คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6855/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ห. เป็นเจ้าของที่ดินสองแปลง แปลงแรกมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี เว้นแต่ตกทอดทางมรดกตาม ป. ที่ดิน มาตรา 31 ห. ทำพินัยกรรมยกที่ดินแปลงแรกให้จำเลย 20 ไร่ ส่วนที่เหลือยกให้แก่ ถ. ภริยาของ ห. แปลงที่สองยกให้แก่จำเลย 4 ไร่ ส่วนที่เหลือยกให้แก่ ถ. การที่ ห. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้จำเลยตามจำนวนเนื้อที่ดินที่ตกลงซื้อขายซึ่งเป็นเจตนาอันแท้จริงของ ห. ผู้ทำพินัยกรรม พินัยกรรมของ ห. ในส่วนของที่ดินแปลงที่สองซึ่งไม่มีข้อกำหนดห้ามโอนจึงมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ จำเลยจึงมีสิทธิขอรับโอนที่ดินแปลงนี้ในฐานะผู้รับพินัยกรรมได้ ส่วนข้อกำหนดพินัยกรรมที่ ห. ยกที่ดินแปลงแรกให้แก่จำเลยนั้น ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 31 วรรคหนึ่ง กฎหมายมุ่งหมายที่จะให้ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินได้มีที่ดินไว้ทำกินตลอดไปถึงลูกหลานหรือทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกตามกฎหมาย และเพื่อป้องกันมิให้ผู้ได้มาโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินไปให้บุคคลอื่นได้โดยง่าย เมื่อมูลเหตุที่ ห. ทำพินัยกรรมสืบเนื่องมาจาก ห. ตกลงแบ่งขายที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลย เนื้อที่ 20 ไร่ และ 4 ไร่ ตามลำดับ โดยให้จำเลยปรับปรุงพื้นที่และสร้างอาคารเรียนเพื่อสร้างโรงเรียนได้ แต่ ห. ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยตามสัญญา เพราะที่ดินแปลงแรกมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 31 ทำให้จำเลยไม่อาจขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนได้ เพราะตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานแสดงการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือสัญญาเช่าที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งโรงเรียนมีกำหนดไม่น้อยกว่า 10 ปี ดังนั้น เจ้าหน้าที่ที่ดินจึงแนะนำให้ทำสัญญาเช่ากัน หากเกรงว่าจะเกิดปัญหาก็ให้ทำพินัยกรรมไว้ ประกอบกับขณะนั้น ห. ป่วยเป็นโรคมะเร็งในลำไส้ซึ่งอาจจะทำให้เสียชีวิตในระยะเวลาอันสั้น จำเลยเองก็ทราบว่า ห. เป็นโรคดังกล่าว ฉะนั้น การที่ ห. ทำพินัยกรรมยกที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยตามเนื้อที่ดินที่จะแบ่งขายให้แก่จำเลยโดยได้รับเงินค่าที่ดินจากจำเลยแล้ว ต่อมาจำเลยกับ ห. ไปทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวกันมีกำหนด 10 ปี โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นได้โดยชัดแจ้งว่า ห. และจำเลยจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตาม ป.ที่ดิน มาตรา 31 วรรคหนึ่ง โดย ห. ทำพินัยกรรมยกที่ดินแปลงแรกซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอน และที่ดินแปลงที่สองซึ่งไม่มีข้อกำหนดห้ามโอนให้แก่จำเลยตามจำนวนเนื้อที่ดินที่ตกลงจะซื้อขายกัน เพื่อให้ มีผลเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย เมื่อจำเลยร่วมรู้เห็นให้ ห. ทำพินัยกรรมเพื่อหวังผลได้กรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวมาเป็นหลักฐานประกอบการขอรับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียน อันแสดงถึงความไม่สุจริตของจำเลย จึงถือได้ว่าการยกที่ดินแปลงแรกให้แก่จำเลยตามพินัยกรรมมีวัตถุประสงค์เป็นการฝ่าฝืนบทกฎหมายดังกล่าว ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
ในชั้นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้แล้วว่า ห. ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้จำเลยหรือไม่ และพินัยกรรมมีผลบังคับได้เพียงใด ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงอยู่ในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว การที่ศาลจะยกบทกฎหมายเรื่องใดขึ้นปรับแก่คดี ย่อมเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณา ที่ศาลล่างทั้งสองยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงชอบแล้ว
คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกที่ดินคืนทั้งสองแปลงคืนจากจำเลย เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนของที่ดินแปลงแรกไม่เป็นผลเพราะตกเป็นโมฆะ จำเลยย่อมมิใช่เป็นทายาทโดยธรรมและผู้รับพินัยกรรมของ ห. ผู้ตาย จึงอ้างอายุความมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 และ 1755 มาเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมไม่ได้ ทั้งโจทก์ฟ้องว่าพินัยกรรมปลอม มิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งผู้ทำพินัยกรรมได้กระทำโดยสำคัญผิด ถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1708 และ 1709 จึงไม่อยู่ในบังคับของอายุความตามมาตรา 1710 ดังนั้น คดีของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ แต่คดีโจทก์สำหรับที่ดินแปลงที่สองนั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยมีสิทธิขอรับโอนที่ดินดังกล่าวในฐานะผู้รับพินัยกรรม