คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 296/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์เป็นบุตรของ ท.และจำต้องอุปการะเลี้ยงดูท.ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1563 แต่เมื่อ ท.ป่วยเป็นอัมพาตไม่สามารถที่จะช่วยตัวเองได้ โจทก์เป็นผู้ให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้ความช่วยเหลือ ท.ตลอดมาจนกระทั่ง ท. ถึงแก่กรรม ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้อุปการะตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการพ.ศ. 2494 มาตรา 4(2) ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยให้ชำระเงินบำเหน็จตกทอดโดยอาศัยสิทธิในฐานะผู้อุปการะท.มิได้อาศัยสิทธิในฐานะเป็นบุตรท. นั้นโจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตกทอด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายทองหล่อ รอดหมู่พาล กับนางน้ำมนต์ รอดหมู่พาล นายทองหล่อเคยเป็นลูกจ้างจำเลยและได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ)นายทองหล่อถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ไตวาย และอัมพาตขณะที่นายทองหล่อมีชีวิตและป่วยเป็นอัมพาต ตั้งแต่ปี 2522จนกระทั่งถึงแก่กรรม โจทก์แต่ผู้เดียวเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูและให้ความช่วยเหลือนายทองหล่อตลอดมา โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตกทอดเป็นจำนวน 30 เท่าของเงินสงเคราะห์รายเดือนที่นายทองหล่อได้รับจากจำเลย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 108,660 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นผู้อุปการะตามความหมายในมาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 และการที่โจทก์ดูแลบิดาของตนก็ไม่ทำให้โจทก์เป็นผู้อุปการะตามความหมายในมาตรา 8แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2499แต่อย่างใด โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตกทอด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตกทอดเป็นจำนวน 30 เท่า ของเงินสงเคราะห์รายเดือนสุดท้ายที่นายทองหล่อได้รับจำนวน 2,096.64 บาท พิพากษาให้จำเลยชำระเงินบำเหน็จตกทอดจำนวน 62,899.20 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าผู้อุปการะตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494มาตรา 4(2) ต้องเป็นบุคคลอื่น มิใช่เป็นบุตรของผู้รับเงินสงเคราะห์รายเดือน โจทก์เป็นบุตรของนายทองหล่อ ซึ่งเป็นผู้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูนายทองหล่อตามกฎหมายอยู่แล้วจึงไม่เป็นผู้อุปการะตามความหมายของพระราชบัญญัติดังกล่าวโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตกทอดนั้น เห็นว่า แม้โจทก์เป็นบุตรนายทองหล่อและจำต้องอุปการะเลี้ยงดูนายทองหล่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1563 แต่ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่า เมื่อนายทองหล่อป่วยเป็นอัมพาตไม่สามารถที่จะช่วยตัวเองได้ โจทก์เป็นผู้ให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้ความช่วยเหลือนายทองหล่อตลอดมาจนกระทั่งนายทองหล่อถึงแก่กรรมเช่นนี้ ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้อุปการะตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 4(2) ด้วยส่วนที่จำเลยอ้างว่า ขณะนายทองหล่อถึงแก่กรรม โจทก์ผู้เป็นบุตรมีอายุ 34 ปี แล้วจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตกทอดตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 49 นั้นเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยใช้ชำระเงินบำเหน็จตกทอดโดยอาศัยสิทธิในฐานะเป็นผู้อุปการะนายทองหล่อ มิได้อาศัยสิทธิในฐานะเป็นบุตรนายทองหล่อดังที่จำเลยอุทธรณ์ เมื่อโจทก์เป็นผู้อุปการะนายทองหล่อผู้ตาย โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตกทอดที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share