คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 998/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เดิมทางพิพาทรวมอยู่ในที่ดินแปลงใหญ่ของ ก. แล้ว ก. แบ่งให้บุตรแยกครอบครองเป็นส่วนสัด บุคคลทั่วไปได้ใช้ทางพิพาทเดินออกสู่ทางสาธารณะเป็นเวลานานกว่า 10 ปีโดยไม่มีการหวงห้ามทางดังกล่าวจึงเป็นทางสาธารณะโดยปริยาย อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) โดยไม่จำต้องมีการจดทะเบียนยกให้เป็นทางสาธารณะต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
โจทก์เพียงแต่ขอให้บังคับจำเลยรื้อรั้วคอนกรีตที่รุกล้ำออกจากทางสาธารณะและทำให้ทางอยู่ในสภาพเดิมเท่านั้น ไม่ได้มีคำขอให้มีระยะถอยร่นจากแนวรั้วนั้น คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่พิพากษาว่าโดยให้มีระยะถอยร่นจากแนวรั้วดังกล่าวเป็นระยะ 75 เซนติเมตรให้เสมอกับแนวชายคาหน้าบ้านที่ปลูกอยู่ติดกับรั้วคอนกรีตของจำเลยจึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินบางส่วนตาม ส.ค.1เลขที่ 6 มาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว เดิมที่ดินดังกล่าวจะมีทางกว้างประมาณ4 เมตร ให้คนในหมู่บ้านรวมทั้งโจทก์และยานพาหนะสามารถผ่านเข้าออกได้ตลอดมาเป็นเวลากว่า 30 ปี จึงเป็นทางสาธารณะ จำเลยสร้างรั้วคอนกรีตสูง2 เมตร ยาว 10 เมตร รุกล้ำเข้ามาในทางดังกล่าวโดยมิชอบ ทำให้โจทก์เสียหายขอให้บังคับจำเลยรื้อรั้วคอนกรีตดังกล่าวออกจากทางสาธารณะ และทำให้ทางอยู่ในสภาพเดิม

จำเลยให้การว่า โจทก์เข้ามาอยู่อาศัยในที่ดิน ส.ค.1 ยังไม่ถึง 30 ปีผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ดินมีทางออกสู่ทางสาธารณะทางอื่นและไม่มีทางสาธารณะในที่ดิน ส.ค.1 ทางที่โจทก์ฟ้องไม่ใช่ทางสาธารณะ จำเลยสร้างรั้วคอนกรีตในที่ดินส่วนที่จำเลยครอบครอง โจทก์มีทางอื่นออกสู่ทางสาธารณะแล้วขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนรั้วคอนกรีตออกไปจากทางพิพาทโดยให้มีระยะถอยร่นจากแนวรั้วดังกล่าวเป็นระยะ 75 เซนติเมตร ให้เสมอกับแนวชายคาด้านหน้าบ้านนางจงกล ศรีทรง ที่ปลูกอยู่ติดกับรั้วคอนกรีตของจำเลย และให้ทำทางอยู่ในสภาพเดิม

