คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9829/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำที่เป็นการพรากเด็กไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ตาม ป.อ. มาตรา 317 นั้น ไม่ถึงขนาดต้องควบคุมตัวเด็กนั้นไว้ เพระการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก คำว่า “พราก” มีความหมายว่า จากไปหรือแยกออกจากกัน สาระสำคัญจึงอยู่ที่การพาไปหรือการแยกเด็กไปนั้น ได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวให้ไปกับบุคคลที่พาไปหรือไม่ หรือมิฉะนั้นบุคคลที่พาเด็กนั้นไปจะต้องมีเหตุอันสมควร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 317
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาวสิริพร ผู้เสียหายที่ 1 โดยนางมนต์ ผู้แทนโดยชอบธรรม ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยไม่ให้การในส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก (ที่ถูก มาตรา 277 วรรคแรก (เดิม), 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 4 กระทง จำคุก 20 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 4 กระทง จำคุก 16 ปี รวมจำคุก 36 ปี กับให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องเป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดวันที่ 14 มีนาคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก (เดิม), 279 วรรคแรก, 317 วรรคสาม ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 2 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 3 กระทง จำคุก 12 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 34 ปี และในส่วนแพ่ง ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 3 กรกฎาคม 2551)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารกับฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำเมื่อวันที่ 14 และ 16 ธันวาคม 2550 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่ฎีกา ความผิดทั้งสองข้อหาดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปข่มขืนกระทำชำเราในระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน 2550 รวม 3 ครั้ง ซึ่งในขณะนั้นผู้เสียหายที่ 1 มีอายุ 13 ปีเศษ ไม่ว่าผู้เสียหายที่ 1 จะยินยอมให้จำเลยกระทำชำเราหรือไม่ ก็เป็นความผิดแล้ว ส่วนการกระทำของจำเลยในครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2550 นั้น จำเลยเพียงแต่ใช้นิ้วแหย่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 จึงเป็นการกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 1 เท่านั้น และขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 อยู่ในความดูแลของนางไข ยายของผู้เสียหายที่ 1 การที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่บริเวณฝายในครั้งแรกแล้วกระทำอนาจาร และข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ในครั้งต่อมาโดยพาไปที่กระท่อมบริเวณทุ่งนา และบริเวณลำห้วย การกระทำของจำเลยทั้งสามครั้งจึงเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร แต่การกระทำของจำเลยในวันที่ 14 มิถุนายน 2550 ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่า หลังจากที่ออกไปจับกบกับจำเลยและ นางสมพานแล้วได้เดินกลับมาที่บ้านของจำเลย ขณะที่อยู่ที่หลังบ้านจำเลยเดินมาทางด้านหลังใช้มือโอบและผลักผู้เสียหายที่ 1 ให้นอนลง จากนั้นผู้เสียหายที่ 1 ถูกจำเลยกระทำชำเรา โดยจำเลยไม่ได้พาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่ใด จากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ได้ความว่า นางสมพานจะเป็นผู้ชวนผู้เสียหายที่ 1 ออกไปจับกบ การกระทำของจำเลยในครั้งนี้เป็นเพียงการฉวยโอกาสข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ในขณะผู้เสียหายที่ 1 อยู่บริเวณหลังบ้านของจำเลย จึงไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารด้วย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการต่อมาซึ่งเป็นข้อกฎหมายว่า การกระทำอันเป็นการพรากเด็กนั้น ผู้กระทำต้องมีเจตนาที่จะไม่ให้เด็กนั้นมีอิสระในการเคลื่อนไหวด้วยหรือไม่ เห็นว่า การกระทำที่เป็นการพรากเด็กไปเสียจากบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 นั้น ไม่ถึงขนาดต้องควบคุมเด็กนั้นไว้ เพราะการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก คำว่า “พราก” ตามพจนานุกรมมีความหมายว่า จากไปหรือแยกออกจากกัน ดังนั้น สาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่าการพาไปหรือแยกเด็กไปนั้นได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวให้ไปกับบุคคลที่พาไปหรือไม่ หรือมิฉะนั้นบุคคลที่พาเด็กนั้นไปจะต้องมีเหตุอันสมควร โดยบทกฎหมายดังกล่าวประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่ละเมิดอำนาจปกครองดูแลเด็กของบุคคลดังกล่าว อันเป็นการคุ้มครองเด็กมิให้ถูกล่อลวงไปในทางเสียหาย คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยยกขึ้นอ้างมีข้อเท็จจริงต่างจากคดีนี้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการต่อมาว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยในสถานเบาหรือไม่ เห็นว่า ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานพรากเด็กและฐานข่มขืนกระทำชำเราในอัตราขั้นต่ำแล้ว ส่วนโทษจำคุกในความผิดฐานกระทำอนาจารที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงแก่จำเลยนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการสุดท้ายว่า ค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยต้องชดใช้แก่ผู้เสียหายที่ 1 มีเพียงใด เห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดค่าสินไหมทดแทนโดยคำนึงถึงความเสียหายที่ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับจากการกระทำของจำเลย และให้คิดดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องตามคำร้องของผู้เสียหายที่ 1 นั้น เหมาะสมและถูกต้องแล้วที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล กระทงละ 5 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 15 ปี รวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 แล้วจำคุก 29 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share