คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1177/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สินค้าพิพาทต้องใช้คู่สายขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจึงจะใช้งานได้ จึงต้องจัดเข้าอยู่ในประเภทพิกัดที่ 8517.10เพราะพิกัดนี้เป็นพิกัดย่อยของพิกัดใหญ่ประเภทที่ 85.17ซึ่งระบุว่าได้แก่เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับโทรศัพท์หรือโทรเลขแบบใช้สาย เมื่อสินค้าพิพาทจัดอยู่ในประเภทพิกัดที่ 8517.10 อัตราภาษีร้อยละ 40 แต่จำเลยที่ 1 สำแดงและชำระภาษีอากรในประเภทพิกัดที่ 8525.20 อัตราภาษีร้อยละ 5จำเลยที่ 1 จึงชำระภาษีอากรไว้ไม่ถูกต้อง พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ย่อมมีอำนาจประเมินให้จำเลยที่ 1 ชำระเพิ่มเติมเสียให้ถูกต้องได้ มิพักต้องคำนึงว่าการประเมินผิดพลาดในชั้นแรกที่ตรวจปล่อยสินค้านั้นเป็นการกระทำโดยสุจริตของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือไม่ ทั้งมิใช่เป็นการบังคับใช้กฎหมายให้มีผลย้อนหลังเป็นโทษแก่จำเลย เนื่องจากหน้าที่เสียค่าภาษีของจำเลยเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่จำเลยนำของเข้ามาในราชอาณาจักรสำเร็จ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 639,396 บาทพร้อมเงินเพิ่มอากรขาเข้าร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากต้นเงินอากรขาเข้าจำนวน 354,545 บาท เป็นรายเดือนเงินเพิ่มภาษีการค้าอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากต้นเงินภาษีการค้าจำนวน 30,633 บาท เป็นรายเดือน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลในอัตราร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มภาษีการค้า
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีอากรขาเข้าเพิ่มเติมย้อนหลังจากจำเลยทั้งสอง ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลส่วนเพิ่มเป็นการเรียกเก็บเพิ่มขึ้นเพราะคำนวณมาจากอัตราส่วนเพิ่ม เมื่อสิทธิเรียกร้องในส่วนเพิ่มของโจทก์ที่ 1 ขัดต่อกฎหมายและขัดต่อความยุติธรรม โจทก์ที่ 2จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องโดยชอบ และสิ่งของที่จำเลยนำเข้าเป็นสิ่งของหรือสินค้า “เครื่องส่งที่มีเครื่องรับประกอบร่วมอยู่ด้วย” ทำงานโดยระบบสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าในอากาศมิได้เสียบสายเข้ากับขั้วสายโทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์เป็นสิ่งของประเภทพิกัด 8525.20 และเป็นความหมายของอัตราศุลกากรสากลที่มีระบุไว้ในเอกสาร E.N. (Explanatory Notes)มิใช่สิ่งของในความหมาย “เครื่องรับโทรศัพท์” ที่ต้องเสียบสายเข้ากับขั้วสายขององค์การโทรศัพท์ซึ่งจัดอยู่ในประเภทพิกัด8517.10 โจทก์ที่ 1 จัดประเภทสิ่งของเข้าพิกัดผิดพลาดบกพร่องขัดต่อกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินภาษีอากรจำนวน 639,396 บาท พร้อมเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากต้นเงินอากรขาเข้าจำนวน 354,545 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากต้นเงินภาษีการค้า 30,633 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้เงินเพิ่มในส่วนนี้ต้องไม่เกินจำนวนภาษีการค้าที่ต้องชำระ และชำระเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลในอัตราร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มภาษีการค้าแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเข้าสินค้าประเภทเครื่องโทรศัพท์ไร้สาย(Cordless Phone) จากประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2534จำนวน 200 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์โดยสำแดงประเภทพิกัดที่ 8525.20อัตราภาษีร้อยละ 5 หลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1ตรวจปล่อยสินค้าไปแล้ว โจทก์เห็นว่าของดังกล่าวจัดเข้าในประเภทพิกัดที่ 8517.10 อัตราภาษีร้อยละ 40 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า สินค้าดังกล่าวจัดอยู่ในประเภทพิกัดใดพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 กำหนดสินค้าตามประเภทพิกัดที่ 85.17 ว่า “เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับโทรศัพท์หรือโทรเลขแบบใช้สาย รวมถึงเครื่องอุปกรณ์ดังกล่าวสำหรับใช้กับระบบแคริเออร์เคอร์เรนต์ไลน์” และกำหนดสินค้าที่จัดอยู่ในประเภทพิกัดที่ 8517.10 ว่า “เครื่องรับโทรศัพท์” กำหนดสินค้าตามประเภทพิกัดที่ 85.25 ว่า “เครื่องส่งสำหรับวิทยุโทรศัพท์วิทยุโทรเลข วิทยุกระจายเสียงหรือโทรทัศน์จะมีเครื่องรับหรือเครื่องบันทึกเสียงหรือถอดเสียงประกอบร่วมอยู่ด้วยหรือไม่ก็ตามรวมทั้งกล้องถ่ายโทรทัศน์” และกำหนดสินค้าที่จัดอยู่ในประเภทพิกัดที่ 8525.20 ว่า “เครื่องส่งที่มีเครื่องรับประกอบร่วมอยู่ด้วย” ได้ความตรงกันจากคำเบิกความของนายเชิดชัย ดวงขาวพยานโจทก์และตัวจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นวิศวกรว่า สินค้าพิพาทต้องใช้คู่สายขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจึงจะใช้งานได้เพราะฉะนั้นสินค้าพิพาทจึงต้องจัดเข้าอยู่ในประเภทพิกัดที่ 8517.10เพราะพิกัดนี้เป็นพิกัดย่อยของพิกัดใหญ่ประเภทที่ 85.17ซึ่งระบุว่าได้แก่เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับโทรศัพท์หรือโทรเลขแบบใช้สาย เมื่อสินค้าพิพาทจัดอยู่ในประเภทพิกัดที่ 8517.10อัตราภาษีร้อยละ 40 แต่จำเลยที่ 1 สำแดงและชำระภาษีอากรในประเภทพิกัดที่ 8525.20 อัตราภาษีร้อยละ 5 จำเลยที่ 1จึงชำระภาษีอากรไว้ไม่ถูกต้อง พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1ย่อมมีอำนาจประเมินให้จำเลยที่ 1 ชำระเพิ่มเติมเสียให้ถูกต้องได้มิพักต้องคำนึงว่าการประเมินผิดพลาดในชั้นแรกที่ตรวจปล่อยสินค้านั้นเป็นการกระทำโดยสุจริตของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือไม่ทั้งมิใช่เป็นการบังคับใช้กฎหมายให้มีผลย้อนหลังเป็นโทษแก่จำเลยดังจำเลยกล่าวอ้างในคำอุทธรณ์ เนื่องจากหน้าที่เสียค่าภาษีของจำเลยเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่จำเลยนำของเข้ามาในราชอาณาจักรสำเร็จ ซึ่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคสองบัญญัติว่า “ถ้าค่าภาษีที่ได้เสียไว้ไม่ครบถ้วนตามจำนวนที่ต้องเสียจริง กรมศุลกากรมีสิทธิเรียกเก็บส่วนที่ขาดจนครบ”และตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 มาตรา 7บัญญัติว่า “การสำแดงรายการในใบขนสินค้าขาเข้า และใบขนสินค้าขาออกนั้น มิให้ถือว่าบริบูรณ์ นอกจากจะสำแดงประเภทของและเกณฑ์ปริมาณที่ต้องใช้ในการเก็บอากรให้ถูกต้องครบถ้วน ตามที่จำแนกและกำหนดไว้ในพิกัดอัตราท้ายพระราชกำหนดนี้” คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share