แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองตกลงเข้าหุ้นกันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์แบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1012 อันมีลักษณะเป็นหุ้นส่วน เมื่อโจทก์ทั้งสองเห็นว่าผลกำไรที่ได้รับจากจำเลยทั้งสองน้อยกว่าที่ควรจะเป็นทำให้โจทก์ทั้งสองขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดิน โจทก์ทั้งสองก็ชอบที่จะต้องจัดการขอให้มีการเลิกหุ้นส่วนเพื่อชำระบัญชีดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1055 ถึง 1063 ก่อน เมื่อการชำระบัญชีไม่ถูกต้องอย่างใด โจทก์ทั้งสองจึงจะมีสิทธิฟ้องคดีได้ การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยยังไม่มีการชำระบัญชีไม่อาจกระทำได้ และโจทก์ทั้งสองยังไม่มีสิทธิจะเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยทั้งสองไม่แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินได้เช่นกัน ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ชอบที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ มาตรา 246
คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์ทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพิ่ม เป็นคำสั่งที่เกี่ยวเนื่องกับคำสั่งรับหรือไม่รับฎีกา โจทก์ทั้งสองชอบที่จะคัดค้านต่อศาลฎีกาได้
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมจำเลยทั้งสองให้การกล่าวแก้อธิบายถึงเหตุขัดข้องไม่อาจแบ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้โจทก์ทั้งสอง ไม่ใช่กรณีที่จำเลยทั้งสองโต้แย้งกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองไปจัดการแบ่งแยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 1 หมู่ที่ 3 ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล คิดเป็นเนื้อที่ 40 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวา ให้แก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าขาดประโยชน์ 12,588,000 บาท พร้อมด้วยค่าขาดประโยชน์วันละ 3,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะแบ่งแยกที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่จัดการแบ่งแยกที่ดินให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองไปจัดการแบ่งแยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 1 หมู่ที่ 3 ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ให้แก่โจทก์ทั้งสองครึ่งหนึ่ง หากจำเลยทั้งสองไม่จัดการแบ่งแยกที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสอง ให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 3,168,000 บาท กับค่าขาดประโยชน์วันละ 1,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 มีนาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะแบ่งแยกที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองร่วมลงทุนซื้อที่ดินพิพาทกับจำเลยทั้งสอง และหลังจากนั้นยังร่วมกันพัฒนาที่ดิน ปลูกสร้างบ้านพักตากอากาศและร้านอาหารเพื่อแสวงหากำไร โดยโจทก์ทั้งสองยังได้รับแบ่งปันผลกำไรทุกปีรวมเป็นเงินประมาณ 600,000 บาท แล้ว พฤติการณ์ดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นชัดเจนว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองตกลงเข้าหุ้นกันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012 อันมีลักษณะเป็นหุ้นส่วน เมื่อโจทก์ทั้งสองเห็นว่าผลกำไรที่ได้รับจากจำเลยทั้งสองน้อยกว่าที่ควรจะเป็นทำให้โจทก์ทั้งสองขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดิน โจทก์ทั้งสองก็ชอบที่จะต้องจัดการขอให้มีการเลิกหุ้นส่วนเพื่อชำระบัญชีดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1055 ถึง 1063 ก่อน เมื่อการชำระบัญชีไม่ถูกต้องอย่างใด โจทก์ทั้งสองจึงจะมีสิทธิฟ้องคดีได้ การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยยังไม่มีการชำระบัญชีไม่อาจกระทำได้ และโจทก์ทั้งสองยังไม่มีสิทธิจะเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยทั้งสองไม่แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินได้เช่นกัน ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ชอบที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 ทั้งข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 นำมาวินิจฉัยนั้นก็ไม่ใช่ข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตามที่โจทก์ทั้งสองอ้างในฎีกาไม่ เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาอื่นของโจทก์ทั้งสองอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ทั้งสองยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาอีกฉบับหนึ่งว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์ทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพิ่มในส่วนคำขอให้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไม่ชอบนั้น เห็นว่า หลังจากโจทก์ทั้งสองยื่นฎีกาและเสียค่าขึ้นศาลเป็นเงิน 79,200 บาท จากทุนทรัพย์ส่วนคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มตามทุนทรัพย์ราคาที่ดินในส่วนคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองครึ่งหนึ่ง เมื่อโจทก์ทั้งสองชำระค่าขึ้นศาลส่วนดังกล่าวเพิ่มอีก 100,500 บาท แล้ว ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งรับฎีกาโจทก์ทั้งสอง คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์ทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพิ่มจึงเป็นคำสั่งที่เกี่ยวเนื่องกับคำสั่งรับหรือไม่รับฎีกา เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่เห็นด้วย ก็ชอบที่จะคัดค้านต่อศาลฎีกาได้ และเมื่อคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวม ซึ่งจำเลยทั้งสองให้การกล่าวแก้ว่าไม่อาจแบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ทั้งสอง เพราะเหตุได้เข้าไปพัฒนาที่ดินแสวงหากำไรเป็นกิจการของบริษัทเฟิร์สอันดามัน เทรเวล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด แล้ว จึงไม่ใช่กรณีจำเลยทั้งสองโต้แย้งกรรมสิทธิ์เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ที่ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาตามจำนวนทุนทรัพย์ราคาที่ดินไม่ถูกต้อง ต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสอง
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกินมา 100,500 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