คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1153/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 27 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2551 มาตรา 7 มิได้กำหนดให้ผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการใช้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือการดำเนินการใดๆ โดยการใช้เงินที่ได้รับการอุดหนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การที่ผู้เสียหายจัดให้มีการประชุมราษฎรและคณะกรรมการหมู่บ้านและตรวจสอบกรณีสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดอนเจดีย์มีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมอุดหนุนกิจการเกษตรให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ หมู่ที่ 3 ตำบลดอนเจดีย์ โดยไม่ปรากฏว่ามีผู้ร้องเรียนต่อผู้เสียหายหรือมีราษฎรในหมู่บ้านของผู้เสียหายได้รับความเดือนร้อนจากมติของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดอนเจดีย์ดังกล่าว มิใช่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านในการดูแลทุกข์สุขของราษฎรในหมู่บ้านซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139 จำคุก 1 ปี และปรับ 2,000 บาท การกระทำของจำเลยไม่ถึงกับก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า ที่ประชุมสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดอนเจดีย์มีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมอุดหนุนกิจการการเกษตรให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ หมู่ที่ 3 ตำบลดอนเจดีย์ เป็นเงินจำนวน 300,000 บาท องค์การบริหารส่วนตำบลดอนเจดีย์โอนเงินจำนวน 300,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ หมู่ที่ 3 ตำบลดอนเจดีย์ นางวันทนา ผู้เสียหาย ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลดอนเจดีย์ ทราบเรื่องดังกล่าวจึงโทรศัพท์แจ้งให้นายบุญส่ง ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ หมู่ที่ 3 ตำบลดอนเจดีย์ นำสมุดบัญชีเงินฝากไปมอบให้ ครั้นถึงวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง ผู้เสียหายจัดให้มีการประชุมราษฎรและคณะกรรมการหมู่บ้านของตน โดยมีการประชุมเกี่ยวกับโครงการยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขและโครงการเอสเอ็มแอล หลังจากนั้นผู้เสียหายจึงชี้แจงเกี่ยวกับการตรวจสอบกรณีสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดอนเจดีย์มีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมอุดหนุนกิจการการเกษตรให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ หมู่ที่ 3 ตำบลดอนเจดีย์ แต่จำเลยซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ หมู่ที่ 3 ตำบลดอนเจดีย์ ได้กล่าววาจาห้ามผู้เสียหายดำเนินการประชุม นอกจากนี้ยังบอกให้นายบุญส่งไปเอาสมุดบัญชีเงินฝากคืนจากผู้เสียหายด้วย จนผู้เสียหายเลิกการประชุม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อแรกว่า การที่ผู้เสียหายจัดให้มีการประชุมราษฎรและคณะกรรมการหมู่บ้านและตรวจสอบกรณีสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดอนเจดีย์มีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมอุดหนุนกิจการการเกษตรให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ หมู่ที่ 3 ตำบลดอนเจดีย์ ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 มาตรา 27 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2551 มาตรา 7 จะกำหนดให้ผู้ใหญ่บ้านทำหน้าที่ช่วยเหลือนายอำเภอในการปฏิบัติหน้าที่และเป็นหัวหน้าราษฎรในหมู่บ้านของตน และให้มีอำนาจหน้าที่อื่นอีกหลายประการ รวมทั้งการจัดให้มีการประชุมราษฎรและคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้งก็ตาม แต่บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมิได้กำหนดให้ผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการใช้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือการดำเนินกิจกรรมใดๆ โดยการใช้เงินที่ได้รับการอุดหนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้น การที่ผู้เสียหายจัดให้มีการประชุมราษฎรและคณะกรรมการหมู่บ้านและตรวจสอบกรณีสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดอนเจดีย์มีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมอุดหนุนกิจการการเกษตรให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ หมู่ที่ 3 ตำบลดอนเจดีย์ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อกระทำการนอกอำนาจหน้าที่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายกำลังจัดให้มีการประชุมราษฎรและคณะกรรมการหมู่บ้านโดยกำลังรับฟังและตรวจสอบการทำงานของกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ หมู่ที่ 3 ตำบลดอนเจดีย์ ตามที่มีผู้ร้องเรียนอันเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านในการดูแลทุกข์สุขของราษฎรในหมู่บ้านตามกฎหมายนั้น เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีผู้ร้องเรียนต่อผู้เสียหายหรือมีราษฎรในหมู่บ้านของผู้เสียหายได้รับความเดือดร้อนจากกรณีสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดอนเจดีย์มีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมอุดหนุนกิจการการเกษตรให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ หมู่ที่ 3 ตำบลดอนเจดีย์ แต่คดีกลับได้ความจากพยานโจทก์ปากนางสุณี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลดอนเจดีย์ เลขานุการผู้ทำรายงานการประชุมครั้งเกิดเหตุ เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ภายหลังเกิดเหตุสามีผู้เสียหายสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดอนเจดีย์ และเหตุที่ผู้เสียหายต้องการตรวจสอบกรณีสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดอนเจดีย์มีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมอุดหนุนกิจการการเกษตรให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ หมู่ที่ 3 ตำบลดอนเจดีย์ ก็เพราะเกรงว่าสามีจะเสียเปรียบในการเลือกตั้ง อีกทั้งคดียังได้ความจากพยานโจทก์ปากนายกรุย และนายสันติ ราษฎรผู้เข้าร่วมประชุมครั้งเกิดเหตุ เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านตรงกันว่า ผู้เสียหายกล่าวหาสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดอนเจดีย์ชุดที่มีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมอุดหนุนกิจการการเกษตรให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ หมู่ที่ 3 ตำบลดอนเจดีย์ กลางที่ประชุมว่ามีเจตนาโอนเงินให้พวกพ้องทุจริตโกงกินกัน นางสุณี นายกรุย และนายสันติ ล้วนเป็นคนกลาง จึงไม่มีเหตุอันควรระแวงสงสัยว่าจะเบิกความบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อช่วยเหลือจำเลย คำเบิกความของพยานทั้งสามตามที่กล่าวมานั้นมีน้ำหนักบ่งชี้ว่าผู้เสียหายจัดให้มีการประชุมราษฎรและคณะกรรมการหมู่บ้านของตนในวาระการตรวจสอบกรณีสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดอนเจดีย์มีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมอุดหนุนกิจการการเกษตรให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ หมู่ที่ 3 ตำบลดอนเจดีย์ โดยหวังจะใช้โอกาสดังกล่าวกล่าวหาสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดอนเจดีย์ชุดดังกล่าวกลางที่ประชุมว่ามีเจตนาโอนเงินให้พวกพ้องทุจริตโกงกินกันเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือ เพราะเกรงว่าสามีผู้เสียหายซึ่งกำลังจะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดอนเจดีย์จะเสียเปรียบในการเลือกตั้ง มิใช่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านในการดูแลทุกข์สุขของราษฎรในหมู่บ้านซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายดั่งที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัย ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ดังกล่าว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น กรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยข้ออื่นๆ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share