด็ดขาด ซึ่งคดีเด็ดขาดจากศาลยุติธรรมแล้วจึงไม่มีเหตุผลใดที่ต้องส่งคดีไปศาลยุติธรรม และหากผู้ฟ้องคดีจะกระทำต้องกระทำตั้งแต่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๔๗ และหากสงสัยในคำพิพากษาก็ควรกระทำก่อนที่จะวินิจฉัยโทษของผู้ฟ้องคดี เพราะหมายจำคุกถึงที่สุดนั้นออกโดยศาล ดังนั้น จึงไม่จำเป็นที่จะต้องสงสัยคำพิพากษาตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวอ้าง ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด เนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควรหรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ และมาตรา ๑๓ แห่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๔๗ และพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๔๙ กำหนดให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งท้องที่ ผู้พิพากษาศาลแห่งท้องที่หรือตุลาการศาลทหารแห่งท้องที่หนึ่งคน และพนักงานอัยการแห่งท้องที่หรืออัยการทหารแห่งท้องที่หนึ่งคน รวมเป็นสามคนเป็นคณะกรรมการ มีหน้าที่ตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ และส่งรายชื่อต่อศาลแห่งท้องที่ให้เสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ… และวรรคท้าย กำหนดว่าในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติของคณะกรรมการซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบและส่งรายชื่อผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นกรรมการ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด และมาตร ๑๔ วรรคหนึ่งและวรรคท้าย แห่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัติไว้ใจความเดียวกัน เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นคณะกรรมการตามความในมาตรา ๑๓ วรรคท้าย แห่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๔๗ พ.ศ. ๒๕๔๙ และความในมาตรา ๑๔ วรรคท้าย แห่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๕๐ มีหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติของคณะกรรมการซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบและส่งรายชื่อผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นคณะกรรมการตามมาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๔๗ พ.ศ. ๒๕๔๙ และมาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๕๐ มีหน้าที่ตรวจสอบผู้ซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษและส่งรายชื่อให้ศาลแห่งท้องที่เพื่อพิจารณาออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษ ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่คำนวณวันต้องโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๔๗ พ.ศ. ๒๕๔๙ และ พ.ศ. ๒๕๕๐ ของผู้ฟ้องคดีผิดพลาด ขอให้ศาลพิพากษาให้เปลี่ยนวันต้องโทษของผู้ฟ้องคดีให้ถูกต้องตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ และให้เหลือวันต้องโทษ ๒๑ ปี ๔ เดือน กรณีไม่ใช่ผู้ฟ้องคดีเกิดสงสัยในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ตามความในมาตรา ๑๙๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยที่การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ในการพิจารณาตรวจสอบรวมทั้งวินิจฉัยชี้ขาดการลดโทษ เป็นการใช้อำนาจตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งเป็นการกระทำทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลอาญากรุงเทพใต้พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่จะพิจารณาว่าคดีใดอยู่ในอำนาจของศาลปกครองหรือไม่ มิได้พิจารณาเพียงว่า บุคคลที่ถูกฟ้องร้องเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ ตามกฎหมาย โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เพียงฉบับเดียวเท่านั้น ต้องพิจารณากฎหมายฉบับอื่นประกอบด้วย สำหรับคดีนี้ เมื่อพิจารณาพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๔๗ พ.ศ. ๒๕๔๙ และ พ.ศ. ๒๕๕๐ แล้วพบว่า พระราชกฤษฎีกาทั้งสามฉบับกำหนดหลักเกณฑ์ในการได้รับการพระราชทานอภัยโทษและคณะบุคคลที่จะมาพิจารณาในการให้พระราชทานอภัยโทษเท่านั้น มิได้บัญญัติถึงวิธีการปฏิบัติราชการทางปกครองไว้โดยเฉพาะ จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่บัญญัติว่า “วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามกฎหมายต่างๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ในกรณีกฎหมายใดกำหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเรื่องใดไว้โดยเฉพาะและมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรม หรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้” การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการพระราชทานอภัยโทษจึงต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัตินี้ และในมาตรา ๔ บัญญัติว่า “พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่… (๔) การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลและการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการพิจารณาคดี การบังคับคดี