โจทก์ซึ่งมิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมจึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกที่ดินดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคท้าย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินแปลงที่สองขาดอายุความหรือไม่อีก เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมของนายหอม ฉบับลงวันที่ 9 มีนาคม 2526 เป็นโมฆะ ให้เพิกถอนชื่อจำเลยจากการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 42263 และโฉนดเลขที่ 42264 ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า พินัยกรรมของนายหอม ฉบับลงวันที่ 9 มีนาคม 2526 ที่ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 42263 ตำบลกองโพธิ์ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา บางส่วนจำนวนเนื้อที่ 20 ไร่ ให้จำเลยเป็นโมฆะ ให้เพิกถอนการโอนมรดกตามพินัยกรรมและรายการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 42263 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2529 เสียทั้งสิ้น คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยฎีกาของโจทก์ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นบุตรนายหอมและนางถนอม นายหอมถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2526 โจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของนายหอมตามคำสั่งศาล เดิมนายหอมเป็นเจ้าของที่ดินตามเอกสารหมาย จ. 2 และ จ. 3 ที่ดินตามเอกสารหมาย จ. 2 มีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ 20 เมษายน 2522 จะพ้นกำหนดห้ามโอนวันที่ 20 เมษายน 2532 เว้นแต่ตกทอดทางมรดกตาม ป.ที่ดิน มาตรา 31 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2526 นายหอมได้ทำสัญญาให้จำเลยเช่าที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว มีกำหนดระยะเวลาเช่า 10 ปี โดยจดทะเบียนการเช่าตามกฎหมาย ต่อมาวันที่ 29 พฤษภาคม 2529 จำเลยและนางถนอมภริยานายหอมได้ทำพินัยกรรม ฉบับลงวันที่ 9 มีนาคม 2526 ซึ่งมีข้อกำหนดในพินัยกรรมว่า นายหอมยกที่ดินตามเอกสารหมาย จ. 2 ให้จำเลย 20 ไร่ ส่วนที่เหลือยกให้แก่นางถนอม และยกที่ดินตามเอกสารหมาย จ. 3 ให้จำเลย 4 ไร่ ส่วนที่เหลือยกให้แก่นางถนอม เจ้าพนักงานที่ดินได้จดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยและนางถนอมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน
ปัญหาตามฎีกาโจทก์มีว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ. 4 เป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายหอมได้ทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ. 4 ยกที่ดินตามฟ้องให้แก่จำเลยจริง พินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ. 4 จึงมิใช่เอกสารปลอมดังที่โจทก์ฟ้อง
ปัญหาตามฎีกาจำเลยมีว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ. 4 มีผลบังคับได้เพียงใด ข้อเท็จจริงฟังได้ดังวินิจฉัยมาแล้วว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ. 4 ไม่ใช่พินัยกรรมปลอม การที่นายหอมทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้จำเลยตามจำนวนเนื้อที่ดินที่ตกลงซื้อขายซึ่งเป็นเจตนาอันแท้จริงของนายหอมผู้ทำพินัยกรรม ดังนั้น พินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ. 4 ในส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 42264 ซึ่งไม่มีข้อกำหนดห้ามโอนจึงมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ จำเลยจึงมีสิทธิขอรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 42264 ในฐานะผู้รับพินัยกรรมได้ ส่วนข้อกำหนดพินัยกรรมที่นายหอมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 42263 ให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า ป.ที่ดิน มาตรา 31 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ได้ออกสืบเนื่องมาจากใบจองตามมาตรา 30 และมาตรา 33 ห้ามมิให้ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่น ในกรณีดังต่อไปนี้ (1) ถ้าเป็นกรณีที่ได้ออกใบจองในหรือหลังวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ห้ามโอนภายในสิบปีนับแต่วันได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์… ฯลฯ…
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ที่ดินนั้นตกทอดทางมรดก…
จึงเห็นได้ว่า กฎหมายมาตราดังกล่าวบัญญัติขึ้นก็โดยมุ่งหมายที่จะให้ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินได้มีที่ดินไว้ทำกินตลอดไปถึงลูกหลานหรือทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกตามกฎหมายและเพื่อป้องกันมิให้ผู้ได้มาโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินไปให้บุคคลอื่นได้โดยง่าย คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความจากคำให้การและทางนำสืบของจำเลยว่า มูลเหตุที่นายหอมทำพินัยกรรมเอกสารหมาย จ. 4 สืบเนื่องมาจากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2526 นายหอมตกลงแบ่งขายที่ดินโฉนดเลขที่ 42263 และ 42264 ให้แก่จำเลย เนื้อที่ 20 ไร่ และ 4 ไร่ ตามสัญญาเอกสารหมาย ล. 1 และ ล. 2 ตามลำดับ โดยให้จำเลยปรับปรุงพื้นที่และสร้างอาคารเรียนเพื่อสร้างโรงเรียนได้ แต่นายหอมไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยตามสัญญาเพราะที่ดินโฉนดเลขที่ 42263 ซึ่งออกเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2522 มีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 31 ทำให้จำเลยไม่อาจขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนได้ เพราะตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานแสดงการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือสัญญาเช่าที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งโรงเรียนมีกำหนดไม่น้อยกว่า 10 ปี ตามเอกสารหมาย ล. 8 แผ่นที่ 1 และที่ 2 ดังนั้น นางสาวแสงจันทร์เจ้าหน้าที่ที่ดินจึงแนะนำให้ทำสัญญาเช่ากัน หากเกรงว่าจะเกิดปัญหาก็ให้ทำพินัยกรรมไว้ ประกอบกับขณะนั้นนายหอมป่วยเป็นโรคมะเร็งในลำไส้ซึ่งอาจจะทำให้เสียชีวิตในระยะเวลาอันสั้น จำเลยเองก็ทราบว่านายหอมเป็นโรคดังกล่าว ฉะนั้น การที่เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2526 นายหอมทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 42263 และ 42264 ให้แก่จำเลยตามเนื้อที่ดินที่จะแบ่งขายให้แก่จำเลยโดยได้รับเงินค่าที่ดินจากจำเลยแล้วตามเอกสารหมาย จ. 4 ต่อมาวันที่ 11 มีนาคม 2526 จำเลยกับนายหอมไปทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวกันมีกำหนด 10 ปี โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ครั้นวันที่ 30 กรกฎาคม 2526 จำเลยได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงเรียนเทคโนโลยีเกษตรกรรมนครราชสีมา ตามเอกสารหมาย ล. 8 แผ่นที่ 3 ต่อมาวันที่ 9 พฤศจิกายน 2526 นายหอมก็ถึงแก่ความตาย พฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นได้โดยชัดแจ้งว่านายหอมและจำเลยจงใจหลีกเลี่ยงข้อกำหนดห้ามโอนตาม ป.ที่ดิน มาตรา 31 วรรคหนึ่ง โดยนายหอมทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 42263 ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอน และที่ดินโฉนดเลขที่ 42264 ซึ่งไม่มีข้อกำหนดห้ามโอนให้แก่จำเลยตามจำนวนเนื้อที่ดินที่ตกลงจะซื้อขายกัน เพื่อให้มีผลเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 42263 ภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย เมื่อจำเลยร่วมรู้เห็นให้นายหอมทำพินัยกรรมเพื่อหวังผลได้กรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวมาเป็นหลักฐานประกอบการขอรับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียน อันแสดงถึงความไม่สุจริตของจำเลย จึงถือได้ว่าการยกที่ดินโฉนดเลขที่ 42263 ให้แก่จำเลยตามพินัยกรรมมีวัตถุประสงค์เป็นการฝ่าฝืนบทกฎหมายดังกล่าว ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ว่า นายหอมทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 42263 ให้แก่จำเลย ถือว่าเป็นการตกทอดทางมรดก ไม่ต้องห้ามตาม ป.ที่ดิน มาตรา 31 วรรคสอง หรือไม่อีก ส่วนที่จำเลยฎีกาทำนองว่า ศาลล่างทั้งสองหยิบยกปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยโดยอ้างว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ในชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้แล้วว่า นายหอมทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้จำเลยหรือไม่ และพินัยกรรมมีผลบังคับได้เพียงใด ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงอยู่ในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว การที่ศาลจะยกบทกฎหมายเรื่องใดขึ้นปรับแก่คดี ย่อมเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณา ที่ศาลล่างทั้งสองยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงชอบแล้ว
ปัญหาตามฎีกาจำเลยประการสุดท้ายมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 42263 และ 42264 คืนจากจำเลย เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 42263 ไม่เป็นผลเพราะตกเป็นโมฆะ จำเลยย่อมมิใช่เป็นทายาทโดยธรรมและผู้รับพินัยกรรมของนายหอมผู้ตาย จึงอ้างอายุความมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 และ 1755 มาเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมไม่ได้ ทั้งโจทก์ฟ้องว่าพินัยกรรมปลอม มิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งผู้ทำพินัยกรรมได้กระทำโดยสำคัญผิด ถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1708 และ 1709 จึงไม่อยู่ในบังคับของอายุความตามมาตรา 1710 ดังนั้น คดีของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ แต่คดีโจทก์สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 42264 นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมีสิทธิขอรับโอนที่ดินดังกล่าวในฐานะผู้รับพินัยกรรมดังวินิจฉัยมาแล้ว โจทก์ซึ่งมิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมจึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกที่ดินดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคท้าย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 42264 ขาดอายุความหรือไม่อีก เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน.

Share