คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2679/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การกำหนดรายจ่ายที่คิดเป็นร้อยละของรายจ่ายหลักที่ใช้ในการผลิตบวกด้วยร้อยละของรายจ่ายในการสำรวจทางธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์และบวกด้วยร้อยละของรายจ่ายตรงตามสัญญาปฏิบัติการ (Operating Agreement) นั้นแสดงให้เห็นว่าเป็นการกำหนดขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง ดังนี้รายจ่ายดังกล่าวจึงไม่ใช่รายจ่ายตามปกติและจำเป็นในกิจการปิโตรเลียมของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ มาตรา 27, 65 ฉ และ 65 สัตต โจทก์จึงอ้างรายจ่ายในส่วนที่คิดเป็นร้อยละเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการในบริษัทโจทก์ และนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสิทธิหาได้ไม่ ดังนี้การที่โจทก์ได้รับเงินดังกล่าวจากบริษัทผู้ร่วมสัมปทานซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกันในส่วนที่เกินจากรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงในการดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้จ่ายคืนให้บริษัทผู้ร่วมสัมปทานดังกล่าว เงินได้ดังกล่าวจึงเป็นเงินได้อื่นที่โจทก์ได้รับเนื่องจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมตามมาตรา 22 (5) แห่ง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ของโจทก์จากผู้ร่วมสัมปทาน
แม้คดีนี้จะมีประเด็นเดียวกับคดีที่โจทก์ได้เคยนำคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาและศาลฎีกาได้พิพากษาให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเพิ่มเติม เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งให้โจทก์ทราบภาษีเงินได้ปิโตรเลียมในประเด็นดังกล่าวด้วยหลักเกณฑ์เดียวกับที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาไว้แล้วนั้น แต่เนื่องจากคดีมีประเด็นเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับการชดเชยจากผู้ร่วมสัมปทานทั้งสองรายถือเป็นรายได้ของโจทก์หรือไม่ อันเป็นปัญหาสืบเนื่องกันมา การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้รวมกับประเด็นที่ศาลฎีกาได้เคยมีคำพิพากษาแล้วก็มีเหตุผลอันชอบอยู่ และมีปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาในข้อกฎหมายที่อาจเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเลขที่ ต.7/1017/3/100001 และ 100002 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2537 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.1 (อธ.2)/2542/305 และ 306 ลงวันที่ 27 เมษายน 2542 และให้ถือว่าโจทก์มีสิทธินำรายจ่ายที่ได้จัดสรรในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2531 และ 2532 จำนวน 70,374,704.13 บาท และ 75,754,440.99 บาท ตามลำดับไปถือเป็นรายจ่ายในการคิดคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวได้ อีกทั้งไม่ถือว่าโจทก์มีรายได้เพิ่มขึ้นสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2531 และ 2532 เป็นจำนวนเงิน 22,910,353.33 บาท และ 27,699,665.91 บาท และขอให้งดเว้นเบี้ยปรับและเงินเพิ่มทั้งหมดแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขหนังสือแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยโดยให้ถือว่าเงินที่บริษัทเซ้าท์อีสท์เอเซียปิโตรเลียมเอ็กซ์พลอเรชั่น จำกัด และบริษัทมิตซุยออยล์เอ๊กซ์พลอเรชั่น จำกัด จ่ายเป็นค่าชดเชยสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2531 จำนวน 22,910,353.33 บาท และสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 จำนวน 27,699,665.91 บาท ไม่ใช่รายได้ของโจทก์ที่จะนำมารวมในการคำนวณกำไรสุทธิให้ลดเบี้ยปรับให้โจทก์ โดยให้เรียกเก็บเพียงร้อยละ 20 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามหนังสือแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 ที่กำหนดไว้และวินิจฉัยนอกคำรับของคู่ความอีกด้วยหรือไม่ โดยโจทก์อ้างในอุทธรณ์ว่า ศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อที่ 1 ว่ารายจ่ายจำนวน 70,374,704.13 บาท และจำนวน 75,754,440.99 บาท ที่โจทก์จ่ายไปในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2531 และ 2532 ตามลำดับ เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 สัตต แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2541 หรือไม่ และตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางวันที่ 4 พฤศจิกายน 2542 ระบุว่า คู่ความทั้งสองฝ่ายยังคงติดใจเพียงประเด็นที่ว่ารายจ่ายยอดรวมที่ได้รับการจัดสรรทั้งสิ้นในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2531 และ 2532 เป็นรายจ่ายปกติจำเป็นและเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมของโจทก์ในประเทศไทย หรือไม่ โดยไม่โต้แย้งกันว่ารายจ่ายดังกล่าวเกินสมควรหรือไม่ ซึ่งศาลภาษีอากรกลางก็วินิจฉัยไว้แล้วว่า การที่โจทก์ต้องจ่ายเงินให้บริษัทยูเนียนออยล์ออฟแคลิฟอร์เนีย จำกัด สำหรับความช่วยเหลือที่โจทก์ได้รับเป็นเรื่องปกติและเป็นรายจ่ายที่จำเป็นทั้งได้จ่ายไปทั้งหมดเฉพาะในกิจการปิโตรเลียม และเมื่อรายจ่ายในการบริหารไม่เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 สัตต แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 โจทก์จึงต้องเป็นฝ่ายชนะคดีในประเด็นข้อพิพาทที่ 1 ตามที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดไว้ แต่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยเลยไปว่าโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ารายจ่ายที่โจทก์จ่ายให้บริษัทยูเนียนออยล์ออฟแคลิฟอร์เนีย จำกัด เป็นรายจ่ายที่ไม่เกินสมควรนั้น เห็นว่า คดีนี้มีปัญหาเรื่องการตัดรายจ่ายในส่วนของบริษัทยูเนียนออยล์ออฟแคลิฟอร์เนีย จำกัด ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินมิได้ตัดรายจ่ายทั้งจำนวนคงตัดเฉพาะรายจ่ายที่คำนวณขึ้นเป็นร้อยละของรายจ่ายอย่างอื่น คดีจึงมีปัญหาเฉพาะในส่วนของรายจ่ายที่คำนวณขึ้นเป็นร้อยละของรายจ่ายอย่างอื่นตามสัญญาปฏิบัติการ (Operating Agreement) ซึ่งอยู่นอกเหนือจากรายจ่ายที่บริษัทยูเนียนออยล์ออฟแคลิฟอร์เนีย จำกัด ได้ให้ความช่วยเหลือโจทก์ ปัญหารายจ่ายดังกล่าวจะต้องพิจารณาก่อนว่ารายจ่ายที่คำนวณขึ้นเป็นร้อยละนั้นเป็นรายจ่ายตามปกติและจำเป็นหรือไม่ ซึ่งส่วนนี้ยังไม่มีการรับกันโดยคู่ความหรือมีการวินิจฉัยโดยคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางตามที่โจทก์อ้าง ส่วนที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยในประเด็นว่าโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ารายจ่ายที่โจทก์จ่ายให้บริษัทยูเนียนออยล์ออฟแคลิฟอร์เนีย จำกัด เป็นรายจ่ายที่ไม่เกินสมควรนั้น เป็นการวินิจฉัยไม่ตรงตามมาตรา 65 สัตต แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ตามประเด็นข้อพิพาทที่ศาลภาษีอากรกลางได้กำหนดไว้ ด้วยเหตุนี้ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยใหม่ เนื่องจากได้มีการสืบพยานโจทก์และจำเลยเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้แล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า รายจ่ายที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัทยูเนียนออยล์ออฟแคลิฟอร์เนีย จำกัด สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2531 จำนวน 70,374,704.13 บาท และสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ 2532 จำนวน 75,754,440.99 บาท เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 สัตต แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ซึ่งไม่สามารถหักเป็นรายจ่ายได้ตามมาตรา 65 ฉ แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 หรือไม่ พยานโจทก์ต่างเบิกความเกี่ยวเนื่องสอดคล้องต้องกันว่า โจทก์และผู้ร่วมสัมปทานคือบริษัทเซ้าท์อีสเอเซียปิโตรเลียมเอ็กซ์พลอเรชั่น จำกัด และบริษัทมิตซุยออยล์เอ๊กซ์พลอเรชั่น จำกัด ได้รับโอนกิจการและสิทธิที่มีอยู่ในสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2515/5 และสัมปทานเลขที่ 2/2515/6 จากบริษัทยูโนแคลไทยเลนด์อิงค์ เดิมชื่อบริษัทยูเนียนออยล์ออฟไทยแลนด์ จำกัด ซึ่งมาตรา 24 และ มาตรา 50 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอและผู้รับโอนสัมปทานปิโตรเลียมไว้ว่าต้องเป็นบริษัทจำกัดที่มีทุน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญเพียงพอที่จะสำรวจ ผลิต ขาย และจำหน่ายปิโตรเลียมหากไม่มีก็ต้องมีบริษัทอื่นที่มีคุณสมบัติดังกล่าวรับรองกับรัฐบาลว่าจะให้ทุน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากรแก่ผู้ขอหรือผู้รับโอนสัมปทานให้สามารถสำรวจ ผลิต ขาย และจำหน่ายปิโตรเลียมได้ โจทก์ไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว จึงให้บริษัทยูเนียนออยล์ออฟแคลิฟอร์เนีย จำกัด ซึ่งถือหุ้นในบริษัทโจทก์ทั้งหมดมาให้คำรับรองหรือค้ำประกันกับรัฐบาลไทยว่าจะปฏิบัติตามข้อผูกพันที่โจทก์มีอยู่ตามสัมปทานและให้ความช่วยเหลือโจทก์ในด้านเงินทุน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ ตลอดจนบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญในการสำรวจและขุดเจาะหาปิโตรเลียม โดยโจทก์และผู้ร่วมสัมปทานต้องเฉลี่ยกันจ่ายเงินเพื่อชดเชยรายจ่ายให้แก่บริษัทออยล์ออฟแคลิฟอร์เนีย จำกัด สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2531 จำนวน 93,285,057.46 บาท โดยโจทก์รับผิดชอบจำนวน 70,374,704.13 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 22,910,353.33 บาท บริษัทเซ้าท์อีสท์เอเซียปิโตรเลียมเอ็กซ์พลอเรชั่น จำกัดและบริษัทมิตซุยออยล์เอ๊กซ์พลอเรชั่น จำกัด ร่วมกันรับผิดชอบ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 จำนวน 103,454,106.90 บาท โดยโจทก์รับผิดชอบจำนวน 75,754,440.99 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 27,699,665.91 บาท บริษัทผู้ร่วมสัมปทานร่วมกันรับผิดชอบ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 มาตรา 27 บัญญัติว่า รายได้เมื่อได้หักรายจ่ายตามปกติและจำเป็นออกแล้วผลลัพธ์เป็นผลกำไรประจำปีหรือผลขาดทุนประจำปี แล้วแต่กรณีและพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 มาตรา 65 ฉ บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 65 สัตต และมาตรา 65 อัฎฐ รายจ่ายตามปกติและจำเป็นให้จำกัดอยู่เฉพาะแต่รายจ่ายที่บริษัทสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นรายจ่ายตามปกติและจำเป็นในจำนวนไม่เกินสมควร และได้จ่ายไปทั้งหมดเฉพาะในกิจการปิโตรเลียมไม่ว่าจะจ่ายในหรือนอกราชอาณาจักร และภายในข้อจำกัดดังกล่าวให้รวมถึง… (8) รายจ่ายของสำนักงานใหญ่เท่าที่จัดสรรได้โดยสมควรว่าเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมของบริษัท ส่วนมาตรา 65 สัตต บัญญัติว่า รายการที่มิให้ถือเป็นรายจ่ายตามปกติและจำเป็นให้รวมถึง… จึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาก่อนว่า กรณีที่โจทก์จ่ายรายจ่ายที่คำนวณขึ้นเป็นร้อยละของรายจ่ายอื่นให้แก่บริษัทยูเนียนออยล์ออฟแคลิฟอร์เนีย จำกัด เป็นรายจ่ายตามปกติและจำเป็นตามมาตรา 65 สัตต แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 หรือไม่ และเป็นรายจ่ายที่อยู่ใน (1) ถึง (10) ของบทมาตราดังกล่าวหรือไม่ ข้อนี้เจ้าพนักงานประเมินให้เหตุผลในการประเมินว่า โจทก์ในฐานะเป็นผู้ดำเนินการสัมปทานได้กำหนดรายจ่ายของสำนักงานใหญ่เป็นรายจ่ายในการประกอบกิจการปิโตรเลียมในประเทศไทย โดยกำหนดวิธีการคำนวณเป็น 2 วิธีแล้วแต่วิธีใดจะมากกว่า ดังนี้ กำหนดอัตราเดือนละ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือร้อยละ 1 ของรายจ่ายหลักที่ใช้ในการดำเนินการผลิตบวกด้วยร้อยละ 2 ของรายจ่ายในการสำรวจทางธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ และบวกด้วยร้อยละ 3 ของรายจ่ายทางตรงโดยรายจ่ายตามสัดส่วนของโจทก์ โจทก์จะบันทึกเป็นรายจ่ายของสำนักงานใหญ่ในการคำนวณกำไรสุทธิ ส่วนรายจ่ายตามสัดส่วนของบริษัทผู้ร่วมสัมปทาน โจทก์จะเรียกเก็บจากผู้ร่วมสัมปทานเป็นรายเดือนเพื่อชดเชยการได้รับบริการและการสนับสนุนจากสำนักงานใหญ่ ซึ่งรายจ่ายดังกล่าวมิใช่รายจ่ายตามปกติและจำเป็นของการประกอบกิจการปิโตรเลียมที่โจทก์ได้จ่ายไปจริง