คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3482/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์ได้สิทธิภาระจำยอมโดยอายุความตามคำพิพากษาของศาล และจำเลยเป็นเจ้าของภารยทรัพย์ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนสิทธิภาระจำยอมที่โจทก์ได้มา จำเลยเพิกเฉย แม้จำเลยจะมิได้กระทำการป้องกันหรือขัดขวางมิให้โจทก์และบริวารใช้ทางพิพาทก็ตาม แต่การที่จำเลยไม่ดำเนินการไปจดทะเบียนสิทธิภาระจำยอมให้แก่โจทก์ตามกฎหมายก็ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ควรจะได้จดทะเบียนสิทธิภาระจำยอมดังกล่าว การที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิภาระจำยอม จึงเป็นการอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอมของโจทก์อย่างหนึ่งตาม ป.พ.พ.มาตรา 1391 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์จึงชอบที่จะเรียกให้จำเลยในฐานะเจ้าของภารยทรัพย์จดทะเบียนทางภาระจำยอมให้แก่โจทก์ ส่วนที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้บังคับจำเลยมิให้ป้องกัน ขัดขวางการใช้ทางพิพาทของโจทก์และบริวารเป็นเพียงคำขอบังคับล่วงหน้าเพื่อป้องกันมิให้จำเลยขัดขวางการใช้ทางพิพาทเท่านั้น จึงไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องมีการกระทำตามที่โจทก์ขอบังคับก่อน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
โจทก์ฟ้อง ส.เจ้าของภารยทรัพย์ที่จำเลยรับโอนต่อมาโดยจำเลยมิได้เป็นคู่ความในคดีนั้นก็ตาม แต่เมื่อศาลมีคำพิพากษาว่า โจทก์ได้สิทธิภาระจำยอมในทางพิพาทตาม ป.พ.พ.มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382จึงเป็นการที่โจทก์ได้สิทธิภาระจำยอมอันเป็นทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากทางนิติกรรม ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1299 วรรค 2 เป็นทรัพยสิทธิคนละประเภทกับกรรมสิทธิ์ที่เจ้าของกรรมสิทธิ์มีอำนาจในอสังหาริมทรัพย์ของตนเอง และเนื่องจากภาระจำยอมเป็นทรัพย์ที่กฎหมายบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์ มิได้มุ่งเพื่อประโยชน์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะภาระจำยอมจึงย่อมตกติดไปกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสามยทรัพย์และภารยทรัพย์แม้จะมีการโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไปให้แก่บุคคลอื่น ภาระจำยอมก็หาได้หมดสิ้นไป เว้นแต่กรณีจะต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายเท่านั้น ภาระจำยอมจึงจะระงับดังนั้น ไม่ว่าจำเลยจะรับโอนที่พิพาทมาโดยสุจริตหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่อาจจะยกขึ้นต่อสู้กับสิทธิภาระจำยอมของโจทก์ได้ คำพิพากษาศาลดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยด้วยในฐานะที่เป็นเจ้าของภารยทรัพย์

Share