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เดิมที่ดินตาม ส.ค.1เป็นของนายกรม เสนจันทร์ ต่อมานายกรมได้แบ่งที่ดินให้แก่บุตร 6 คนโดยแบ่งที่ดินออกเป็น 6 แปลง ต่างแยกครอบครองและปลูกบ้านเป็นส่วนสัดมีทางเข้าออกสู่ภายนอกโดยใช้เส้นทางพิพาทร่วมกัน ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกมีว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยหรือไม่ ข้อเท็จจริงโจทก์นำสืบโดยมีตัวโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า บ้านต่าง ๆ ใช้เส้นทางพิพาทออกสู่ภายนอกตั้งแต่โจทก์ยังเป็นเด็กอยู่ใช้มานานแล้วจึงเป็นทางสาธารณะ ซึ่งนอกจากคำพยานตัวโจทก์แล้ว โจทก์ยังมีนายจำลอง อุตเจริญ อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1(ท้องที่ที่ดินตั้งอยู่) นายสนั่น ยันอินทร์ ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน นายพี อ้วนศรีญาติของโจทก์และจำเลย ซึ่งเคยอยู่ในบริเวณที่พิพาทต่างเบิกความยืนยันว่าชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวใช้เส้นทางพิพาทสัญจรออกสู่ทางสาธารณะมานานกว่า 10 ปีแล้ว นายสูนจันทร์ เสน่ห์จันทร์ บุตรจำเลยเองก็เบิกความยอมรับว่ามีการใช้เส้นทางพิพาทสัญจรไปมา แต่อ้างว่ามีสภาพเป็นทางเดินธรรมดาไม่มีสภาพเป็นถนน นอกจากนี้ นายสูนจันทร์กับนางสาวสำรวยเกิดโพธิ์กะตัน พยานจำเลยอีกปากหนึ่งยังตอบคำถามค้านรับว่า นายสนั่นผู้ใหญ่บ้านรู้ดีว่ามีทางสาธารณะอยู่ในที่ดิน ส.ค.1 หรือไม่ เมื่อพิจารณาคำเบิกความของนายสนั่นที่ว่า ชาวบ้านที่อยู่ด้านในเข้าไปมีประมาณ6 หลังคาเรือน ต่างใช้เส้นทางพิพาทสัญจรไปมาเป็นเวลา 10 กว่าปีแล้วสภาพเป็นทางสาธารณะอยู่แล้ว ฉะนั้น จากเดิมที่ดินเป็นของนายกรมแล้วแบ่งให้บุตรแยกครอบครอง เป็นส่วนสัด บุคคลทั่วไปได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินออกสู่ทางสาธารณะเป็นเวลานานกว่า 10 ปีโดยไม่มีการหวงห้ามทางดังกล่าวจึงเป็นทางสาธารณะโดยปริยาย อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) โดยไม่จำต้องมีการจดทะเบียนยกให้เป็นทางสาธารณะต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยสร้างรั้วคอนกรีตรุกล้ำทางสาธารณะพิพาทหรือไม่ โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงโดยได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า ทางพิพาทเดิมกว้างประมาณ 4 เมตร รถยนต์สามารถผ่านเข้าออกได้เมื่อจำเลยสร้างรั้วคอนกรีตทำให้ทางพิพาทเหลือเพียง1.6 เมตร นายจำลอง อุตเจริญ เบิกความว่าเดิมทางพิพาทกว้างประมาณ3 เมตร นายสนั่นเบิกความว่าทางพิพาทกว้างประมาณ 3 เมตร จำเลยก่อสร้างรั้วคอนกรีตรุกล้ำเข้ามาในทางดังกล่าวเหลือความกว้างประมาณ1 เมตร เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์แล่นสวนกันไม่ได้ และนายสูนจันทร์บุตรจำเลยตอบคำถามค้านว่า จากด้านข้างของทางพิพาทก่อนมีการสร้างรั้วรุกล้ำนั้นอยู่ห่างจากชายคาบ้านจำเลยประมาณ 3 เมตร ฉะนั้นจากคำพยานโจทก์และจำเลยดังกล่าวประกอบภาพถ่าย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยสร้างรั้วคอนกรีตรุกล้ำทางสาธารณะพิพาท ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถนำรถยนต์ผ่านเข้าออกได้ จึงมีสิทธิขอให้จำเลยรื้อรั้วคอนกรีตออกจากทางสาธารณะพิพาทได้ ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้นแต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้มีระยะถอยร่นจากแนวรั้วนั้น โจทก์เพียงแต่ขอให้บังคับจำเลยรื้อรั้วคอนกรีตดังกล่าวที่รุกล้ำออกจากทางสาธารณะและทำให้ทางอยู่ในสภาพเดิมเท่านั้นไม่ได้มีคำขอในส่วนนี้คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่พิพากษาว่า โดยให้มีระยะถอยร่นจากแนวรั้วดังกล่าวเป็นระยะ 75 เซนติเมตร ให้เสมอกับแนวชายคาด้านหน้าบ้านนางจงกลศรีทรง ที่ปลูกอยู่ติดกับรั้วคอนกรีตของจำเลย จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรื้อถอนคอนกรีตออกจากทางสาธารณะพิพาทและทำให้ทางอยู่ในสภาพเดิม

Share