และการวางทรัพย์… (๘) การดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา…” ซึ่งการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้น เริ่มตั้งแต่การแจ้งความร้องทุกข์ การสืบสวนสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลและเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว เป็นขั้นตอนการรับโทษอยู่ในอำนาจหน้าที่ของราชทัณฑ์ การลดโทษต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งสิ้น ตามบทบัญญัติดังกล่าว มุ่งประสงค์จะให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมหรือคดีที่เกี่ยวเนื่องกับคำพิพากษาของศาลยุติธรรมได้รับการวินิจฉัยชี้ขาดจากศาลยุติธรรมโดยตรง ดังนั้น การที่คณะกรรมการพระราชทานอภัยโทษมีคำวินิจฉัยและคำสั่งเกี่ยวกับการลดโทษให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือจำเลยที่ ๒ ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษซึ่งเป็นการปฏิบัติในกรอบของกฎหมาย ข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นมิได้เกิดเพราะเหตุที่คณะกรรมการพระราชทานอภัยโทษใช้อำนาจหรือออกคำสั่งอันไม่ชอบ แต่เกิดขึ้นจากคณะกรรมการพระราชทานอภัยโทษตีความคำพิพากษาของศาลฎีกาที่บังคับแก่จำเลย และตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ (๓) ว่า แม้ศาลฎีกาจะลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วโทษฐานอื่นก็คงมีอยู่ การลดโทษจึงต้องพิจารณาในแต่ละฐานความผิด มิใช่นำเฉพาะโทษจำคุกตลอดชีวิตมาเป็นฐานในการคำนวณการลดโทษดั่งที่ผู้ฟ้องคดีหรือจำเลยที่ ๒ กล่าวอ้าง กรณีดังกล่าว คงมีปัญหาเพียงว่า กำหนดโทษของผู้ฟ้องคดีหรือจำเลยที่ ๒ ตามคำพิพากษามีระยะเวลาเท่าใด โทษอื่นนอกจากโทษจำคุกตลอดชีวิตยังคงมีอยู่และถูกบังคับตามคำพิพากษาหรือไม่ ซึ่งมาตรา ๑๙๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บัญญัติว่า “เมื่อเกิดความสงสัยในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ถ้าบุคคลใดที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องต่อศาลซึ่งพิพากษาหรือสั่ง ให้ศาลอธิบายให้แจ่มแจ้ง” อีกทั้งตามพระราชกฤษฎีกาทั้งสามฉบับล้วนให้บทนิยามศัพท์ของคำ “กำหนดโทษ” ว่า กำหนดโทษซึ่งศาลได้กำหนดไว้ในคำพิพากษาและกำหนดไว้ในหมายแจ้งโทษเมื่อคดีถึงที่สุด แสดงให้เห็นว่า การกำหนดโทษของผู้ฟ้องคดีหรือจำเลยที่ ๒ ตามคำพิพากษาเป็นสิ่งสำคัญในการลดโทษให้แก่ผู้ต้องโทษที่จะได้รับประโยชน์ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ หากมีการกำหนดโทษผิด หรือนับโทษไม่ถูกต้องย่อมทำให้การลดโทษไม่ถูกต้องตามไปด้วย การกระทำหรือคำสั่งของคณะกรรมการพระราชทานอภัยโทษจึงเป็นการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา นอกจากนี้ พระราชกฤษฎีกาทั้งสามฉบับยังได้ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญและอำนาจตามมาตรา ๒๖๑ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบังคับโทษอันสืบเนื่องมาจากคำพิพากษาของศาล ดังนั้น อำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับกรณีนี้จึงต้องอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงคดีนี้ ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่คำนวณวันต้องโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๔๗ พ.ศ. ๒๕๔๙ และ พ.ศ. ๒๕๕๐ ของผู้ฟ้องคดีผิดพลาด ขอให้ศาลพิพากษาให้เปลี่ยนวันต้องโทษของผู้ฟ้องคดีให้ถูกต้อง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การว่า กระทำการตามอำนาจหน้าที่ตามที่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๔๗ พ.ศ. ๒๕๔๙ และ พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัติไว้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๑ บัญญัติว่า “เมื่อเกิดความสงสัยในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ถ้าบุคคลใดที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องร้องต่อศาลซึ่งพิพากษาหรือสั่ง ให้ศาลอธิบายให้แจ่มแจ้ง” การที่ผู้ฟ้องคดีมีความสงสัยในการคำนวณระยะเวลาอภัยโทษ จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีเกิดความสงสัยในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลซึ่งตนมีประโยชน์เกี่ยวข้องอยู่ ผู้ฟ้องคดีก็ชอบที่จะร้องต่อศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลที่มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๑ เท่านั้น คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายราชันญ์ เทศเพราะผล ผู้ฟ้องคดี คณะกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาการปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๔๗ และ พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่ ๑ คณะกรรมการตรวจสอบพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๔๗ สำหรับเรือนจำบางขวาง ที่ ๒ คณะกรรมการตรวจสอบพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๔๙ สำหรับเรือนจำบางขวาง ที่ ๓ คณะกรรมการตรวจสอบพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๕๐ สำหรับเรือนจำบางขวาง ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share