แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สิทธิการบอกเลิกสัญญาและวิธีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ป.พ.พ. กำหนดไว้โดยเฉพาะแล้ว โดยให้สิทธิแก่ผู้เช่าซื้อตามมาตรา 573 และให้สิทธิแก่ผู้ให้เช่าซื้อตามมาตรา 574 ไม่ใช่ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีตามมาตรา 4 กรณีจึงไม่อาจนำวิธีการบอกเลิกสัญญาเช่าในกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์ ตามมาตรา 560 มาใช้บังคับในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้
ตาม พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 เป็นการห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดในการกู้ยืมเงินเท่านั้น ไม่อาจจะนำมาใช้บังคับแก่การเช่าซื้อได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบเครื่องปรับอากาศที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน ๒๙,๙๑๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมาย กล่าวคือเมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระหนี้ค่าเช่าที่พึงส่งเป็นรายเดือนหรือระยะยาวกว่านั้น ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาอันควรแต่จะต้องไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๖๐ ประกอบมาตรา ๔ ดังนั้นการที่โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญากำหนดให้ผู้เช่าซื้อชำระหนี้ค่าเช่าที่ค้างภายใน ๓ วัน นับแต่วันรับหนังสือจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้สัญญาเช่าซื้อจะระบุว่าหากผู้เช่าผิดนัดผิดสัญญาไม่ว่าข้อใดถือว่าสัญญาเป็นอันยกเลิกทันทีก็ตาม แต่การที่โจทก์มอบให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้ แสดงว่าโจทก์สละข้อต่อสู้แห่งสัญญาในส่วนสาระสำคัญอันเป็นประโยชน์ต่อโจทก์แล้ว และโจทก์เข้ายึดถือสิทธิการบอกเลิกสัญญาที่มอบให้ทนายความดำเนินการ แต่เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในเรื่องการบอกเลิกสัญญาเช่า โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากค่าเช่าซื้อส่วนที่ค้างชำระ เพราะโจทก์ได้บวกดอกเบี้ยที่คิดไว้ล่วงหน้ารวมกับเงินลงทุน ค่าติดตามทวงถามและค่าอัตราเสี่ยงต่าง ๆ เป็นค่าเช่าซื้อไว้แล้ว การที่โจทก์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยอีกเป็นการเรียกดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย ต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยส่งมอบเครื่องปรับอากาศยี่ห้อยูนิแอร์ จำนวน ๑ เครื่อง ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน ๒๙,๙๑๐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกัน (ที่ถูกต้องควรเป็นจำเลย) ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๑,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายประการแรกตามที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การบอกเลิกสัญญาของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๖๐ ซึ่งนำมาใช้ในเรื่องเช่าซื้อด้วยระบุว่า หากจะบอกเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้ชำระค่าเช่าที่ค้างชำระเสียก่อน โดยต้องกำหนดเวลาอย่าให้น้อยกว่า ๑๕ วัน แต่โจทก์มีหนังสือทวงถามบอกกล่าวให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายใน ๓ วัน หากไม่ชำระขอถือเอาหนังสือดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า สิทธิการบอกเลิกสัญญาและ วิธีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดไว้โดยเฉพาะแล้ว โดยให้สิทธิแก่ผู้เช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๓ และให้สิทธิแก่ผู้ให้เช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๔ ไม่ใช่กรณีไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔ จึงไม่อาจนำวิธีการบอกเลิกสัญญาเช่าในกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๖๐ มาใช้บังคับในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้และตามสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับผู้เช่าซื้อมีข้อตกลงว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าสัญญาเลิกกันทันที ซึ่งเป็นการกำหนดเงื่อนไขการเลิกสัญญาเช่าซื้อแตกต่างจาก บทบัญญัติของกฎหมาย แต่ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงใช้บังคับได้ เมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์ใช้วิธีแสดงเจตนามีหนังสือทวงถามไปยังผู้เช่าซื้อให้ชำระหนี้ก่อน หากไม่ชำระภายในกำหนดให้ถือเอาหนังสือนั้นเป็นการบอกเลิกสัญญา แสดงว่าโจทก์สละสิทธิการเลิกสัญญาตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อ แต่โจทก์อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาในกรณีผู้เช่าซื้อไม่ชำระหนี้ โดยบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อชำระหนี้ภายในกำหนดระยะเวลาพอสมควรก่อน หากไม่ชำระหนี้จึงบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๗ ได้ เมื่อโจทก์มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ. ๓ ไปยังผู้เช่าซื้อให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระให้แก่โจทก์ภายใน ๓ วัน หากไม่ชำระขอถือเอาหนังสือดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ เห็นว่า ระยะเวลา ๓ วัน ที่โจทก์กำหนดให้ ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่จำนวน ๒๙,๙๑๐ บาทนั้น นับว่าเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว โจทก์ได้ปฏิบัติตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๗ แล้ว เมื่อผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนด การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟัง ไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปในปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๓๐ ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดรวมเอาไว้ในสัญญาเช่าซื้อและค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. ๒๔๗๕ ข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะ เห็นว่า แม้จำเลยจะมิได้ยกข้อต่อสู้ว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. ๒๔๗๕ ข้อตกลงเรียกดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นโมฆะมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น แต่ปัญหา ดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคสอง ได้ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้นเป็นการห้ามเรียกดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินเท่านั้น ไม่อาจจะนำมาใช้บังคับแก่การเช่าซื้อแต่อย่างใด ศาลชั้นต้นพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๖๐๐ บาท แทนโจทก์