และไม่ใช่รายจ่ายของสำนักงานใหญ่ที่เกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมที่โจทก์จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ฉ แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ซึ่งห้ามนำมาถือเป็นรายจ่ายตามปกติและจำเป็นตามมาตรา 65 สัตต แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 เห็นว่า การกำหนดรายจ่ายที่คิดเป็นร้อยละของรายจ่ายหลักที่ใช้ในการผลิตบวกด้วยร้อยละของรายจ่ายในการสำรวจทางธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์และบวกด้วยร้อยละของรายจ่ายทางตรงนั้น แสดงให้เห็นว่าเป็นการกำหนดขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงของบริษัทยูเนียนออยล์ออฟแคลิฟอร์เนีย จำกัด และทางพิจารณาของโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบแสดงให้เห็นว่ารายจ่ายที่คิดเป็นร้อยละของรายจ่ายหลักที่ใช้ในการผลิต ในการสำรวจทางธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์และรายจ่ายทางตรงนั้นเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงและได้จ่ายไปจริง ดังนี้ รายจ่ายดังกล่าวจึงมิใช่รายจ่ายตามปกติและจำเป็นในกิจการปิโตรเลียมของโจทก์ตามบทกฎหมาย โจทก์จึงอ้างรายจ่ายในส่วนที่คิดเป็นร้อยละเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการในบริษัทโจทก์ และนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิหาได้ไม่ และเมื่อวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวข้างต้นแล้วจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า รายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายของสำนักงานใหญ่เท่าที่จัดสรรได้โดยสมควรว่าเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมของบริษัทตามพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 มาตรา 65 ฉ (8) หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่าโจทก์นำรายจ่ายดังกล่าวไปคำนวณภาษีเงินได้ปิโตรเลียมไม่ได้นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วยในผลอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำนวนเงินรายจ่ายในส่วนที่บริษัทเซ้าท์อีสท์เอเซียปิโตรเลียมเอ๊กซ์พลอเรชั่น จำกัด และบริษัทมิตซุยออยล์เอ๊กซ์พลอเรชั่น จำกัด ต้องเฉลี่ยความรับผิดกับโจทก์ที่บริษัททั้งสองดังกล่าวได้จ่ายให้แก่บริษัทยูเนียนออยล์ออฟแคลิฟอร์เนีย จำกัด สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2531 จำนวน 22,910,353.33 บาท และรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 จำนวน 27,699,665.91 บาท ถือเป็นรายได้เพิ่มขึ้นของโจทก์หรือไม่ ปัญหานี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่นางสาวศิริพร ไชยสุต นายปรมาภรณ์ ไกรฤกษ์ นายเดวิด ซี.ดับเบิ้ลยู ฮัดสัน พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกันว่า รายจ่ายในส่วนที่บริษัทเซ้าท์อีสท์เอเซียปิโตรเลียมเอ็กซ์พลอเรชั่น จำกัด และบริษัทมิตซุยออยล์เอ็กซ์พลอเรชั่น จำกัด ผู้ร่วมสัมปทานกับโจทก์จะต้องเฉลี่ยรับผิดชอบจ่ายให้แก่บริษัทยูเนียนออยล์ออฟแคลิฟอร์เนีย จำกัด สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2531 จำนวน 22,910,353.33 บาท และรอบระยะเวลาบัญชีปี 2532 จำนวน 27,699,665.91 บาท โดยบริษัทผู้ร่วมสัมปทานทั้งสองได้จ่ายเงินสองจำนวนดังกล่าวให้แก่สำนักงานใหญ่ของโจทก์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วสำนักงานใหญ่ของโจทก์ได้จ่ายต่อให้แก่บริษัทยูเนียนออยล์ออฟแคลิฟอร์เนีย จำกัด และตามที่ได้วินิจฉัยประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์แล้วว่า รายจ่ายในส่วนที่คิดเป็นร้อยละตามสัญญาปฏิบัติการ (Operating Agreement) โจทก์ไม่สามารถนำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียมได้ เพราะมิใช่รายจ่ายตามปกติและจำเป็น ดังนี้ การที่โจทก์ได้รับเงินได้ดังกล่าวจากบริษัทผู้ร่วมสัมปทานซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกันในส่วนที่เกินจากรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงในการดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้จ่ายคืนให้บริษัทผู้ร่วมสัมปทานดังกล่าว