แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้นำทรัพย์รวม 44 รายการ ฝากจำเลยไว้เมื่อประมาณปี 2532 ถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2539 ต่อมาโจทก์ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยคืนทรัพย์ดังกล่าวแก่โจทก์ แต่จำเลยหาได้นำทรัพย์มาคืนให้โจทก์ไม่ โดยจำเลยมีเจตนาเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการยักยอกทรัพย์ ดังนี้ แม้ความผิดฐานยักยอกจะต้องปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตอันเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย แต่การยักยอกทรัพย์ย่อมมีความหมายถึงการบังอาจเอาทรัพย์ที่ผู้อื่นฝากไว้ไปโดยมีเจตนาทุจริตอยู่ในตัวอยู่แล้ว ฉะนั้น โจทก์จึงไม่จำเป็นต้องบรรยายฟ้องว่าจำเลยทุจริตหรือโดยทุจริตแต่ประการใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า คำฟ้องของโจทก์ครบองค์ประกอบความผิดฐานยักยอกหรือไม่ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของทองรูปพรรณ ทองแท่ง นาก หยก พลอย ทับทิม นาฬิกา เครื่องเพชร เครื่องประดับ และพระเครื่อง รวม 44 รายการ เป็นเงิน 2,024,150 บาท โดยโจทก์ได้นำทรัพย์ดังกล่าวฝากจำเลยไว้เมื่อประมาณปี 2532 ถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2539 ต่อมาโจทก์ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยคืนทรัพย์ดังกล่าวแก่โจทก์ แต่จำเลยก็หาได้นำทรัพย์ข้างต้นคืนให้โจทก์ไม่ โดยจำเลยมีเจตนาเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการยักยอกทรัพย์จะเห็นได้ว่า แม้ความผิดฐานยักยอกจะต้องปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตอันเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย แต่การยักยอกทรัพย์ย่อมมีความหมายถึงการบังอาจเอาทรัพย์ที่ผู้อื่นฝากไว้ไปโดยมีเจตนาทุจริตอยู่ในตัวอยู่แล้ว ฉะนั้น โจทก์จึงไม่จำเป็นจะต้องบรรยายฟ้องว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตหรือโดยทุจริตแต่ประการใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์มานั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปยังศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่เพื่อให้การวินิจฉัยความผิดของจำเลยเป็นไปตามลำดับชั้นศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240 (3) ประกอบด้วยมาตรา 247 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 และศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี