คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1692/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การวินิจฉัยข้อกฎหมายศาลอุทธรณ์จะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากคำพยานหลักฐานในท้องสำนวน แต่เรื่องนี้ศาลชั้นต้นยังหาได้วินิจฉัยประเด็นเรื่องโจทก์ได้บอกเลิกการเช่าแก่จำเลยแล้ว และเรื่องจำเลยใช้สถานที่ประกอบการค้า ศาลอุทธรณ์จึงวินิจฉัยไม่ตรงตามข้อหาในชั้นฟ้องอุทธรณ์ เป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาเช่าที่โจทก์ส่วนหนึ่งของโฉนดที่ 2019ซอยกิ่งเพชร ตำบลถนนเพชรบุรี อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร เนื้อที่ 1 งานเศษ มีกำหนด 3 ปีค่าเช่าเดือนละ 20 บาท สัญญาเช่าสิ้นสุดแล้ว จำเลยค้างค่าเช่าแต่กุมภาพันธ์ 2498 ถึงวันฟ้องรวม 7 เดือนเศษ เป็นค่าเช่า 150 บาท ทั้งเมื่อ พ.ศ. 2495 จำเลยได้แบ่งที่ดินที่เช่าจากโจทก์ไปให้คนอื่นเช่าโดยจำเลยไม่บอกโจทก์ หรือรับอนุญาตจากโจทก์ เป็นการผิดสัญญาทั้งจำเลยใช้ที่เช่าเป็นที่เก็บรถ 3 ล้อ เพื่อให้บุคคลอื่นเช่าเป็นการประกอบการค้า จึงฟ้องศาลเพื่อให้บังคับ

จำเลยให้การว่า พ.ศ. 2479 จำเลยเช่าที่พิพาทจากนางแต้มเพื่อปลูกบ้านอยู่ ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2481 มีคนอื่นขอแบ่งเช่าบ้านนางแต้มรู้เห็นยินยอม พ.ศ. 2491 จำเลยเปลี่ยนมาเช่ากับโจทก์ ๆทราบดี และโจทก์ยินยอมทำสัญญาให้จำเลย ๆ ปฏิบัติตามเดิม ไม่ผิดสัญญา การมี 3 ล้อเช่าไปรับจ้างมาเก็บและให้เช่าที่เก็บ 3 ล้อไม่ใช่ประกอบการค้า จำเลยไม่เคยผิดนัดชำระค่าเช่า ได้ส่งไปทางธนาณัติแต่โจทก์ไม่รับเอง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลย และบริวารออกจากที่พิพาท

จำเลยอุทธรณ์ทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโดยศาลชั้นต้นรับรองให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา ศาลฎีกาได้วินิจฉัยปัญหาข้อ 3 ที่จำเลยเถียงว่าศาลชั้นต้นไม่ได้วินิจฉัยว่า โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยทราบล่วงหน้าศาลอุทธรณ์กลับไปวินิจฉัย คดีนี้จำเลยจะอุทธรณ์ได้แต่ปัญหาข้อกฎหมายการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์จะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากคำพยานหลักฐานในท้องสำนวน แต่เรื่องนี้ศาลชั้นต้นรับรองให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ด้วย เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีอำนาจให้เช่าช่วงได้ แล้ววินิจฉัยเลยไปว่าโจทก์ได้บอกเลิกการเช่าแก่จำเลยแล้ว และว่าจำเลยใช้สถานที่เช่าประกอบการค้า ซึ่งประเด็น 2 ข้อนี้ศาลชั้นต้นยังหาได้วินิจฉัยไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงไม่ตรงกับข้อหาในชั้นฟ้องอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142, 242, 243, 246 จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาและพิพากษาใหม่

Share