คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14260/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นายจ้างจะบอกเลิกสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างแก่ลูกจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าต้องเป็นกรณีที่มีการจ้างกันครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง (ที่ใช้บังคับในขณะเลิกจ้าง) เท่านั้น
สัญญาจ้างกำหนดระยะเวลาการจ้าง 11 เดือน นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2548 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2549 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เมษายน 2549 อันเป็นการเลิกจ้างก่อนครบกำหนดตามสัญญาจ้าง เป็นกรณีจำเลยไม่ถือเอาระยะเวลาตามสัญญาจ้างเป็นสาระสำคัญ จำเลยจึงต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าและจำเลยจะจ่ายค่าจ้างตามจำนวนที่ต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาและให้โจทก์ออกจากงานทันทีก็ได้ตามมาตรา 17 วรรคสองและวรรคสี่ (ที่ใช้บังคับในขณะเลิกจ้าง)
กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 10 ของเดือน วันที่ 21 เมษายน 2549 จำเลยออกประกาศเลิกจ้างโจทก์โดยให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เมษายน 2549 เป็นกรณีจำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างเป็นหนังสือก่อนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างในวันที่ 10 พฤษภาคม 2549 จึงมีผลเป็นการเลิกสัญญาในวันที่ 10 มิถุนายน 2549 จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2549 จนถึงวันเลิกสัญญาคือวันที่ 10 มิถุนายน 2549 แต่จำเลยจ่ายค่าจ้างของเดือนเมษายน 2549 ให้โจทก์แล้ว จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับจากวันที่ 1 พฤษภาคม 2549 ถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2549

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าเสียหายที่โจทก์ทำงานไม่ครบกำหนดตามสัญญา 720,000 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 1,000,000 บาท และเป็นการเลิกจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 164,000 บาท และมีสิทธิได้รับค่าชดเชย 30 วัน เป็นเงิน 120,000 บาท ระหว่างทำงานจำเลยยังค้างค่าจ้างสำหรับเดือนเมษายน 2549 เป็นเงิน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการทำงานไม่ครบตามสัญญา กับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าจ้างค้างและค่าชดเชยนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยเป็นเงิน 120,000 บาท ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างเป็นเงิน 150,000 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าชดเชย และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าเสียหายทั้งสองจำนวน ดอกเบี้ยทั้งหมดนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 1 พฤษภาคม 2549) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างตำแหน่งแพทย์ผิวหนัง ได้รับค่าจ้างเดือนละ 120,000 บาท สัญญาจ้าง ระบุว่าจำเลยว่าจ้างโจทก์มีกำหนดเวลา 11 เดือน นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2548 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2549 ต่อมาจำเลยออกประกาศ เลิกจ้างโจทก์ ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 30 เมษายน 2549 และข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันได้ความว่าจำเลยกำหนดจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทุกวันที่ 10 ของเดือน มีปัญหาวินิจฉัยประการเดียวว่า จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า สัญญาจ้าง ข้อ 2 กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ 11 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2548 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2549 จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าต้องเป็นกรณีที่มีการจ้างกันครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง (ที่ใช้บังคับในขณะเลิกจ้าง) เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์เมื่อใดก็ได้ในระหว่างกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้าง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามประกาศ ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 30 เมษายน 2549 อันเป็นการเลิกจ้างก่อนครบกำหนดตามสัญญาจ้าง ข้อ 2 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างกรณีที่สัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาการจ้างและจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ตามระยะเวลานั้น และเป็นกรณีจำเลยไม่ถือเอากำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างข้อ 2 เป็นสาระสำคัญ มีผลให้การเลิกสัญญาจ้าง ต้องบังคับตามมาตรา 17 วรรคสอง (ที่ใช้บังคับในขณะเลิกจ้าง) ที่จำเลยต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า และจำเลยจะจ่ายค่าจ้างตามจำนวนที่ต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาและให้โจทก์ออกจากงานทันทีก็ได้ตามมาตรา 17 วรรคสี่ (ที่ใช้บังคับในขณะเลิกจ้าง) กล่าวคือจำเลยออกประกาศลงวันที่ 21 เมษายน 2549 เลิกจ้างโจทก์โดยให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เมษายน 2549 อันเป็นกรณีจำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างเป็นหนังสือก่อนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างในวันที่ 10 พฤษภาคม 2549 ดังนั้นผลของการเลิกสัญญาตามมาตรา 17 วรรคสองจึงเป็นวันที่ 10 มิถุนายน 2549 และจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2549 จนถึงเวลาเลิกสัญญาคือวันที่ 10 มิถุนายน 2549 ตามมาตรา 17 วรรคสี่ แต่เนื่องจากโจทก์แถลงรับในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 ว่าได้รับค่าจ้างค้างจ่ายในระหว่างที่โจทก์ทำงานให้จำเลยในเดือนเมษายน 2549 แล้ว ซึ่งหมายความว่าจำเลยได้จ่ายค่าจ้างของการทำงานระหว่างวันที่ 10 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2549 ให้โจทก์แล้ว จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับจากวันที่ 1 พฤษภาคม 2549 ถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2549 รวมเป็นเวลา 1 เดือน 10 วัน เป็นเงิน 160,000 บาท เมื่อจำเลยไม่จ่ายจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง นับแต่วันฟ้องตามคำขอของโจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 160,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share