เงินได้ดังกล่าวจึงเป็นเงินได้อื่นใดที่โจทก์ได้รับเนื่องจากการประกอบกิจการปิโตรเลียม ตามมาตรา 22 (5) แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ของโจทก์ที่ได้รับจากบริษัทผู้ร่วมสัมปทาน ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่า เงินที่บริษัทผู้ร่วมสัมปทานทั้งสองของโจทก์จ่ายเป็นค่าชดเชยสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2531 และ 2532 จำนวน 22,910,353.33 บาท และ จำนวน 27,699,665.91 บาท ตามลำดับ ไม่ใช่รายได้ของโจทก์ที่จะนำมารวมในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธินั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไปว่า โจทก์ได้ให้ความร่วมมือส่งสมุดบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้องให้เจ้าพนักงานประเมิน ทั้งได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปพบและให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานประเมินขอให้งดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ส่วนจำเลยอุทธรณ์ว่า ที่ศาลภาษีอากรกลางให้ลดเบี้ยปรับโดยให้เรียกเก็บเพียงร้อยละ 20 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายนั้น แม้โจทก์จะให้ความร่วมมือในการตรวจสอบเป็นอย่างดี แต่เนื่องจากกิจการของโจทก์เป็นกิจการข้ามชาติขนาดใหญ่ซึ่งมีเงินมากพอที่จะจ้างนักบัญชีและที่ปรึกษาทางภาษีอากรที่มีความชำนาญและมีความรู้เกี่ยวกับการเสียภาษีอากรเป็นอย่างดี ซึ่งจะกล่าวอ้างว่าเป็นเรื่องของความเข้าใจคลาดเคลื่อนในข้อกฎหมายก็ไม่น่ารับฟัง ประกอบกับประเด็นของรายจ่ายสำนักงานใหญ่ที่มีข้อเท็จจริงในลักษณะเดียวกัน โจทก์ได้เคยนำคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาและศาลฎีกาได้พิพากษาให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเพิ่มเติม เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้ปิโตรเลียมในประเด็นดังกล่าวด้วยหลักเกณฑ์เดียวกับที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาไว้แล้ว โจทก์เลือกที่จะฟ้องคดีใหม่อีกครั้ง ทำให้การชำระภาษีช้าลง และเป็นผลเสียแก่รัฐในการจัดเก็บภาษีเป็นอย่างยิ่ง จึงไม่มีเหตุที่จะลดเบี้ยปรับให้มากกว่าที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ลดให้มากแล้วนั้น เห็นว่า แม้คดีนี้จะมีประเด็นเดียวกับคดีที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาไว้แล้ว แต่เนื่องจากคดีนี้มีประเด็นเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับการชดเชยจากผู้ร่วมสัมปทานทั้งสองรายถือเป็นรายได้ของโจทก์หรือไม่อันเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องกันมา การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้รวมกับประเด็นที่ศาลฎีกาได้เคยมีคำพิพากษามาแล้วก็มีเหตุผลอันชอบอยู่ และปัญหาดังกล่าวก็เป็นปัญหาในข้อกฎหมายที่อาจเกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ การที่ศาลภาษีอากรกลางให้ลดเบี้ยปรับโดยให้เรียกเก็บเพียงร้อยละ 20 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย และพฤติการณ์ของโจทก์ยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะงดเบี้ยปรับแก่โจทก์ทั้งหมด สำหรับเงินเพิ่มนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติให้งด และหากจะลดก็จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เมื่อพฤติการณ์ของโจทก์ไม่เข้ากรณีที่จะลดเงินเพิ่มได้ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจึงไม่อาจพิจารณางดหรือลดเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ได้ อุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเลขที่ ต.7/10173/100001 และ 100002 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2537 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.1 (อธ.2) 2542/305 และ 306 ลงวันที่ 27 เมษายน 2542 ของจำเลย ในส่วนที่เกี่ยวกับรายได้ของโจทก์ที่ได้รับจากบริษัทผู้ร่วมสัมปทานกับโจทก์เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share